ชีพจรเศรษฐกิจ Q3 โต 4.3% : สัญญาณชีพจรเศรษฐกิจไทย ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ขยายตัว "แผ่ว" โดยธนาคารแห่งประเทศไทย แจงตัวเลขเศรษฐกิจ ณ สิ้น ก.ย. 2561 ที่ผ่านมาว่า

ด้านอุปสงค์ (ความต้องการ) ของต่างประเทศขยายตัว ชะลอลง ทั้งจากด้านท่องเที่ยวที่โตชะลอลงจากผลกระทบเหตุการณ์เรือล่ม ที่จังหวัดภูเก็ต และด้านการส่งออกสินค้าที่โตชะลอลง แต่ยังมีอุปสงค์ในประเทศเป็นตัวแปรสำคัญที่หนุนให้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดี ตามการใช้จ่ายในเกือบทุกหมวดสินค้า ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนเอกชน ก็ยังขยายตัว

นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกสินค้า เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา หดตัว 5.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าที่คาดหมาย เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ไปออสเตรเลียชะลอตัว อีกทั้งผลกระทบของมรสุมต่อการขนส่งสินค้าไปประเทศคู่ค้า อาทิ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว การเร่งส่งออกโซลาร์เซลล์และเครื่องซักผ้าก่อนการใช้มาตรการ safeguard ของสหรัฐ และฐานสูงจากการส่งออกทองคำเมื่อปีที่แล้ว

ทั้งนี้ เมื่อรวม 9 เดือนแรกปีนี้ การส่งออกขยายตัวได้ 8.1% แต่หากจะให้ปีนี้ส่งออกโตได้ตามเป้าหมายทั้งปีที่ 9% เท่ากับว่าไตรมาส 4 จะต้องทำส่งออก ให้โตถึง 11.4% ซึ่ง ธปท.คาดว่า ไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ส่งออกมีโอกาสชะลอตัว

"สงครามการค้าได้ส่งผลกระทบทั้งในเชิง sentiment และคำสั่งซื้อจาก ต่างประเทศที่อาจมีไม่มากเท่าเดิม โดยเฉพาะส่งออกไทยไปจีน ในเดือน ก.ย. 61 ออกมาติดลบถึง 14% ซึ่งสินค้าหลัก ๆ คือประเภทยาง ก็เป็นผลจากสงครามการค้า ที่อาจทำให้คู่ค้าจากจีนยังไม่กล้าที่จะสั่งซื้อสินค้าลอตใหญ่ และมีความระมัดระวัง ในการขยายกำลังการผลิต โดยจะสั่งซื้อ สินค้าเป็นลอตย่อย ๆ มากขึ้น แนวโน้ม ไตรมาส 4 ส่งออกน่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง อาจจะทำได้ไม่ถึงเป้าส่งออกของปีนี้ จึงมีโอกาสจะปรับประมาณการส่งออก"

ในด้านนักท่องเที่ยวช่วง 9 เดือนแรก เติบโต 8.7% หรือจำนวน 28.5 ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยวกระจายตัวมากขึ้นโดยเฉพาะจากเอเชีย ส่วนนักท่องเที่ยวจีนยังลดลงต่อเนื่อง ทำให้เดือน ก.ย.ติดลบ 14.9% เป็นเดือนที่ 3 แต่คาดว่าช่วงไตรมาส 4 นี้เป็นช่วงไฮซีซั่น จะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาดีขึ้น

นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่า ช่วงที่เหลือ ในปีนี้ หวังว่าจะมีการลงทุนภาครัฐและเอกชน การบริโภคและปัจจัยการเมืองที่ชัดเจน จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น ช่วยผลักดันเศรษฐกิจเติบโตในช่วงไตรมาส 4

ขณะที่ทิศทางการส่งออกและ การท่องเที่ยวยังชะลอตัว โดยจะต้องติดตามเรื่องสงครามการค้าว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ และกลุ่มซัพพลายเชนสินค้าที่ส่งออกไปทั้งจีนและสหรัฐจะได้รับผลกระทบมากหรือน้อย อย่างไร ซึ่ง ธปท.ยังมองว่าเป็นวิกฤตและโอกาส หากว่าภาคธุรกิจปรับตัวได้ก็จะสามารถส่งออกไปทดแทนได้

ทั้งนี้ ธปท.คาดการณ์ปี 2561 การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 4.4%

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/61 จะขยายตัวราว 4.3% ซึ่งได้แรงส่งของ การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวดีขึ้น ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลดีจากภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวตามเศรษฐกิจโลก ด้านการลงทุนภาครัฐจะเร่งขึ้นในครึ่งปีหลัง ซึ่งมาจากรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่การลงทุนยังขยายตัวได้ดี และมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 4 อาจชะลอตัว โดยจะเห็นภาคส่งออกและท่องเที่ยวชะลอลงอย่างชัดเจน ทำให้เศรษฐกิจปีนี้โตต่ำกว่าที่คาด แต่อาจต่ำกว่าคาดไม่มากนัก ส่วนตัวเลขส่งออกไทยปีนี้คาดว่าจะเติบโต 8-9% และปีหน้าจะชะลอลงกว่าปีนี้

"ปีหน้าการลงทุนภาครัฐและเอกชนจะดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง เพราะปกติช่วงก่อนการเลือกตั้ง การเบิกจ่ายของรัฐหรือการลงทุนเอกชนจะช้ากว่าที่คาด แต่ครึ่งปีหลังของปีหน้า น่าจะฟื้นกลับมาดีขึ้น"

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดมีภาวะผันผวนเกิดขึ้นไม่น้อย ซึ่งมาจากปัจจัยหลัก ๆ เช่น สงครามการค้าโลก ดอกเบี้ยขาขึ้น ผู้ประกอบการก็ควรจะต้องดูความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและหาวิธีปรับตัวให้ธุรกิจอยู่ต่อไปได้ ซึ่งการรับมือกับความผันผวนมี 2 ทาง คือ ทางแรกด้านการเงิน ไม่ควรทำในสิ่งที่เกินตัว ทางที่สอง ต้องคิดให้ออกถึงสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการซื้อและประเมินความสามารถของตัวเองว่าทำได้หรือไม่ ซึ่งคนที่เก่งจริงก็ต้องปรับแผนให้ได้ในภาวะผันผวนนี้ ส่วนดอกเบี้ยขาขึ้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะเป็นภาระผู้ประกอบการ

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า เศรษฐกิจปีหน้าคาดจะขยายตัว 4.5% โดยมีปัจจัยสำคัญเรื่องการเลือกตั้ง ที่คาดว่าจะได้เห็นรัฐบาลใหม่เข้ามาดูแลความต่อเนื่องของนโยบายเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่อในระยะ 2-3 ปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโต และจาก 2 ปัจจัยข้างต้น ทำให้ไทยอาจ...มีโอกาสได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นมาอยู่ A- จากปัจจุบันที่อยู่ BBB+

Source: ฐานเศรษฐกิจ


เพิ่มเพื่อนเพื่อติดตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


 

0 Share