federal

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับเดิมคือระหว่าง 2.25-2.5%

โดยให้เหตุผลว่าไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ เพราะอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 1.6% ต่ำกว่าเงินเฟ้อเป้าหมายของเฟดที่ 2% ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจยังเติบโตแข็งแกร่ง อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่วนการว่างงานยังคงต่ำ อยู่ที่ 3.8% ต่ำสุดในรอบ 50 ปี

อย่างไรก็ตาม มติของเฟดไม่เป็นไปตาม ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คาดหวัง โดยก่อนหน้านี้ 1 วัน ทรัมป์ได้เรียกร้อง ให้เฟดลดดอกเบี้ยลง 1% และเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มขึ้น อ้างว่าไม่มีแรงกดดัน เงินเฟ้อที่จะต้องห่วง พร้อมกับตัดพ้อว่าหากเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยและใช้นโยบาย การเงินตึงตัว เศรษฐกิจจะพุ่งเหมือนจรวด

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ระบุว่า นโยบายปัจจุบันของเฟดเหมาะสม แล้ว เพราะยังไม่มีปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ เฟดเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ถ้อยแถลงของประธานเฟดเท่ากับส่งสัญญาณว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่เดิมเป็นระยะเวลานานพอสมควร ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ปรับลง 162 จุด เนื่องจากก่อนหน้านี้นักลงทุนเก็งว่ามีโอกาสถึง 67% ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยภายในสิ้นปี

ไมเคิล ชูมาเคอร์ ผู้อำนวยการของเวลส์ ฟาร์โก ชี้ว่า ปฏิกิริยาตอบสนองของตลาดหุ้นเกิดจากคำกล่าวของประธานเฟดที่จะไม่เคลื่อนไหวไปในทิศทางใดเป็นการเฉพาะ แม้จะเห็นว่าเศรษฐกิจโลกกระเตื้องขึ้นเพราะปัจจัยเสี่ยงน้อยลงทั้งจากปัญหาเบร็กซิตและการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ล่าสุดน่าจะมีข่าวดี เฟดบอกว่าจะนั่งอยู่ตรงกลาง ไม่เคลื่อนไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่ตลาดไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้นจริง

ไมเคิล แกพเพน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บาร์เคลย์ ระบุว่า ความกลัวของเฟดเรื่องเงินเฟ้อต่ำเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังเห็นได้ จากคำพูดของประธานเฟดก่อนหน้านี้ ที่ว่าเงินเฟ้อเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ในยุคสมัยของเรา ทำให้เกิดการคาดหมายว่า หากเงินเฟ้อยังต่ำต่อไปอีกอาจทำให้เฟด ต้องลดดอกเบี้ยลงทั้งที่เศรษฐกิจขยายตัว แต่น่าสังเกตว่าครั้งนี้เฟดระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อต่ำเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว

มติของเฟดในการตรึงดอกเบี้ยไว้ที่เดิม ถูกมองว่าเป็นการดื้อแพ่งต่อคำร้องขอของทรัมป์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความพยายามที่จะไม่ทำให้ทรัมป์โกรธ และไม่ทำให้ตลาดปั่นป่วน ท่าทีของเฟดจึงต้องอยู่ตรงกลาง กล่าวคือไม่ผ่อนคลายเกินไปหรือตึงเกินไปเหตุผลที่ไม่ผ่อนคลายเกินไปเนื่องจากตลาดหุ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ขณะเดียวกันการที่เงินดอลลาร์แข็ง เงินเฟ้อต่ำ ก็ทำให้เฟดไม่สามารถใช้นโยบายการเงินตึงตัวได้เช่นกัน

สำหรับคำร้องขอของทรัมป์ทั้งเรื่องที่ให้เฟดลดดอกเบี้ยและกลับไปใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ได้รับเสียงไม่เห็นด้วยจากนักลงทุนและนักวิเคราะห์ เช่น จอน ฮิลล์ นักกลยุทธ์ของบีเอ็มโอ ที่ชี้ว่าการเรียกร้อง ให้เฟดหั่นดอกเบี้ย 1% และใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายจะสร้างวิกฤตการเงินครั้งใหญ่มากกว่าจะช่วยรักษาสถานะเศรษฐกิจเดิมที่เป็นอยู่ เช่นเดียวกับ ปีเตอร์ บุกวาร์ หัวหน้านักลงทุนของ บลีคลีย์ แอดไวซอรี กรุ๊ป ซึ่งเตือนว่า ทรัมป์ควรระมัดระวังหากเรื่องนั้นเกี่ยวกับ นโยบายของเฟด ถ้าหากว่าการลดดอกเบี้ยต่ำมาก แม้แต่ต่ำกว่าศูนย์เปอร์เซ็นต์ และใช้มาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณ (คิวอี) มาก ๆ แล้วสามารถสร้างมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจได้ ป่านนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นและชาติยุโรปคงบูมไปแล้ว ไม่ใช่แทบจะหยุดนิ่งอย่างในขณะนี้

"เคธี เหลียน" กรรมการผู้จัดการ บีเค แอสเซต แมเนจเมนต์ ชี้ว่า ในส่วนของ ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งแกร่งต่อเนื่อง จาก เหตุผลใหญ่ 2 ประการ 1.ประธานเฟด พูดชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังเติบโตได้อีก 2.ไม่เห็นเหตุผลที่จะลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นมุมมองที่สวนทางกับธนาคารกลางอื่น ๆ ทั่วโลกที่แสดงออกถึงความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจและพูดถึง ความเป็นไปได้ที่จะออกมาตรการรับมือแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก: นงนุช สิงหเดชะ

Source: ประชาชาติธุรกิจ

0 Share