ปัจจุบันผลไม้ส่งออกของไทยกำลังประสบปัญหาเรื่องราคาตก โดยเฉพาะในช่วงฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากเกินความต้องการของ ผู้บริโภค เกษตรกรส่วนใหญ่มักหันหน้าไปพึ่งตลาดจีนแต่ยังถูกล้งกดราคาจนต้องส่งผลผลิตในราคาถูกกว่าต้นทุน
โดยเฉพาะ "มะพร้าวน้ำหอม" อีกหนึ่งผลผลิตที่มักจะล้นตลาดจนราคาตกในฤดูออกผลและราคาพุ่งสูงเมื่อหมดฤดู ซึ่งผู้คนเริ่มหันมาปลูกเพิ่มมากขึ้นในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดราชบุรีแหล่งผลิตมะพร้าวน้ำหอมที่สำคัญของประเทศไทย แต่จะสามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพเพื่อส่งออกแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้หรือไม่
"ประยูร วิสุทธิไพศาล" ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผลไม้ปลอดภัยสารพิษเพื่อส่งออก จ.ราชบุรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตนเป็นเกษตรกรที่เคยปลูกผลไม้หลายตัว ไม่ว่าจะเป็นฝรั่ง ชมพู่ แก้วมังกร ลำไย มะม่วง จนประสบปัญหาขาดทุน เพราะใช้ปุ๋ยใช้สารเคมีที่เป็นยาฆ่าแมลงมาก พอปรับเปลี่ยนและพัฒนาขึ้น สามารถส่งออก "ชมพู่" ไปยังประเทศจีนได้ราคาดี เกษตรกรรายอื่นเริ่มหันมาปลูกบ้างจนประสบปัญหามีแมลงวันทองติดไปด้วย จีนจึงมีมาตรการเด็ดขาดห้ามนำเข้า ชมพู่จึงราคาตก ระบายผลผลิตไม่ได้ ต่อมาจึงหันมาปลูกพืชหลายอย่างจนกระทั่งมาเป็น "มะพร้าวน้ำหอม" และได้เริ่มทำตลาดด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งตลาดจีนเพียงอย่างเดียว โดยการรวบรวมสมาชิกเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผลไม้ปลอดภัยสารพิษเพื่อส่งออก ทำเกษตรออร์แกนิกที่ได้มาตรฐาน USDA จนไปถึงมาตรฐาน EU สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมไปถึงได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว
เมื่อสามารถส่งออกมะพร้าวได้ราคาดีและเป็นที่ยอมรับ สมาชิกของกลุ่มที่เคยปลูกชมพู่ ฝรั่ง มะม่วง ก็เปลี่ยนมาปลูกมะพร้าวเพิ่มขึ้น และสมาชิกทุกคนจะต้องได้รับความรู้ในการผลิตเพื่อให้เป็นมะพร้าวออร์แกนิก สามารถรักษาคุณภาพและควบคุมการออกผลได้ในทุกช่วงของฤดูกาล ในปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 60 ราย กระจายอยู่ในจังหวัดราชบุรี สามารถปลูกมะพร้าวได้ทั้ง 7 อำเภอ ได้แก่ อ.โพธาราม อ.เมือง อ.ปากท่อ อ.วัดเพลง อ.ดำเนินสะดวก อ.บางแพ และ อ.บ้านโป่ง คาดว่าในอีก 3 ปีจะมีมากขึ้นถึง 100 ราย รวมพื้นที่ปลูกทั้งหมดของสมาชิกประมาณ 3,000 ไร่ จำนวนต้นที่ปลูกคือ 40 ต้น/ไร่ จาก 1 ต้นให้ผลผลิต150-200 ลูก/ปี สร้างรายได้ เฉลี่ย 5 หมื่นบาท/ไร่
"มะพร้าวจะมีราคาแพงในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน เป็นช่วงที่อากาศร้อนจัดและไม่มีผลผลิตในตลาด แต่กลุ่มเรามีความโดดเด่นสามารถสร้างผลผลิตบุกตลาดได้ ต่างประเทศยอมรับ แม้ราคาจะต่างกันกับราคามะพร้าวที่ปลูกปกติเพียงเล็กน้อย 1-2 บาทต่อลูก แต่ในตลาดจะเลือกผลผลิตจากเรา โดยมีตลาดส่งออกหลักคือสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สเปน เยอรมนี อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก อิสราเอล อินโดนีเซีย จีน สิงคโปร์ ตามลำดับ
แม้ตลาดจีนหลายคนมักจะบอกว่าดี แต่จีนทำให้ตลาดผลไม้บ้านเราตาย นอกจากชมพู่ก็มาลำไย มะพร้าวก็เช่นเดียวกัน พอถึงช่วงเทศกาลจีนก็แห่ซื้อ ปั่นกระแสให้ดัง ให้เกษตรกรฮือฮาปลูกกันเยอะ หลังจากนั้นก็มากดราคารับซื้อ เป็นตลาดที่ไม่ยั่งยืน เราต้องมีตลาดหลายทางไว้รองรับ"
ทั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผลไม้ปลอดภัยสารพิษเพื่อส่งออก จ.ราชบุรี จะส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 80-90% คู่ค้า 10 กว่าประเทศ มีบริษัทรับซื้อ 10 กว่าบริษัท ส่วนอีก 10% จะเป็นตลาดขายปลีกภายในประเทศ แม้ว่าการส่งออกไปยังต่างประเทศจะมีปัญหาการได้เงินล่าช้ามากกว่าการขายภายในประเทศ แต่คู่แข่งและการตัดราคาหรือต่อรองราคาซื้อขายง่ายกว่าในประเทศที่มีข้อกำหนดหลายขั้นตอน ถือเป็นการผลักดันเกษตรกรให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายของการทำเกษตรออร์แกนิก อย่างแท้จริง
ขณะเดียวกัน "พินิจ เจริญเร็ว"เกษตรจังหวัดราชบุรี ให้ข้อมูลว่า มะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชที่มีชื่อเสียงของจังหวัดราชบุรีซึ่งปลูกมากที่สุดในประเทศไทยและดีที่สุดในโลก แม้จะมีคู่แข่งในตลาดแต่ยังเทียบคุณภาพกับประเทศไทยไม่ได้ มีข้อมูลตัวเลขพื้นที่ปลูกประมาณ 7 หมื่นกว่าไร่ แต่หากรวมทั้งจังหวัดคาดว่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนไร่ และจากข้อมูลในเดือนตุลาคม 2561 มีผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 341 ล้านตัน และยังคงส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุด โดยเฉพาะแหล่งปลูกที่ดำเนินสะดวกสร้างรายได้ต่อปี 5-6 หมื่นบาท/ไร่/ปี
"ตอนนี้เรามีปัญหาเรื่องแรงงาน และยังต้องใช้แรงงานคนเมียนมา ค่าแรงงานเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 700-800 บาท/คน/วัน ส่วนเรื่องราคาเมื่อถึงปลายเดือนมีนาคม เดือนเมษายน ราคาจะขยับสูงขึ้น เพราะผลผลิตจะขาดตลาด บางช่วงเคยสูงถึงลูกละ 30 บาท และถ้ามีเครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ราคาจะสูงกว่าปกติ เมื่อผลผลิตออกสู่ท้องตลาดมากราคาจะถูกลง เป็นไปตามกลไกราคา ส่วนมะพร้าวออร์แกนิกจะเป็นมะพร้าวที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีเงิน ซึ่งมะพร้าวของจังหวัดราชบุรีไม่ค่อยมีเรื่องโรค เพราะเป็นพืชสุขภาพ ไม่มีสารเคมี ถือเป็นพืชที่มีอนาคตที่ดี"
Source: ประชาชาติธุรกิจ