ดร.เศรษฐพุฒิ หนึ่งใน กนง.และบอร์ดแบงก์ชาติ ชำแหละปัญหา ศก.ไทยขยายตัวแต่รายได้ประชาชนไม่เพิ่ม ชี้ลงทุน "ภาครัฐและเอกชน" ยังไม่กลับมาอยู่ที่ระดับก่อนวิกฤตปี 2540

ศก.ไทยขับเคลื่อนด้วยการก่อหนี้ ขาขึ้นทั้ง "หนี้ครัวเรือน-หนี้สาธารณะ" เผย Q3/61 หนี้ครัวเรือนทะลุ 12.5 ล้านล้าน หรือ 77.8% ของจีดีพี จี้รัฐบาลใหม่ดูแล "วินัยการคลัง"

ศก.เติบโต-รายได้ไม่เพิ่ม

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยว่า สภาพที่เกิดขึ้นปัจจุบันคือเศรษฐกิจมีการเติบโต แต่รายได้ของประชาชนไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อไปดูข้อมูลดัชนีย้อนหลัง 6 ปี (ปี 2556-2561) พบว่าเป็นเช่นนั้น คือในแง่ของดัชนีเศรษฐกิจยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่รายได้ประชากรมีการเติบโตที่ต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจมาก และเมื่อหักเงินเฟ้อออกก็เรียกว่ารายได้แทบไม่มีการเติบโต โดยเฉพาะรายได้ประชากรในภาคเกษตร ซึ่งจะเห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจหลัก ๆ ก็มาจากการส่งออกสินค้าและบริการ (ท่องเที่ยว) แต่ส่งออกที่โตส่วนใหญ่มาจากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการจ้างงานน้อยมาก ดังนั้นคนที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตก็ไม่ได้มาก จึงทำให้เกิดเป็นภาพรายได้ประชาชนที่ไม่ค่อยโต แต่การบริโภคยังเกิดขึ้นเพราะประชาชนมีการก่อหนี้มากขึ้น

การลงทุนรัฐ-เอกชนไม่ฟี้นปัญหาประเทศไทยคีย์หลักอันหนึ่งที่รายได้ไม่โตคือการลงทุนไม่ฟี้น ทั้งนี้จะเห็นว่าไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ระดับการลงทุนแท้จริง ทั้งภาครัฐและเอกชนยังต่ำกว่าเมื่อปี 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่ทุกประเทศไต่กลับมาสูงกว่าได้ นี่เป็นเหตุผลสำคัญอันหนึ่งว่าทำไมประสิทธิภาพแรงงานไม่เพิ่ม ดังนั้นค่าจ้างจึงไม่ค่อยโต

"แม้ว่ายุคหนึ่งจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ แต่ตอนนั้นก็ปรับเร็วเกินไปจนค่าแรงแซงประสิทธิภาพ จนทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีปัญหา ขณะเดียวกันลูกจ้างส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานต่างด้าว เงินจึงถูกส่งไปนอกประเทศ" ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ธุรกิจใหญ่ "เงินสด" ล้น

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การที่เอกชนไม่ลงทุน ไม่ใช่เพราะปัญหาเรื่องดอกเบี้ยสูง เพราะบริษัทใหญ่ ๆ มีเงินสดล้น โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งมีกำไรมากขึ้นแต่ก็ไม่ค่อยมีการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพ ขณะที่กำลังการผลิตก็ยังเหลือ ทำให้เอกชนไทยมีการนำเงินไปลงทุนโดยตรงต่างประเทศ (TDI) ทั้งการซื้อกิจการหรืออื่น ๆ ซึ่งการลงทุนต่างประเทศก็สร้างประสิทธิภาพ แต่เป็นประสิทธิภาพในต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นว่าปีที่แล้วคนไทยไปลงทุนต่างประเทศสูงกว่าที่นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย (FDI) ซึ่งสะท้อนถึงการลงทุนในประเทศไม่โต นำมาซึ่งรายได้ของประชาชนที่ไม่โตด้วย

"เมื่อรายได้ไม่เพิ่ม คนอยากบริโภคก็กู้ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทำให้เรื่องเสถียรภาพทางการเงินมีประเด็น เพราะหนี้ครัวเรือนของไทยสูง และเทรนด์ไม่ได้ดูน้อยลง เพราะประชาชนก่อหนี้มากขึ้น จะเห็นว่าสัดส่วนของหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้านเติบโตอย่างต่อเนื่อง"

ทั้งนี้ ข้อมูล ธปท.ล่าสุด หนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/2561 มีมูลค่า 12.56 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 77.8% จากไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ 12.34 ล้านล้านบาท หรือ 77.5% ของจีดีพี

ขนเงินลงทุนต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้พบว่าตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาภาคเอกชนไทยมีการนำเงินไปลงทุนโดยตรงต่างประเทศ (TDI) มากกว่าเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาประเทศไทย (FDI) โดยปี 2559 FDI อยู่ที่ 102,699.97 ล้านบาท แต่เม็ดเงิน TDI อยู่ที่ 472,399.13 ล้านบาทและปี 2560 FDI อยู่ที่ 273,254.82 ล้านบาท และ TDI อยู่ที่ 624,576.75 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขปี 2561 (11 เดือน) FDI อยู่ที่ 377,516.64 ล้านบาท และ TDI ออกไป 557,543.43 ล้านบาท

สำหรับภาพเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ภาคธุรกิจตอนนี้ก็เป็นลักษณะ wait and see เพราะรอความชัดเจนหลังเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ใช่แค่ที่เมืองไทย เพราะทั่วโลกก็อยู่ในสถานการณ์ wait and see เพราะความไม่แน่นอนจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

เตือนขาด "วินัยการคลัง"

นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากสำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาคือเรื่อง "วินัยการคลัง" เพราะจากปัจจุบันที่พรรคต่าง ๆ หาเสียง จะเห็นว่าทุกพรรคมีแต่นโยบายใช้เงิน บลัฟกันด้วยนโยบายประชานิยมที่ให้มากกว่ารัฐบาลปัจจุบัน และยังไม่ได้ยินใครพูดเรื่องเสถียรภาพการคลังและวินัยการคลังเลย ก็อยากฝากให้ใส่ใจกับเรื่องนี้ เพราะแม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะบอกว่า หนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่ได้สูง เพราะยังต่ำกว่าเพดาน 60% ของจีดีพี แต่การดูแค่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังถือว่าสื่อภาพไม่ครบ และอาจทำให้ชะล่าใจได้เรื่องเสถียรภาพการคลัง เพราะตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศไม่ได้รวมภาระหนี้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและภาระการคลังต่าง ๆ ที่จะตามมา

สิ่งที่กังวลคือเรื่องปัญหารัฐวิสาหกิจ ที่บางเคสก็ยังขาดทุนต่อเนื่อง และที่เป็นห่วงมากว่าจะส่งผลต่อฐานะการคลังของประเทศ คือกองทุนประกันสังคม ที่มีภาระการจ่ายเงินให้กับผู้เกษียณอายุ ด้วยระบบคือคนที่เข้าระบบทำงานก็เอาเงินใส่เข้ากองทุน และคนที่เกษียณก็เอาเงินออก ด้วยโครงสร้างของประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ตอนนี้คนใส่เงินเข้ากองทุนจะค่อย ๆ ลดลง ขณะที่คนเอาเงินออกก็จะเพิ่มมากขึ้น ๆ ด้วยระบบแบบนี้ในอนาคตกองทุนก็จะเกิดปัญหาไม่มีเงินพอที่จะจ่าย หรือเจ๊งแน่นอน ซึ่งก็จะเป็นภาระหนี้ของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และความเสี่ยงต่อการคลัง

ประเด็นสำคัญคืออยากให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา มองในภาพรวมทั้งหมดเพื่อให้เห็นภาพรวมว่าฐานะการคลังไม่ได้ดีและมีความเสี่ยงต่อภาระในอนาคต เพราะรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศส่วนใหญ่ก็มีแต่แผนใช้เงินงบประมาณเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยขาดดุลงบประมาณมาตลอด

"ความหมายวินัยการคลังสำหรับผมไม่ใช่แค่ว่า หนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 60% แต่เป็นเรื่องของการใช้งบประมาณให้คุ้มค่า หรือมีวินัยในการใช้ เช่น ถ้าก่อหนี้เพิ่มแต่คุ้มค่ามีประโยชน์ ผมไม่ว่าในฐานะผู้เสียภาษี แต่ถ้าใช้โดยไม่รู้ว่าได้อะไร หรือไม่มีประสิทธิภาพ แบบนี้ถือว่าไม่มีวินัยการคลัง จุดอ่อนอย่างหนึ่งของประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณก็คือจะเน้นในแง่ของการพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ก่อนการลงทุน แต่พอลงทุนหรือทำโครงการต่าง ๆ ไปแล้ว ไม่มีการวัดผลว่ามีความคุ้มค่าในการดำเนินการ"

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ณ เดือน พ.ย. 2561 ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะ 6.81 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.82% ต่อจีดีพี และประเมินว่าในช่วงปี 2562 จะปรับเพิ่มเป็น 43.3% ต่อจีดีพี

เอกชนห่วง "ลงทุนรัฐ" สะดุด

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมค้าปลีกครึ่งแรกของปีนี้คาดว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงเติบโตต่ำกว่าที่ควรเป็น แม้ช่วงปีที่ผ่านมาจะมีสัญญาณการฟี้นตัวทุกหมวดสินค้า โดยตัวแปรเศรษฐกิจในปี 2562 คือความไม่ชัดเจนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัว และความไม่แน่นอนของการเมืองหลังการเลือกตั้ง โดยเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในแบบชะลอจากปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับภาคส่งออกและการท่องเที่ยวจะชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งต้องยอมรับที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีความกังวลว่าภาคค้าปลีกอาจจะไม่สามารถรักษาระดับการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง หากการเติบโตด้านยอดขายค้าปลีกยังมีทิศทางทรงตัว เช่นดียวกับการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนา 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ถ้าหากเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลประกาศไว้ อาจทำให้การลงทุนภาคเอกชนมีความมั่นใจเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการต่าง ๆ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะเงินหมุนเวียนผ่านการจ้างงานและการจัดซื้อจัดจ้างที่จะกระจายลงสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อั้งเปาช่วยชาติ "หงอย"

นอกจากนี้ธุรกิจค้าปลีกคงต้องเฝ้าติดตามเสถียรภาพทางการเมืองหลังเลือกตั้ง บรรยากาศโดยภาพรวม ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับการตัดสินใจเดินหน้าการค้าและการลงทุนในปีต่อ ๆ ไป

"มาตรการอั้งเปาช่วยชาติที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคซึ่งมองว่าจะมีการจับจ่ายกว่าแสนล้านโดยมีผู้บริโภคเข้าร่วมโครงการกว่า 6 ล้านคนนั้น แต่ข้อมูลล่าสุดกลับพบว่ามีผู้เข้าร่วมลงทะเบียนเพียงหลักหมื่นคน ทำให้การจับจ่ายเหลือเพียงประมาณหมื่นล้านบาท" นายวรวุฒิกล่าว

สอดคล้องกับแหล่งข่าวระดับสูงจากธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคให้มุมมองว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา ทำให้คาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นยาก และขณะนี้ก็ยังเร็วไปที่ให้คำตอบ ซึ่งตอนนี้นักธุรกิจส่วนใหญ่ก็อยู่ระหว่างรอดูสถานการณ์มากกว่า ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ถึงกับหยุดลงทุน เนื่องจากเป็นแผนที่วางไว้แล้ว

"การลงทุนด้านการผลิตเป็นเรื่องระยะยาว ดังนั้นนโยบายการใช้จ่ายและหาเสียงของแต่ละพรรคที่เสนอตัวไม่น่าส่งผลกระทบ ซึ่งการลงทุนด้านการผลิตเป็นเรื่องระยะยาว ที่จะดูภาพรวมของกำลังซื้อ การเติบโตของตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศเป็นหลักในการตัดสินใจลงทุน"

กันกุลลุ้นเลือกตั้งก่อนปรับแผน

นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL กล่าวว่า แม้ว่าช่วง 3 ปีนี้บริษัทตั้งเป้ากำลังผลิตรวมไว้ที่ 1,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 580 เมกะวัตต์ แต่ต้องยอมรับว่าคงต้องขอดูความชัดเจนจากภาครัฐ เพราะอาจจะทำให้มีการชะลอการลงทุน ต้องรอผลความชัดเจนจากการเลือกตั้ง รวมถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่จึงจะสามารถตอบได้ว่าจะปรับแผนการลงทุนหรือไม่ อย่างไร

Source: ประชาชาติธุรกิจ

0 Share