อิตาลีเดินเกมต่อรอง ฉุดยุโรปเสี่ยงรอบใหม่ : แม้ว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะไม่ปล่อยให้ปัญหาเรื่องอิตาลี เบร็กซิต และแรงกดดันของตลาดทุนมามีผลต่อนโยบายการเงิน

ที่อีซีบีตั้งใจจะยุติมาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ที่ใช้มา 3 ปีลงอย่างถาวรในสิ้นปี 2018 นี้ แต่ก็ใช่ว่าประเด็นเหล่านี้จะไม่น่าห่วงไปซะทีเดียว โดยเฉพาะสมาชิกที่น่าปวดหัวอย่าง "อิตาลี"

จากหนึ่งในชาติกลุ่มยุโรปใต้ที่เคยมีวิกฤตหนี้สาธารณะมาแล้วในช่วงปี 2010 และง่อนแง่นต่อเนื่องตามมาอีกหลายปี อิตาลีได้กลายมาเป็นปัญหาใหม่ของสหภาพยุโรป (อียู) อีกครั้งใน ปีนี้ เมื่อรัฐบาลประชานิยมขวาจัดชุดใหม่ที่ชนะเลือกตั้งเข้ามาเมื่อต้นปี เสนอร่างงบประมาณขาดดุลเกินกว่าโควตาที่ตั้งไว้ จนถูกอียูปฏิเสธกลับมา และกลายเป็นการเผชิญที่สร้างความเสี่ยงไปทั้งภูมิภาคในขณะนี้

สหภาพยุโรปนั้นมีกฎเกณฑ์ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า ข้อตกลงว่าด้วยเสถียรภาพและการเติบโต (SGP) โดยเป็นข้อกำหนดทางการคลังร่วมกันเพื่อให้ชาติสมาชิก 28 ประเทศ ใช้จ่ายอยู่ในร่องในรอย ไม่เช่นนั้นหากสมาชิกชาติหนึ่งเกิดวิกฤตการคลังขึ้นก็จะฉุดให้ประเทศ อื่นๆ มีปัญหาตามเหมือนโดมิโนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ข้อตกลง SGP จึงจำกัดว่าประเทศสมาชิก "ไม่ควร" เสนอร่างงบประมาณขาดดุลเกิน 3% ของจีดีพี หรือไม่ควรปล่อยให้หนี้สาธารณะ สูงเกิน 60% ของจีดีพี

ภายใต้กฎเกณฑ์เช่นนี้ โดยเฉพาะกับอิตาลี ที่มีหนี้สาธารณะสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในยุโรปรองจากกรีซ หรืออยู่ที่ 133% ของจีดีพี และเคยมีประวัติปัญหามาแล้ว คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) จึงไม่ยอมรับร่างงบประมาณของอิตาลีที่เป็นงบขาดดุล 2.4% หรือสูงกว่าตัวเลขที่เคยตั้งไว้เบื้องต้น 3 เท่า เพราะแม้จะยังไม่ถึง 3% แต่ก็เสี่ยงสูงที่จะทำให้ปัญหาหนี้ของอิตาลีบานปลายย่ำแย่ลงอีก

ฝ่ายอิตาลีนั้นยืนยันว่าไม่มีแผน 2 หรือแผนสำรองเตรียมไว้ และยังคงยืนยันที่จะเสนอร่างด้วยตัวเลขเดิม ขณะที่ฝ่ายอีซีก็ยืนกรานไม่รับพร้อมให้เวลาไปคิดร่างใหม่มาเสนอภายใน 3 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม เมื่อความยุ่งยากทางการเงินถูกพ่วงมาด้วยความยุ่งยากทางการเมือง ปัญหาก็ยิ่งซับซ้อนและหาทางออกยากขึ้นเสมอ

ปัญหาของอิตาลีก็คือ รัฐบาลชุดใหม่นั้นมาจากกลุ่มแนวร่วมขวาจัดที่มี นโยบายประชานิยม และไม่เอาอียูเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเคยหาเสียงเอาไว้ด้วยว่าจะเปิดประชามติซาวเสียงออกจากอียูเป็นประเทศถัดไป แม้ว่าหัวหน้ารัฐบาลปัจจุบันคือ นายกรัฐมนตรี จูเซปเป คอนเต จะยืนยันก่อนหน้านี้ว่าอิตาลีจะไม่ออกจากอียูแน่นอน แต่การเผชิญหน้าเรื่องงบประมาณในขณะนี้ ก็ยิ่งเสี่ยงทำให้ 2 ฝ่ายแตกแยกมากขึ้นอีก และอาจเพิ่มแรงสนับสนุนฝ่ายขวาจัดในอิตาลีที่ต่อต้านอียูตามมา และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงเรื่องประชามติออกจากอียูอีกครั้ง

ท่าทีปัจจุบันของแนวร่วมขวาจัดรัฐบาลอิตาลีก็คือ ไม่ยอมถอย โดยหัวหน้าพรรคเดอะลีก มัตเตโอ ซัลวินี และหัวหน้าพรรคไฟว์ สตาร์ มูฟเมนท์ ลุยจิ ดิ ไมโอ ต่างยืนยันท่าทีว่าจะไม่ยอมลดตัวเลขลง และยกเรื่องปัญหาปากท้องความเป็นอยู่ของ "ประชาชน" มาเป็นข้ออ้างสำคัญที่ต้องก่อหนี้เพิ่มถึง 3 เท่า จากเดิมที่รัฐบาลฝ่ายซ้ายชุดก่อนเคยให้ตัวเลขขาดดุลคร่าวๆ ไว้ที่ 0.8%

หากรัฐบาลอิตาลียืนกรานตามเดิม อีซีก็อาจเลือกการลงดาบด้วยโทษปรับ ซึ่งจะยิ่งทำให้การเมืองในอิตาลีลุกโชน และกระทบต่อเสถียรภาพในอิตาลีและยุโรปตามมา โดยอาจประเดิมที่ตลาดทุนและตลาดพันธบัตรอิตาลีก่อน

นับตั้งแต่ได้รัฐบาลใหม่เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเจรจาตั้ง รัฐบาลผสมกันมาอย่างยาวนาน ดัชนีตลาดหุ้นมิลานปรับตัวร่วงไปแล้วมากกว่า 20%

ก่อนหน้านี้ บริษัทจัดอันดับเครดิตมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ปรับลดอันดับเครดิตของอิตาลีลงมาอยู่ที่ Baa3 จากเดิมที่ Baa2 หรือมาอยู่ 1 ขั้นก่อนถึงขั้นจังก์บอนด์ เพราะกังวลเรื่องปัญหาร่างงบประมาณ และอีก 1 สัปดาห์ต่อมา บริษัท เอสแอนด์พี ก็จัดเครดิตตามมาเช่นกัน โดยยังปรานี ด้วยการลดเพียงแนวโน้มอันดับเครดิต (Outlook) มาอยู่ที่เชิงลบ และคงอันดับเครดิตไว้ที่เดิม แต่การให้แนวโน้มเชิงลบก็หมายความว่ามีโอกาสสูงที่จะถูกลดอันดับเครดิตลงได้เช่นกัน หากยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องร่างใหม่ภายใน 3 สัปดาห์ก่อนเส้นตาย

นักวิเคราะห์จากบริษัท ฟิเดลิตี อินเตอร์เนชันนัล ระบุว่า การเสนอร่างที่เป็นไปไม่ได้เช่นนี้ เท่ากับว่าอิตาลีกำลังเปิดศึกทั้งกับอียูและกับตลาดทุนไปพร้อมกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายนี้ต่างก็ไม่เชื่อว่า อิตาลีจะสามารถทำให้เศรษฐกิจโต 1.5% อย่างที่พูดเอาไว้ได้ และไม่เชื่อด้วยว่าเส้นทางการเงินการคลัง และเส้นทางการเมืองประชานิยมแบบนี้จะยั่งยืน

แต่ฝั่งยุโรปเองก็ตกอยู่ในสถานะถูกเดินเกมต่อรองที่หนักหน่วงไม่แพ้กัน เพราะยังมีความเสี่ยงเบร็กซิตขนาบ อีกด้าน และอีซีบีเองก็ส่งสัญญาณ ไม่กระตุ้นทางการเงินแล้ว อย่างดี ก็เพียงแค่โรลโอเวอร์พันธบัตรครบกำหนดไถ่ถอนปีหน้าไปอีกระยะเพื่อช่วยพยุงตลาดบอนด์

เกมการเมืองครั้งนี้จึงเป็นทั้งความเสี่ยงของอิตาลีและสะเทือนทั้งยุโรปที่ต้องจับตาความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดไปพร้อมๆ กัน

โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ

Source: Posttoday


เพิ่มเพื่อนเพื่อติดตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


 

0 Share