ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียซึ่งเป็นหนึ่งในค่าเงินเอเชียที่มีความเคลื่อนไหวดีที่สุดในช่วงเริ่มต้นปี 2562 กำลังมีมูลค่าร่วงลงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน และแรงกดดันดังกล่าวไม่มีสัญญาณว่าจะผ่อนคลายลงในเร็ว ๆ นี้ เพิ่มความเสี่ยงกระแสเงินทุนไหลออก
เงินริงกิตอ่อนค่าลงกว่า 1.5% เทียบกับเงินดอลลาร์ในเดือนที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าเงินมาเลเซียลดลงไปแล้วราว 0.3% เทียบกับดอลลาร์ในปีนี้ ส่งผลให้สถานการณ์ของริงกิตและและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจของมาเลเซียยิ่งเลวร้ายลง
“เงินริงกิตประสบความยากลำบากอีกครั้ง ซึ่งเป็นผลจากกระแสเงินทุนไหลออก” สตีเฟน อินเนส หัวหน้าฝ่ายซื้อขายบริษัทเอสพีไอ แอสเซ็ท แมเนจเมนท์ กล่าว และบอกว่า มาเลเซียกำลังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง หลังกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินอร์เวย์ตัดสินใจลดหนี้ในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงหลักทรัพย์มาเลเซียออกจากดัชนีของตน
นอกจากนั้น เอฟทีเอสอี รัสเซลล์ ผู้ให้บริการดัชนีตลาดหุ้นและบริการข้อมูลที่เกี่ยวข้องของตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนในอังกฤษ เผยในสัปดาห์นี้ว่า จะถอนพันธบัตรมาเลเซียออกจากดัชนีพันธบัตรรัฐบาลโลก เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องในตลาด ทำให้สกุลเงินและพันธบัตรมาเลเซียไร้เสถียรภาพ
วินสัน พูน หัวหน้าฝ่ายวิจัยตราสารหนี้ของบริษัทเมย์แบงก์ กิมเอ็ง ซีเคียวริตีส์ เผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ความเสี่ยงในการตัดพันธบัตรมาเลเซียออกจากดัชนีหลักดูเหมือนว่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เว้นแต่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน เพื่อปรับปรุงระดับการเข้าถึงตลาดของมาเลเซีย
บริษัทบาร์เคลย์ส คาดการณ์ว่า หากเอฟทีเอสอี รัสเซลล์ทำตามที่ประกาศไว้ บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจแห่ขายสินทรัพย์รัฐบาลมาเลเซียที่ตนถือครองมากถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่เมย์แบงก์ กิมเอ็ง คาดว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดเงินทุนไหลออกจากกองทุนเชิงรับราว 4,000 ล้านดอลลาร์ และจากกองทุนเชิงรุกอีก 2,000-4,000 ล้านดอลลาร์
มอร์แกน สแตนลีย์ ชี้ว่า ท่าทีดังกล่าวของตลาดทุนชั้นนำของโลก ยิ่งทำให้เกิดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นของมาเลเซีย เพราะขณะนี้ดัชนีหุ้นมาเลเซียมีผลงานต่ำกว่ามาตรฐานตลาดหุ้นทั่วโลกในปีนี้ หากมาเลเซียหลุดจากดัชนีเอฟทีเอสอี มูลค่าการถอนตัวจากพันธบัตรอาจสูง 8,000 ล้านดอลลาร์
กระแสความคาดหวังในแง่บวกเกี่ยวกับหุ้นของมาเลเซียได้จางหายไป หลังจากผ่านไปเกือบหนึ่งปีนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัดชนะการเลือกตั้งในเดือนพ.ค. ปีที่แล้ว สาเหตุที่กระแสบวกหายกลายเป็นกระแสลบ ก็เพราะรัฐบาลชุดใหม่ยังไม่สามารถจัดกับกับปัญหาหนี้สินที่รัฐบาลก่อนได้ก่อขึ้น
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ เผยว่า นักลงทุนต่างชาติลดการถือพันธบัตรรัฐบาลมาเลเซียลงตั้งแต่ปลายปี 2559 และเมื่อเดือนมี.ค. มูลค่าการลงทุนในพันธบัตรมาเลเซียอยู่ที่ประมาณ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม บาร์เคลย์ส ยังคงคาดการณ์ว่า เงินริงกิตจะอยู่ที่ระดับ 4.12 ริงกิตต่อดอลลาร์ในช่วงสิ้นปีนี้ แต่เตือนว่าริงกิตอาจมีการอ่อนค่าลงเล็กน้อยจนถึงสิ้นปี
คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นในช่วงที่บรรดานักลงทุนต่างชาติแห่ทิ้งสินทรัพย์ในมาเลเซียกว่า 2,000 ล้านริงกิต หรือกว่า 481 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของหุ้นมาเลเซียทั้งหมด
“การเทขายสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องอาจมีไปจนกว่าจะประกาศงบประมาณรัฐบาลกลางในไตรมาส 4” เฟือ ลี พาร์ค หัวหน้านักกลยุทธ์ของบริษัทฟิลิป มูชวล กล่าว และว่า “อย่างไรก็ดีการเทขายจะเป็นไปอย่างทีละน้อย”
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เพิ่มเติม
- Malaysian ringgit is Asia's worst performer in April :https://www.straitstimes.com/…/malaysian-ringgit-is-asias-w…