เบร็กซิท-กีดกัน'อุปสรรคการค้าเอเชีย-ยุโรป: การเจรจาที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกว่า "เบร็กซิท"

มีแนวโน้มที่จะเป็นหัวข้อสำคัญในการหารือด้านการค้าครั้งสำคัญระหว่าง 51 ผู้นำจากเอเชียและยุโรป ในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมสัปดาห์นี้

ขณะเดียวกัน การต่อรองเกี่ยวกับ เงื่อนไขของเบร็กซิทส่อเค้ายืดเยื้อ เมื่อบรรดาผู้นำอียูและเอเชียร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปี และเปิดฉากขึ้นวานนี้ (18 ต.ค.)

ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเบร็กซิททำให้หลายประเทศในเอเชียเตรียมพิจารณาลดการลงทุนในสหราชอาณาจักร ขณะที่การออกจากอียูอาจส่งผลให้ตลาดเงินผันผวน และ จุดกระแสความกังวลทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

นอกจากนั้น หากการเจรจาระหว่าง สหราชอาณาจักรกับอียูกินเวลาที่เตรียมไว้สำหรับเวทีประชุมอาเซม แผนการประชุมระหว่างชาติอียูและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็อาจต้องเลื่อนออกไปด้วย

อียูเตรียมจะลงนามข้อตกลงการค้าเสรีในการประชุมอาเซมกับสิงคโปร์ พันธมิตรการค้าและการลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอียู นอกจากนั้น อียูยังเตรียมเปิดเจรจาการค้าเสรีทวิภาคีกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ด้วย ซึ่งบรรดาผู้นำยุโรปและอาเซียนมีแผน จะหารือกันหลังการประชุมอาเซม

อย่างไรก็ตาม เบร็กซิทที่ "ปราศจาก ข้อตกลง" ยังอาจเกิดขึ้นได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เยอร์เกน เออร์สตรอม โมลเลอร์ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา- ยูซุฟอีชัค แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า ถึงแม้เรื่องนี้เสี่ยงทำให้อียูหลงประเด็น จากการเจรจาการค้าแบบเข้มข้นกับเอเชีย แต่เบร็กซิทก็อาจทำให้อียูมีความน่าสนใจมากขึ้นในข้อตกลงระหว่างประเทศ

"อียูไม่ต้องการมีภาพลักษณ์เป็นกลุ่มที่ทำอะไรไม่ได้ หรือยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง หลัง จากเบร็กซิท"

โฆษกของอียู ระบุว่า อียูต้องการที่ จะเดินหน้าเจรจาข้อตกลงทางการค้าที่ทะเยอทะยานและสมดุลกับพันธมิตรสำคัญในภูมิภาคเอเชียต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่อียูกำลังดำเนินการอยู่กับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเวียดนาม

ทั้งนี้ อาเซียนเป็นแหล่งเงินลงทุนจากต่างประเทศขนาดใหญ่อันดับ 2 ของอียู เป็นรองเพียงจีน และยังเป็นพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่อันดับ 2 ด้วย การค้าขาย ที่เพิ่มขึ้นระหว่างอาเซียนกับอียูอาจช่วยชดเชยภาวะขาลงทุกรูปแบบจากผลกระทบ ของสงครามการค้าที่มีต่อห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ของสหรัฐหรือจีน ซึ่งลุกลาม มาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลต่างๆ ในเอเชีย ต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติมในอนาคต"ผลกระทบของการตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กันระหว่างสหรัฐกับจีนอาจส่งผลต่อ ทั้งโลกในทางอ้อม" เองการ์ติอัสโต ลูกิตา รัฐมนตรีกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย เผยกับ เว็บไซต์นิคเกอิ เอเชียน รีวิว นอกรอบการประชุมธนาคารโลก-กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ จ.บาหลี ของอินโดนีเซีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นอกจากนั้น เอเชียอาจกลายเป็นพันธมิตรที่มีความสำคัญมากขึ้นสำหรับอียู ด้วยความตึงเครียดที่สูงขึ้นระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับอียู

วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ กล่าวเมื่อวันพุธ (17 ต.ค.) เรียกร้องให้มีข้อสรุปเกี่ยวกับการ เจรจาการค้ากับอียูโดยเร็ว พร้อมเตือนว่าความคืบหน้าของการเจรจาอยู่ในระดับ "ไม่น่าพอใจ"

ความเห็นของรอสส์มีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเซซิเลีย มัลม์สตรอม กรรมาธิการด้านการค้าอียูโทษสหรัฐว่าเป็นต้นเหตุของความล่าช้า เนื่องจากไม่ร่วมมือกับอียูในการกำหนดกรอบข้อตกลงการค้า

"ประเทศต่างๆ จากทั้งยุโรปและ เอเชียต่างกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนที่เกิดจากสหรัฐ โดยเฉพาะในกรณีที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เน้นนโยบายกีดกันการค้ามากขึ้น" ราหุล มิชรา อาจารย์อาวุโสจากสถาบันเอเชีย-ยุโรปแห่งมหาวิทยาลัยมาลายาของมาเลเซีย ระบุ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้งยุโรปและเอเชียมีผลประโยชน์ร่วมกันจากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นและการค้าที่เสรีมากขึ้น แต่มีแนวโน้มว่าการประชุมที่กรุงบรัสเซลส์อาจมีการหยิบยกประเด็นสำคัญหลายประเด็นที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการหารือทางการค้า

อินโดนีเซียและมาเลเซียส่งออกน้ำมันปาล์มรวมกันราว 90% ของน้ำมันปาล์มทั่วโลก และมีโอกาสที่จะคัดค้านข้อเสนอของรัฐสภายุโรปที่ให้จำกัดการนำเข้าน้ำมันปาล์ม ขณะที่กัมพูชาและเมียนมาเตรียมที่จะคัดค้านแผนของยุโรปที่ให้ลดการนำเข้าเสื้อผ้า เพื่อเป็นการลงโทษการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้านจีนอาจต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับข้อเสนอของอียูที่ประกาศเมื่อเดือนก่อน ว่าจะเพิ่มความเชื่อมโยงด้านโครงสร้าง พื้นฐานระหว่างยุโรปกับเอเชีย ซึ่งหลายฝ่าย มองว่าเป็นคู่แข่งของโครงการนำร่องเส้นทาง สายไหมใหม่มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ของจีน

ขณะที่ภาคธุรกิจของยุโรปจะกดดันให้จีน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง เป็นตัวแทนร่วมประชุมในกรุงบรัสเซลส์ เปิดให้บริษัทยุโรป ที่ดำเนินการในจีนเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น

นอกจากนั้น นิคเกอิรายงานในเดือนนี้ว่า "โตโยต้า มอเตอร์" ค่ายรถรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น จะต้องทบทวนการลงทุนในอนาคตในสหราชอาณาจักร หากประเทศออกจากอียูโดยไม่ทำข้อตกลงกับอียู


Source: กรุงเทพธุรกิจ

- Whatever happens next, Brexit is bad for business:https://edition.cnn.com/…/brexit-transition-peri…/index.html

——————————————                                                                            ———————————————

ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


 

0 Share