ดูเหมือนยิ่งใกล้กำหนดที่อังกฤษต้องพ้นสภาพจากการเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ในปี 2019 มากขึ้นเท่าใด สถานการณ์ในอังกฤษยิ่งโกลาหลเข้าขั้น วิกฤตมากยิ่งขึ้น ทั้งสถานภาพของรัฐบาลที่ง่อนแง่นและง่อยเปลี้ย การเมืองที่ยุ่งเหยิง และที่สำคัญคือ

ความตกลงเบร็กซิต หรือแผนดำเนินการที่จะถอนตัวออกจากอียูอย่างเป็นระเบียบแทนที่จะชัดเจนขึ้น กลับยิ่งเลือนราง

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี "เทเรซา เมย์" ใช้เวลาปีเศษพยายามเจรจาทำความตกลงเพื่อการถอนตัวออกจาก อียูออกมา จนได้ "ความตกลงชั่วคราว" มาฉบับหนึ่งกว่า 500 หน้า ที่ผ่านการยอมรับจากตัวแทนของอียูมาแล้ว ผ่านความเห็นชอบจาก "เสียงส่วนใหญ่" ในคณะรัฐมนตรีที่แตกกันออกเป็นเสี่ยงมาได้แบบฉิวเฉียดเต็มที

และต้องส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ เพื่อให้ลงมติเห็นชอบภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อให้ทันเวลาสำหรับส่งให้ผู้นำอียูลงนามเห็นชอบระหว่างการประชุมสุดยอดอียูที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม วันที่ 25 พ.ย.นี้

แต่ทุกอย่างไม่ได้ราบรื่นอย่างที่เมย์คาดหวังเพราะการเจรจาเพื่อทำความตกลงทางการค้า ระบบศุลกากรและอื่น ๆ ระหว่างกันซับซ้อนเกินกว่าที่จะใช้เวลาเพียงปีสองปี วิธีแก้ปัญหาก็คือ หาหลักประกันไว้ก่อนว่า ขณะที่ยังไม่ได้ข้อยุตินั้น จะจัดการกันอย่างไร

ปัญหาใหญ่เกิดขึ้นบนเกาะไอร์แลนด์ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของสาธารณรัฐไอร์แลนด์ มีแต่พื้นที่ทางตอนเหนือที่เรียกว่า ไอร์แลนด์เหนือ ถือเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ส่วนสาธารณรัฐไอร์แลนด์เป็นหนึ่งในชาติสมาชิกอียู

ตามความตกลงชั่วคราวที่รัฐบาลเมย์ ไปทำไว้กับอียู ช่วงแรก "ไอร์แลนด์เหนือ"จะยังคงทำมาค้าขายกับอียูตามระบบเดิม โดยไม่ต้องทำพรมแดนกั้นระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับไอร์แลนด์ และเพื่อไม่ให้การค้าและภาษีศุลกากรของไอร์แลนด์เหนือแปลกอยู่ที่เดียว เมย์ร้องขอให้ทั้งสหราชอาณาจักรอยู่ในระบบอียูไปก่อน จนกว่าจะตกลงรายละเอียดกันได้ ความตกลงนี้ไม่เพียงสร้างความไม่พอใจให้กับพรรคเดโมเครติก ยูเนียนิสต์ ปาร์ตี้ (ดีพียู) พรรคการเมืองเล็ก ๆ แต่ครองเสียง ข้างมากในไอร์แลนด์เหนือ และกลายเป็น เสียงในสภาส่วนสำคัญที่สุดที่พยุงให้ รัฐบาลเทเรซา เมย์ ยังคงมีเสียงข้างมาก แบบปริ่ม ๆ อยู่ในเวลานี้

ดีพียูไม่ต้องการให้ไอร์แลนด์เหนืออยู่ในระบบเดิมของอียูต่อไป และไม่ชอบ ข้อผูกมัดตามความตกลงนี้จนกำลังตัดสินใจจะล้มรัฐบาล หากไม่เปลี่ยนข้อตกลง

แม้แต่ผู้สนับสนุนเบร็กซิตก็ไม่พอใจความตกลงนี้ รัฐมนตรีในรัฐบาลทยอยกันลาออกหนึ่งในนั้นคือ "โดมินิก รับ"รัฐมนตรีเบร็กซิต ซึ่งตอนนี้รัฐบาลอังกฤษ ยังอยู่ได้เพราะมีรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญอย่าง "ฟิลิป แฮมมอนด์"กระทรวง การคลัง, เจเรมี ฮันท์ กระทรวงต่างประเทศ กับซาจิด จาวิด รัฐมนตรีกิจการภายใน

หากหนึ่งใน 3 นี้ลาออกเมื่อไหร่ รัฐนาวาอังกฤษมีหวังล่มทันที

กลุ่ม ส.ส.ที่สนับสนุนเบร็กซิตเอง ก็ไม่พอใจมากขึ้น ขนาดล่ารายชื่อเตรียมยื่น อภิปรายไม่ไว้วางใจ กดดันเมย์อย่างหนัก ให้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในความตกลงฉบับนี้ ไม่เช่นนั้นก็อาจต้องล้มรัฐบาลแล้วปล่อยให้อังกฤษออกจากอียู โดยไม่มีความตกลงใด ๆ เมื่อกำหนด ดังกล่าวมาถึงใน 29 มี.ค. 2019 นี้

ที่น่าสนใจก็คือ นักวิเคราะห์คำนวณคะแนนเสียงในสภาเชื่อว่า เวลาของเมย์ เหลืออีกไม่นานแล้วจริง ๆ เพราะแม้แต่ผู้ที่เห็นด้วยกับเบร็กซิต ก็ยังไม่เห็นด้วยกับความตกลงชั่วคราวที่รัฐบาลไปทำ เพราะเป็นความตกลงที่ขาดรายละเอียดทางเทคนิคเกือบทุกอย่าง โดยเฉพาะด้านการค้า ทำให้ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะทำความตกลงในรายละเอียดกันได้ ทำให้อังกฤษยัง คงตกอยู่ในระบบเดิมของอียู พร้อมกับข้อผูกมัดทั้งหมดต่อไปอีกนาน ชนิดที่ยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นเวลากี่ปี แต่ในระหว่างนั้น อังกฤษจะไม่มีสิทธิมีเสียงใด ๆ ใน อียูอีกแล้ว และไม่สามารถเจรจาการค้ากับชาติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกอียูได้เช่นกัน

คำถามก็คือ ถ้าล้มรัฐบาลแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นตามมากับความตกลงกับอียู รัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีใหม่ จะรื้อความตกลงแล้วเจรจาใหม่อีกหรือ ?

วิกฤตในอังกฤษหนนี้น่าเบื่อขนาดไหน จะกลายเป็นทารุณกรรมยาวนานกับอังกฤษต่อไปอีก หรือจะกลายเป็นเบร็กซิตแบบไม่มีความตกลงที่จะ ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกกันแน่

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
Source: ประชาชาติธุรกิจ


ติดตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้
สนใจเรียนรู้การเป็นTrader กับกูรู คลิ๊ก


 

0 Share