อิงยุโรปโมเดล เอเชียไล่บี้ภาษีดิจิทัล : เมื่อช่วงประมาณต้นปีนี้ สหภาพยุโรป (อียู) กลายเป็นที่จับตามองจากทั่วโลกในฐานะประเทศต้นแบบในการ "รีดภาษียุค 4.0"

โดยได้เสนอแผนการจัดเก็บ "ภาษีดิจิทัล" ตัวใหม่ ที่จะอุดช่องโหว่เรื่องบริษัทที่ไม่มีแหล่งที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ หรือเปลี่ยนเกณฑ์การเก็บภาษีจากสถานที่ตั้งไปเก็บจากฐานผู้ใช้แทน

แม้สถานการณ์จะไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้ เพราะเผชิญแรงต้านอย่างหนักทั้งจากฝั่งบริษัทไอทีเอง ไปจนถึงกองทัพล็อบบี้ยิสต์และรัฐบาลวอชิงตันที่ออกหน้าปกป้องอุตสาหกรรมไอทีของตนเอง จนส่อแววว่าอาจจะไม่มีความคืบหน้าอะไรออกมาในปี 2018 นี้ ทว่าอย่างน้อยที่สุดยุโรปก็ได้จุดประกายต้นแบบให้ทั่วโลกศึกษาโมเดลดังกล่าว และกำลังนำไปสู่การผลักดันภาษีดิจิทัลในหลายประเทศทั่วโลกขณะนี้ เพื่อเร่งอุดช่องโหว่ที่เห็นอยู่ตำตาโดยเร็ว

วอลสตรีท เจอร์นัล ระบุว่า ในฝั่งเอเชียนั้นประเทศที่นำร่องผลักดันภาษีดิจิทัลใหม่ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินเดีย และอีกอย่างน้อย 7 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ที่จะเปลี่ยนการเก็บภาษีบริษัทไอทีข้ามชาติจากฐานกำไรไปเป็นฐานรายได้ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งการผลักดันภาษีใหม่ที่คล้ายคลึงกันนี้ยังเกิดขึ้นในเม็กซิโก ชิลี และประเทศอื่นๆ ในแถบลาตินอเมริกาอีกด้วย

ทั้งนี้ หากอ้างอิงจากร่างกฎหมายภาษีดิจิทัลของยุโรปเป็นต้นแบบ จะเห็นได้ว่ายุโรปแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนปฏิรูประยะยาวที่ต้องใช้เวลาเคาะกันอีกพักใหญ่ เพื่อให้ได้ระบบภาษีที่ครอบคลุมและอุดช่องโหว่รับเศรษฐกิจดิจิทัลยุค 4.0 อย่างแท้จริง กับส่วนมาตรการชั่วคราวที่ทำไปได้ก่อนทันที ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนฐานการจัดเก็บจาก "ฐานผู้ใช้" แทน "สถานที่ตั้งบริษัท"

เพราะช่องโหว่นี้ทำให้อียูเก็บภาษีได้อย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าที่ควร เนื่องจากบริษัทไอทีเสียภาษีจริงเพียง 9.5% เมื่อเทียบกับอัตราภาษีนิติบุคคลที่ธุรกิจทั่วไปต้องเสียที่ 23.2% และ

ส่วนมาตรการชั่วคราว (Interim Tax) จะเรียกเก็บจากบริษัทขนาดใหญ่ก่อน เพื่อไม่ให้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมถูกหว่านแหจนออกมา ต่อต้านไปด้วย บริษัทที่เข้าข่ายนี้คือ มีรายได้ทั่วโลกรวมกัน 750 ล้านยูโร/ปี และมีรายได้ในอียูเกิน 50 ล้านยูโร/ปี ซึ่งจะต้องเสียภาษี 3% จากรายได้ของธุรกรรมทางออนไลน์ เช่น การขายข้อมูล โฆษณา และบริการต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต

ส่วนการปฏิรูประบบภาษีนิติบุคคล (Corporate Tax) ให้ครอบคลุมไร้ช่องโหว่ระหว่างบริษัทออฟไลน์และออนไลน์ และรายละเอียดการคิดสัดส่วนกำไรและภาษีในแต่ละประเทศ โดยต้องเข้าข่ายเงื่อนไข เช่น 1.มีรายได้เกิน 7 ล้านยูโร/ปี ในประเทศสมาชิกของอียูที่เข้าไปทำธุรกิจ แม้จะไม่มีการตั้งสถานประกอบการถาวรอยู่ก็ตาม 2.มีผู้ใช้งานเกิน 1 แสนคน ในประเทศสมาชิกอียูที่เข้าไปทำธุรกิจ 3.ทำสัญญาธุรกิจกับบริษัทท้องถิ่นเกิน 3,000 สัญญา

ภาษีดิจิทัลใหม่ซึ่งแยกจากภาษีรายได้นิติบุคคลที่หลายบริษัทต้องจ่ายอยู่แล้ว จะช่วยให้รัฐบาลประเทศเหล่านี้สามารถเก็บรายได้เข้ารัฐเพิ่มอีกหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะปัจจุบันธุรกิจจำนวนมากได้เปลี่ยนรูปแบบไปสู่ดิจิทัลแล้ว เฉพาะในยุโรปซึ่งเป็นตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทไอทีสหรัฐ คาดว่าจะเก็บภาษีได้ถึงราว 5,700 ล้านดอลลาร์/ปี และในฝั่งเอเชียซึ่งเป็นอนาคตการเติบโตนั้น ก็คาดว่าเม็ดเงินจากภาษีดิจิทัลจะยิ่งสูงขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับจำนวนคนใช้ที่เพิ่มมากขึ้น

"เกาหลีใต้" เป็นหนึ่งในประเทศที่ตื่นตัวด้านดิจิทัลมากที่สุด โดยเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา สมาชิกสภานิติบัญญัติ 10 คนจากพรรคประชาธิปไตย ได้เสนอร่างกฎหมายดิจิทัลใหม่โดยมีเป้าหมายเพื่ออุดช่องโหว่บริษัทข้ามชาติ อาทิ เฟซบุ๊ก แอปเปิ้ล และกูเกิล ที่จ่ายภาษีไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะอ้างเรื่องไม่มีสถานประกอบการถาวรอยู่ในเกาหลี ดังนั้นร่างกฎหมายใหม่จึงบังคับใช้บริษัทไอทีที่มาทำธุรกรรมกับเกาหลี หรือมาโกยเงินจากสินค้าและบริการออนไลน์กับที่นี่ ต้องเข้ามาตั้งสำนักงานให้เป็นกิจะลักษณะด้วย ไม่เช่นนั้นจะต้องเสียค่าปรับ 3% ของรายได้

หนังสือพิมพ์โคเรีย ไทมส์ ได้รายงานตัวเลขสนับสนุนก่อนหน้านี้ว่าในปี 2017 บริษัท เนเวอร์ ซึ่งเป็นยักษ์ไอทีของเกาหลีและเป็นบริษัทแม่ของไลน์นั้น มีรายรับอยู่ที่ 4.68 ล้านล้านวอน และเสียภาษีไปราว 4 แสนล้านวอน แต่ยักษ์ไอทีที่ใหญ่กว่าอย่างกูเกิล เกาหลีรายงานรายรับเพียง 2.6 แสนล้านวอน

และจ่ายภาษีเพียง 2 หมื่นล้านวอนเท่านั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมประเมินว่ารายรับที่แท้จริงทั้งหมดของกูเกิล เกาหลีอยู่ที่ประมาณ 4.9 ล้านล้านวอน

"อียูกลายเป็นบรรทัดฐานอ้างอิงสำหรับประเทศในเอเชีย ให้พวกเราสามารถเดินตามได้" พังฮโยชาง ศาสตราจารย์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งเขียนรายงานเรื่องภาษีดิจิทัลที่ถูกใช้อ้างอิงในสภา ให้มุมมองกับวอลสตรีท เจอร์นัล

ขณะที่ "มาเลเซีย" กำลังจะเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ที่เสนอร่างกฎหมายภาษี ดิจิทัล ระหว่างการเสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2019 ใน วันที่ 2 พ.ย.นี้ โดยมีเป้าหมายหลักที่การอุดช่องโหว่เรื่องการไม่มีที่ตั้งอยู่ในมาเลเซียเช่นกัน

อามีรุดดิน ฮัมซาห์ รัฐมนตรีช่วยคลังของมาเลเซียให้มุมมองถึงเรื่องนี้ว่า หากไม่มีการลงมือทำอะไรสักอย่าง ประเทศก็มีแต่จะต้องสูญเสียรายได้ไปกับช่องโหว่นี้

แน่นอนการใช้กฎหมายอุดช่องโหว่รีดภาษีที่มีเป้าหมายหลักไปยังบริษัทไอทีข้ามชาติอเมริกันเช่นนี้ ย่อมมีแรงต้านหลัก เช่น รัฐมนตรีคลังสหรัฐ สตีเวน มนูชิน ที่แสดงความกังวลว่าจะเป็นการเล่นไม่แฟร์ฝ่ายเดียวเพื่อเล่นงานบริษัทอเมริกัน แม้จะไม่ได้มีการขู่ตอบโต้ชัดเจน แต่ก็มีแนวโน้มว่ารัฐบาลสหรัฐยุคใหม่ที่เน้นการปกป้องการค้าของตนเอง อาจงัดมาตรการทางค้ามาตอบโต้แผนภาษีเช่นนี้ได้ จนยุโรปที่เป็นโมเดลให้กับหลายประเทศ อาจไม่สามารถผ่านมติเอกฉันท์ได้ง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าประเทศสมาชิกในยุโรปหลายรายกำลังหันไปรับร่างภาษีดังกล่าวมาปรับใช้บางส่วนให้เป็นสูตรของตนเองแทน เช่น อังกฤษ โดยรัฐมนตรีคลัง ฟิลิป แฮมมอนด์ ระบุว่าหากอียูไม่พร้อม อังกฤษก็จะเดินหน้าทำไปก่อนเอง และมีรายงานว่าบางประเทศในอียูก็จะใช้สูตรนี้เช่นกัน เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ในยุคที่ "เงิน" ไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิมๆ เหมือนที่ผ่านมา และรัฐต้องเร่งปรับตัวไล่ให้ทันเงินในยุคนี้


โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ

Source: Posttoday

- Facebook, Google May Face Billions in New Taxes Across Asia, Latin America: https://www.wsj.com/…/countries-push-digital-taxes-on-tech-…

- Will a Digital Tax Sweep Across the World?https://www.bloomberg.com/…/will-a-digital-tax-sweep-across…


เพิ่มเพื่อนเพื่อติดตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


 

0 Share