จีนกระอัก เงินทะลักหนีตลาดหุ้น : ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ที่พุ่งทะยานมากกว่า 500 จุด เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา จากข่าวดีเรื่องผลประกอบการไตรมาส 3 ของบริษัทใหญ่หลายแห่ง ส่งผลให้บรรยากาศตลาดหุ้นโลกดีดตัวขึ้นตามไปด้วย

และช่วยลดบรรยากาศข่าวร้ายที่ปกคลุมตลาดหุ้นมาตลอด 1-2 สัปดาห์นี้ลงได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับฝั่ง "จีน" นั้น ข่าวดีแค่นี้อาจยังไม่พอที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในระยะยาวได้ เพราะเมื่อมองเทียบในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนเผชิญแรงเทขายอย่างหนักเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน และเมื่อมองไปในอนาคตก็ยังเต็มไปด้วยข่าวลบมากกว่าข่าวดีที่รออยู่ ไม่ว่าจะเป็น สงครามการค้า แรงกดดันค่าเงิน และระเบิดเวลาหนี้

ตลอดทั้งปี 2018 นี้ ดัชนีเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต ซึ่งเป็นดัชนีหลักของตลาดหุ้นจีน ร่วงลงไปแล้ว 22.93% โดยบลูมเบิร์กรายงานว่าตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ช่วงสงครามการค้าเริ่มก่อตัวชัดเจนขึ้น มีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ไปแล้วถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 98 ล้านล้านบาท)

และหากนับตั้งแต่ปี 2015 ที่ดัชนีทะยานขึ้นไปแตะระดับสูงสุดถึง 5,166 จุด ก็เท่ากับว่าในช่วง 3 ปีมานี้ ดัชนีเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต ร่วงลงไปแล้วถึง 50% โดยมาอยู่ที่ 2,561.61 ระหว่างการซื้อขายเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา

ตลอด 2 สัปดาห์มานี้ ตลาดหุ้นจีนเจอกับข่าวร้ายหลายครั้ง นำโดยการลดสัดส่วนกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ที่นักลงทุนตีความว่าเป็นสัญญาณร้ายของเศรษฐกิจจีนที่หนักกว่าคาด จนฉุดทั้งตลาดหุ้นจีน และตลาดหุ้นโลกให้ร่วงลงอย่าง ตื่นตระหนก

แรงฉุดหุ้นจีนยังไม่จบเมื่อได้รับผลกระทบชิ่งจากตลาดสหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ดาวโจนส์ร่วงไป วันเดียวมากกว่า 800 จุด และยังถูกซ้ำ

จากข่าวการบริโภคภายในจีนเอง ที่ซบเซาลง โดยยอดขายรถยนต์ เดือน ก.ย. ลดลงต่ำสุดในรอบ 7 ปี ส่วนตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่แผ่วลง ก็ยังฉุดหุ้นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านตามไปด้วย จนทำให้ดัชนีเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดรอบ 4 ปี ไปในช่วงต้นสัปดาห์นี้

ตัวเลขยอดขายรถในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ลดลงไปถึง 11.6% มาอยู่ที่เพียง 2.4 ล้านคัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี และยังลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์ สายยานยนต์มองว่า ปีนี้อาจเป็นปีแรกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ที่ตลาดรถยนต์จีนหดตัวเป็นครั้งแรก และอาจถือได้ว่าเป็นผลกระทบในเชิงรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า เศรษฐกิจจีนกำลังได้รับผลกระทบจริงๆ

เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ ระบุว่า ทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ต่างก็ตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจจีนจะสามารถต้านทานผลกระทบศึกพิพาทการค้า ที่อาจขยายวงลามไปเป็นสงครามเย็นทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐกับจีน ได้หรือไม่ โดยหลายฝ่ายต่างกังวลว่าตลาดหุ้นจีนอาจเป็นแค่เหยื่อรายแรกเท่านั้น

ความกังวลส่วนหนึ่งของนักลงทุนจีน ยังมาจากคำกล่าวของ ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐที่กล่าวโจมตีจีนเอาไว้เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ว่า ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ของจีนร่วงลงไปแล้วถึง 25% ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูกสหรัฐกดดันเรื่องการค้าอย่างหนัก

หลิว จี้เผิง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยตลาดหุ้น มหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และกฎหมายจีน กล่าวว่า นักลงทุนหุ้น รายย่อยร้อยล้านคนกำลังมองตลาดหุ้นจีนในแง่ลบมาก คนส่วนใหญ่ต่างพูดคุยและตั้งคำถามกันผ่านแอพวีแชทว่า รัฐบาลจีนยอมแพ้กับตลาดหุ้นไปแล้วหรือไม่ แต่สำหรับหลิว จีนไม่ควรยอมแพ้ง่ายๆ ในสมรภูมิตลาดหุ้น หากต้องการเป็นผู้ชนะในสงครามการค้า และย้ำว่ารัฐบาลควรออกมาตรการมาช่วยกระตุ้นตลาด เหมือนกับที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจมหภาคอยู่ในขณะนี้

ทว่าหากจะกล่าวถึงแรงกดดันต่อตลาดหุ้นจีน คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่กล่าวถึงเรื่อง "หนี้" เพราะหนี้จีนที่เคยสร้างความกังวลให้ทั่วโลกมาแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้รัฐบาลไม่สามารถกระตุ้นทั้งเศรษฐกิจมหภาคและตลาดหุ้นได้มากนัก

ล่าสุดบริษัท เอสแอนด์พี โกลบอล เรตติ้งส์ ยังเปิดเผยว่า นอกจากหนี้สาธารณะที่อยู่ในงบดุลตามปกติแล้ว จีนยังอาจซุกหนี้เพิ่มผ่านการก่อหนี้

นอกงบดุลของรัฐบาลท้องถิ่น ที่อาจสูงถึง 40 ล้านล้านหยวน (ราว 188 ล้านล้านบาท) ซึ่งหากนำหนี้นอกงบดุลของรัฐบาลท้องถิ่นมารวมกับหนี้ของรัฐบาลกลาง สัดส่วนหนี้สาธารณะของจีนทั้งหมดอาจแตะระดับอันตรายที่ 60% ต่อจีดีพีในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนดำเนินการควบคุมการก่อหนี้ใหม่อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะจำกัดการก่อหนี้เพิ่มในตลาดทุนของรัฐบาลท้องถิ่น จึงนำไปสู่การตั้งกลไกการเงินรัฐบาลท้องถิ่น (LGFVs) เพื่อเปิดทางให้กู้ยืมนอกงบดุลได้ และเป็นแหล่งเงินสำคัญที่ช่วยในการพยุงเศรษฐกิจจีนที่ผ่านมา

สถานการณ์เช่นนี้จึงเปรียบเสมือนกับภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งรอวันที่เรือไททานิค หรือความเสี่ยงด้านเครดิต จะเข้ามา พุ่งชนเท่านั้น

แม้ปริมาณหนี้เมื่อเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน จะเทียบไม่ติดกับสหรัฐหรือญี่ปุ่น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า แต้มต่อด้านการเงินโลกระหว่างสหรัฐกับจีนนั้นยังแตกต่างกันมาก และระดับของการใช้เงินดอลลาร์กับเงินหยวนในการเป็นทุนสำรองและธุรกรรมทั่วโลกก็ยังเทียบกันไม่ได้ ปัญหาหนี้จึงเป็นสิ่งที่จีนไม่อาจประมาทได้

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องในทิศทางเดียวกับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ที่ระบุว่า ในช่วงสิ้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา หนี้สินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ท้องถิ่นจีน ซึ่งรวมถึงหนี้จาก LGFVs อยู่ที่ราว 59.3 ล้านล้านหยวน (ราว 279 ล้านล้านบาท)

แน่นอนว่ารัฐบาลจีนยังมีความยืดหยุ่นทั้งทางการเงินและการคลัง ให้สามารถกระตุ้นหนุนตลาดทุนและเศรษฐกิจมหภาคได้ เพียงแต่การกระตุ้นนั้นก็อาจจะไม่หวือหวาหรือมากพอเมื่อเทียบกับยุคก่อนๆ และอาจทำให้จีนต้องอยู่ในสภาพประคองตัวไปอีกพักใหญ่ ในภาวะที่ศึกนอกรุมเร้าหนักเช่นนี้


โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ

Source: Posttoday

- China's New Strategy for Curbing World's Worst Stock Slide: https://www.bloomberg.com/…/in-china-plunge-protection-goes…

- China Stock Market Rocked by Forced Sellers; Yuan Hits Fresh Low : https://www.bloomberg.com/…/china-s-currency-depreciates-to…

——————————————                                                                            ———————————————

ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


 

0 Share