เอเชียตื่นแบงก์ชาติแห่ขึ้นดอกเบี้ย : ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวานนี้ ไม่ได้มีอะไรออกมาเซอร์ไพรส์เหนือความคาดหมาย

คณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) มีมติเห็นชอบขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 2.0-2.25%

แต่ที่น่าสนใจก็คือ นี่เป็นงวดการประชุมที่บ่งชี้ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐดอกเบี้ยโลกได้ชัดเจนที่สุด นับตั้งแต่สหรัฐกับจีนประกาศสงครามการค้าตอบโต้กันไปรวมแล้ว 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 11.6 ล้านล้านบาท)

และสัญญาณที่ออกมาจากเฟดก็คือ สงครามการค้าไม่มีผลอะไรที่จะทำให้เฟดต้องชะลอแผนขึ้นดอกเบี้ยในระยะสั้น

เฟดเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในประเทศจะขยายตัวได้แข็งแกร่งกว่า จึงปรับขึ้นประมาณจีดีพีปีนี้อีก 0.3% ไปเป็นเติบโตได้ 3.1% และขึ้นของปีหน้าอีกเล็กน้อยเป็น 2.5% ทำให้ถ้อยแถลงของเฟดตัดทิ้งคำว่า "ผ่อนคลาย" ออกจากการระบุถึงทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐหลังจากนี้ ซึ่งหมายความว่าการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมานานเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตซับไพรม์ปี 2008 สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากนี้เฟดจะเดินหน้าทยอยขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ระดับปกติมากขึ้น

ดังนั้น ในรายงานคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปีของเฟด (Dot Plot) ที่ออกมารายไตรมาสล่าสุด จึงยืนยันความเห็นของกรรมการเฟดเสียงส่วนใหญ่ได้ว่า ณ สิ้นปี 2018 นี้ อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 2.25-2.5% หรือเท่ากับจะขึ้นดอกเบี้ยในปลายปีนี้อีก 1 ครั้ง ตามที่เคยระบุเอาไว้ และในสิ้นปี 2019 อัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.125% ซึ่งหมายความว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ไปอยู่ที่ 3.0-3.25% ตามที่เคยให้ความเห็นมาก่อนหน้านี้แล้วเช่นกัน

ทิศทางดังกล่าวจึงนำไปสู่การประกาศขึ้นดอกเบี้ยตามมาของอีก 7 ธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งนับเป็นการพร้อมใจกันขึ้นดอกเบี้ยในวันเดียวกันมากที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาในรอบปีนี้ โดยอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มที่ต้องขึ้นตามสหรัฐอยู่แล้ว เนื่องจากผูกค่าเงินไว้กับดอลลาร์สหรัฐ และ 2.กลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐ

กลุ่มแรกนั้นนำโดยเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และอีก 3 ชาติตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดย 3 รายหลังขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เท่ากับสหรัฐ และไม่ได้มีนัย อันใดต้องจับตาเป็นพิเศษ

แต่ที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ "ฮ่องกง" เพราะนอกจากธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) จะขึ้นดอกเบี้ยตามอีก 0.25% ไปอยู่ที่ 2.5% แล้ว

นี่ยังเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ที่ธนาคารพาณิชย์ในฮ่องกงประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมตามมา ซึ่งถือเป็นการปิดฉากยุคการเงินผ่อนคลายไปสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้นของ "ผู้บริโภค" อย่างแท้จริง ตั้งแต่ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล จนถึงสินเชื่อบ้าน และภาคธุรกิจที่ต้องเจอต้นทุนกู้ยืมแพงขึ้น

เมื่อวานนี้ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประกอบด้วย เอชเอสบีซี แบงก์ออฟไชน่า ฮั่งเส็ง และสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประกาศว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.125% ทำให้แบงก์ 3 แห่งแรกมีดอกเบี้ยเป็น 5.125% และสแตนชาร์ตเป็น 5.375% ท่ามกลางดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารที่พุ่งไปแตะระดับสูงสุดรอบ 10 ปี

"การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในวันนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยท้องถิ่นที่จะกลับมาสู่ระดับปกติ และเราเชื่อว่าฮ่องกงมีการเตรียมพร้อมเป็นอย่างดีเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว" ไดอานา ซีซาร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเอชเอสบีซี ฮ่องกง กล่าว

อย่างไรก็ดี การขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์พาณิชย์เพียง 0.125% ซึ่งน้อยกว่าดอกเบี้ยแบงก์ชาติที่ขึ้น 0.25% นั้น ก็สะท้อนได้เช่นกันว่าฮ่องกงยังไม่วางใจเรื่องผลกระทบของดอกเบี้ย ขาขึ้นมากนัก โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่น่าจะเห็นผลก่อนใคร จากเดิมที่ฮ่องกงเองได้ชื่อว่าเป็นตลาดอสังหาฯ ที่แพงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอยู่ก่อนแล้ว โดย พอล ชาน ซึ่งเทียบเท่าได้กับ

รัฐมนตรีคลังของฮ่องกง ได้ออกมาเตือนให้ระวังความเสี่ยงของดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นกัน เพราะในอีกด้านหนึ่งนั้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนก็ยังตึงเครียด และยังไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้นในเร็วๆ นี้ด้วย

ส่วนกลุ่มประเทศเสี่ยงที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบจากสหรัฐก็คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐเช็ก ซึ่ง 2 รายแรกนั้นถือเป็นกลุ่มเสี่ยงหลักในตลาดเกิดใหม่ของเอเชียอยู่แล้ว จากภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงและความอ่อนแอในเชิงพื้นฐาน จนทำให้ค่าเงินอ่อนค่าต่ำสุดในรอบหลายปี และยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุนไหลออกมากขึ้นหากเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ธนาคารกลาง "อินโดนีเซีย" ประกาศขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด 0.25% เป็น 5.75% ซึ่งนับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 5 แล้ว นับตั้งแต่กลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อชะลอภาวะทุนไหลออก หลังจากค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าไปราว 9% ในปีนี้

นอกจากนี้ รัฐบาลยังกระตุ้นให้ผู้ส่งออกหันมาทำสัญญาปิดความเสี่ยงค่าเงินกันมากขึ้นด้วย เพื่อลดผล กระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และยังร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อเตรียมออกมาตรการจูงใจให้ผู้ส่งออก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถือเงินสดในรูปดอลลาร์สหรัฐมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ยอมหันมาแลกเงินรูเปียห์กันมากขึ้นด้วย หลังจากในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีการแลกเงินในสัดส่วนไม่ถึง 15% จากข้อมูลของแบงก์ชาติอินโดนีเซีย

ขณะที่ธนาคารกลาง "ฟิลิปปินส์" ประกาศขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5% ไปอยู่ที่ระดับ 4.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 7 ปี และเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ภายในเวลา 5 เดือน ขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่กำลังอยู่ในระดับสูงสุดรอบ 9 ปี โดยขึ้นไปแตะ 6.4% เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์ยังกังวลด้วยว่า ตัวเลขล่าสุดในเดือน ก.ย.นี้อาจขึ้นไปแตะถึง 7% บนภาวะน้ำมันโลกขาขึ้น และผลกระทบจากไต้ฝุ่นมังคุดที่ทำลายไร่นาเสียหายหนัก ทำให้ราคาอาหารและสินค้าเกษตรแพงขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังมีธนาคารกลางอีกบางแห่งเช่นกันที่ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยระหว่างการประชุมเมื่อวานนี้ เช่น ไต้หวัน นิวซีแลนด์ และคูเวต เนื่องจากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงหลักเรื่องทุนไหลออก และยังต้องการรอดูสถานการณ์เรื่องสงครามการค้าไปอีกระยะก่อน แม้ว่าที่สุดแล้วอาจเป็นเพียงการประวิงเวลารอดูสถานการณ์ไปอีกระยะก็ตาม เพราะทิศทางดอกเบี้ยโลกได้เข้าสู่ยุคขาขึ้นอย่างชัดเจนเต็มตัวแล้ว


โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ
Source: Posttoday


 

0 Share