พิษ 'เบร็กซิต' ลาม นักการเงินนับหมื่นหนี -สถานการณ์ "เบร็กซิต" ที่นับวัน ความไม่แน่นอนมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ "เทเรซา เมย์" ส่งสัญญาณความพร้อมที่จะออกจากสหภาพยุโรป (อียู) แบบ "no deal" ทันที
หากไม่สามารถทำ ข้อตกลงกันได้ ขณะที่ทั่วโลกเฝ้าติดตามผลสรุปการเจรจาระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักร (ยูเค) โค้งสุดท้ายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ หลังจากการประชุมภายในของผู้นำอียูเมื่อวันที่ 17-18 ตุลาคมที่ผ่านมา
รอยเตอร์สรายงานว่า ก่อนที่จะมีการประชุมระหว่างกลุ่มผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) นายจอห์น เกลน รัฐมนตรีการคลังของสหราชอาณาจักร (ยูเค) ได้กล่าวกับฝ่ายนิติบัญญัติ ประเมินว่า ขณะนี้มีหลากหลายธุรกิจในยูเค เริ่มมองหาลู่ทางย้ายฐานไปประเทศอื่น ที่อยู่ใกล้ ๆ กับอังกฤษ และยังเป็นสมาชิกสหภาพของอียู เพื่อยังสามารถใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้
สอดคล้องกับการประเมินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ระบุว่า ขณะนี้ นักธุรกิจจำนวนไม่น้อยกังวลว่าการเจรจา "เบร็กซิต" อาจเป็นไปอย่างแข็งกร้าว คือไม่มีข้อตกลงกรอบความสัมพันธ์ทางการค้าใด ๆ (no deal Brexit) ที่จะส่งผลต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจการเงินในฐานะที่ "ลอนดอน"เป็นศูนย์กลางการเงินของโลก
ทั้งนี้ BOE ประเมินความเป็นไปได้ไว้ 2 ทาง คือ การเจรจาแบบ hard Brexit หรือการถอนตัวออกจากอียูโดยมีข้อตกลงความสัมพันธ์หลงเหลืออยู่บ้าง เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า บริการ และโยกย้ายแรงงานระหว่างกันภายใต้ข้อตกลงที่ได้เปรียบทั้งคู่ ซึ่งกรณีนี้คาดว่า จะทำให้พนักงานในภาคการเงิน ย้ายออกจากกรุงลอนดอนประมาณ 5,000 คน ภายใน 29 มีนาคมปีหน้า ซึ่งเป็นกำหนดวันถอนตัวออกจากอียูอย่างถาวร
แต่หากการเจรจาแย่กว่าที่คาดไว้คือ ในรูปแบบ no deal ที่เป็นการถอนตัวแบบสุดโต่งไม่มีข้อตกลงใด ๆ รองรับหลังถอนตัว พนักงานในกลุ่มธุรกิจการเงินจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก และคาดว่าจะมีการโยกย้ายพนักงานออกจากกรุงลอนดอนราว 10,000 คน ขณะที่ "Oliver Wyman" บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก ประเมินว่า นักการเงินการธนาคาร อาจย้ายออกจากลอนดอนสูงสุดถึง 40,000 คน ซึ่งเป็นคาดการณ์เดียวกับทางธนาคารกลาง ไอริชที่แถลงไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน
รัฐมนตรีการคลังของยูเคกล่าวว่า รัฐบาลพยายามจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินที่อยู่ในลอนดอน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดผล กระทบ หลังจากที่ยูเคถอนตัวออกจากการเป็นสหภาพของอียู ทั้งยอมรับว่ารายได้ ที่มาจากภาษีของธุรกิจการเงินเฉลี่ยปีละกว่า 70,000 ล้านปอนด์ (ราว 92,000 ล้านดอลลาร์) ในยูเค โดยเฉพาะในอังกฤษจะหายไปทันที หากมีการย้ายที่ตั้ง สำนักงานใหญ่ของภูมิภาคออกไป
สำหรับ 3 ประเทศหลักที่จะได้อานิสงส์จากที่สถาบันการเงินย้ายฐานไป ได้แก่ ปารีสของฝรั่งเศส, แฟรงก์เฟิร์ตของเยอรมนี และดับลิน เมืองใหญ่สุดของไอร์แลนด์
โดยเมื่อ 2 เดือนก่อน กลุ่มธนาคารต่างประเทศประกาศแผนการโยกย้าย เช่น ธนาคารอเมริกันอย่างมอร์แกน สแตนเลย์, โกลด์แมน แซกส์ รวมถึงธนาคารซูมิโตโม มิตซุย, ไดวา ซีเคียวริตี้ และโนมูระ กรุ๊ป ของญี่ปุ่น ประกาศจะย้ายศูนย์กลางการเงินไปอยู่ที่แฟรงก์เฟิร์ต
ขณะที่เอชเอสบีซี พิจารณาจะย้ายเจ้าหน้าที่ธนาคารราว 1,000 คนไป กรุงปารีส รวมถึงกลุ่มธนาคารสัญชาติฝรั่งเศส เตรียมย้ายฐานกลับมาอยู่ในกรุงปารีส
รายงานระบุว่า แบงก์ออฟอเมริกา วางแผนตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคที่ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ โดยได้ย้าย พนักงานออกจากลอนดอนแล้วเมื่อต้นปี ราว 125 คน เตรียมจะย้ายพนักงานอีก 1,000 คน หลังวันที่ 29 มีนาคมปีหน้า ขณะที่เจพี มอร์แกน เชส กำลังศึกษาอัตรา ภาษีและเตรียมจะย้ายไปที่ดับลินเช่นกัน
ส่วนมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ธนาคารใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ประกาศตั้งแต่ปีก่อนว่าจะย้ายไปที่ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ พร้อมแผนการย้ายพนักงาน 2,100 คน หลังการถอนตัวจากอียูมีผลอย่างเป็นทางการ
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/world-news/news-237521
—————————————— ———————————————
ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้