คงไม่มีการจับกุมคดี "ฉ้อโกง" (Fraud) คดีไหนที่จะเป็นข่าวใหญ่และสร้าง ผลกระทบแบบสั่นสะเทือนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เท่ากับกรณีของ เมิ่งหว่านโจว รองประธาน บริษัทและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ อีกแล้ว

ผู้บริหารหัวเว่ยอาจถูกจับจากข้อกล่าวหาฐานฉ้อโกง กรณีที่สหรัฐกล่าวหาว่า หัวเว่ย ลักลอบขายอุปกรณ์เทคโนโลยีของสหรัฐให้กับอิหร่าน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายคว่ำบาตรของสหรัฐ แต่การจับกุมผู้บริหารของ หัวเว่ยก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเมิ่ง ซึ่งเธอยังมีอีก 2 สถานะสำคัญ คือ 1.เป็นลูกสาวคนโตของ เหรินเจิ้งเฟย ประธานและผู้ก่อตั้งหัวเว่ย ซึ่งมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับพรรคคอมมิวนิสต์และกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน และ 2.เป็นว่าที่ผู้สืบทอดคนต่อไปของบริษัทเทคโนโลยีเบอร์ 1 ของจีน ที่เป็นเสมือนความภาคภูมิใจของประเทศ

การขอให้แคนาดาเข้าจับกุมแทน เพื่อขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในภายหลัง ขณะที่เมิ่งกำลังจะเปลี่ยนเครื่องที่ เมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งยังมีขึ้นในวันเดียวกันกับที่ประธานาธิบดีจีน สีจิ้นผิง และประธานาธิบดีสหรัฐ

โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเจรจานอกรอบที่ประชุม จี20 เพื่อหย่าศึกการค้ากันอยู่ จึงถูกตีความว่าไม่ต่างอะไรกับการ "จับตัวประกัน" เพื่อ "ส่งสัญญาณเตือน" และสร้างความได้เปรียบให้ตนเองใน "สงครามเย็น" ที่ฉีกทุกกฎการเจรจาต่อรองแบบเดิมๆ ที่เคยผ่านมา

หากเข้าใจความสำคัญของหัวเว่ย และความบาดหมางที่แท้จริงระหว่างสหรัฐ-จีน เราจะเข้าใจได้ ไม่ยากว่าการจับกุมเมิ่งนั้นสำคัญเพียงใด และอาจสร้างผลกระทบตามมามากเพียงใด

แม้หัวเว่ยจะได้ชื่อว่าเป็นบริษัทไอทีใหญ่สุดของจีนในเวลานี้ และสามารถทำยอดขายสมาร์ทโฟนได้แซงหน้าแอปเปิ้ล อิงค์ ของสหรัฐไปแล้วตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แต่จนถึงปัจจุบันหัวเว่ยก็ยังไม่สามารถสลัดความไม่ไว้วางใจเรื่อง "สปาย" ออกไปได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องความไม่ไว้วางใจแบบเคสบายเคส แต่มาจากพื้นฐานของบริษัทในฐานะที่ผู้ก่อตั้งอย่าง เหรินเจิ้งเฟย คืออดีตวิศวกรของ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน

การเป็นอดีตวิศวกรของกองทัพและการเป็นบริษัทเทคโนโลยีเบอร์ 1 ในจีน ย่อมหมายถึงการมีสายสัมพันธ์ ที่แน่นแฟ้นกับรัฐบาลจีนทั้งในแง่ของกองทัพและพรรคคอมมิวนิสต์

ยังไม่นับเรื่องส่วนตัวที่ภรรยาคนแรกของเหริน หรือแม่ของเมิ่ง คือลูกสาวของอดีตผู้บริหารระดับสูงในมณฑลเสฉวน ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยบริษัทในยุคแรกๆ ได้เป็นอย่างมาก

ความไม่ไว้วางใจยังมาจากการที่จีนผ่าน "กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ" เมื่อปี 2017 ซึ่งมีระบุไว้ข้อหนึ่งว่า องค์กรต่างๆ ในประเทศต้องให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการทำงานเพื่อความมั่นคงของชาติ โดย รัฐจะให้ความคุ้มครองบุคคลหรือ หน่วยงานนั้นๆ ที่ให้ความร่วมมือกับ รัฐ ดังนั้น หัวเว่ยและบริษัทอื่นๆ ในจีน จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความไม่ไว้วางใจจากสหรัฐและพันธมิตรได้

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังอยู่ในฐานะ ผู้ผลิตอุปกรณ์พื้นฐานการสื่อสารโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดเบอร์ 1 แซงหน้าอีริคสัน จากสวีเดน และโนเกีย จากฟินแลนด์ โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 28% อีริคสัน 27% และโนเกีย 23% และในจังหวะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังจะเริ่มประมูลคลื่น 5จี กันในปีหน้าเป็นต้นไป หัวเว่ยที่มีความพร้อมมากที่สุดในปัจจุบัน ก็คงจะขึ้นเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาด 5จี รายใหญ่ที่สุดในโลกไปอย่างแน่นอน หากไม่มีปัญหากับสหรัฐเข้ามาขวางเหมือนในวันนี้

สงครามการค้า (Trade war) ระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีการตั้งกำแพงภาษีระหว่างกันกับสินค้ามูลค่ามากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปแล้วนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความพยายามสกัดการแผ่ขยายของจีน ที่จะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกรายใหม่ (Hegemony) ที่ยังรวมไปถึงเรื่อง เทคโนโลยี ไซเบอร์ ความมั่นคง และอื่นๆ เพราะจีนในวันนี้ไม่ได้เป็นแค่โรงงานผลิตของราคาถูก เพื่อส่งขายทั่วโลกเหมือนเดิม แต่กำลังจะขึ้นมาท้าทายในฐานะมหาอำนาจใหม่ ที่กำลังแผ่อิทธิพลการค้าและการเมืองในหลายช่องทางตั้งแต่โครงการแถบและถนน (Belt and Road : BRI) น่านน้ำในทะเลจีนใต้ และอุตสาหกรรม 5จี ที่เป็นอนาคตของยุคเศรษฐกิจใหม่

ในฐานะที่เมิ่งเปรียบเสมือนทายาทของบริษัทเทคโนโลยีเบอร์ 1 ของประเทศ ที่เป็นทั้งความภูมิใจของจีน และเป็นหัวใจสำคัญในอนาคตใหม่ของจีนที่ต้องพึ่งเทคโนโลยี 5จี ภายใต้ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 การจับกุมตัวเมิ่ง จึงไม่ต่างกับเรื่องเชิงสัญลักษณ์ ที่ต้องการปรามและส่งสัญญาณบอกว่าสหรัฐเป็นฝ่ายมีแต้มต่อเหนือกว่า ซึ่งอาจยิ่งทำให้ความเป็นศัตรูระหว่าง 2 ฝ่ายรุนแรงขึ้นอีก และทำให้สมมติฐานเรื่องสงครามเย็นยิ่งเป็นไปได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ข้อกล่าวหาต่อเมิ่งนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฉ้อโกงที่ขัดต่อมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ และอาจมีโทษจำคุกสูงสุด 30 ปี โดยการสอบสวนของสหรัฐเชื่อว่า หัวเว่ยลักลอบขายอุปกรณ์ของฮิวเล็ตแพ็กการ์ด (HP) ผ่านทางบริษัท สกายคอม ในฮ่องกง ที่หัวเว่ยเคยถือหุ้นใหญ่ก่อนจะขายภายหลัง แต่ในทางพฤตินัยนั้นเชื่อว่ายังเป็นบริษัทของ หัวเว่ยอยู่ โดยใช้ธุรกรรมผ่านทางธนาคาร HSBC ในสหรัฐ ซึ่ง HSBC นั้นเคยถูกลงดาบลงโทษปรับมหาศาลเรื่องฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านไปแล้ว

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า กรณีของหัวเว่ยนั้นอาจไม่ได้ร้ายแรงไปกว่าเคสของ ZTE ที่ถูกปรับไปนับพันล้านดอลลาร์และถูกลงโทษแบนห้ามซื้อขายอุปกรณ์กับบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐ เมื่อช่วงต้นปีนี้ โดยอาจไม่ได้มีโทษ จำคุกกับผู้บริหารของหัวเว่ยตามมา แต่เมิ่งอาจถูกใช้เป็นตัวประกันต่อรองในจังหวะที่สหรัฐกับจีนกำลังเจรจาการค้าในช่วงพักรบ 90 วัน

นอกจากนี้ ยังอาจถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อกีดกันการเข้าร่วมของหัวเว่ยในศึกประมูล 5จี ทั่วโลกปีหน้า จากเดิมที่ถูกแบนไปแล้วใน 3 ประเทศคือ สหรัฐ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งยังเป็นกลุ่ม Fire Eyes ที่มีการแชร์ข่าวกรองร่วมกัน ขณะที่ใน "อังกฤษ" ก็เริ่มมีการกดดันจนบริษัทเอกชน บีทีต้องประกาศไม่ใช้อุปกรณ์หัวเว่ยแล้ว และ "แคนาดา" ก็เป็นประเทศล่าสุดที่ยอมอยู่ใต้แรงกดดันของสหรัฐผ่านการจับกุมตัวเมิ่ง

เป็นที่คาดว่าปฏิกิริยาตอบโต้ ของจีนไม่ว่าจะต่อแคนาดาหรือสหรัฐ อาจรุนแรงและน่ากังวลต่อตลาดการค้าและตลาดทุนตามมาหลังจากนี้ เพราะไม่ว่าที่สุดแล้วจีนจะยอมให้สหรัฐหรือไม่ แต่ในด้านหนึ่งจีนก็ต้องเล่นบทมหาอำนาจที่ไม่ยอมศิโรราบให้ชาติอันธพาลง่ายๆ ตามที่ปรากฏในข่าวของจีนหลายสำนักช่วงนี้ ซึ่งในกรณีที่เลวร้ายนั้นอาจส่งผลให้การเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐต้องล่มลง เพราะต้องไม่ลืมว่า นอกจากลัทธิชาตินิยม จะมาแรงเป็นพิเศษในยุคของทรัมป์ ที่เต็มไปด้วยสายเหยี่ยวรอบตัวแล้ว ฝ่ายจีนในยุคสีจิ้นผิงก็ยังโอนเอียงไปทางชาตินิยมมากกว่าช่วงผู้นำหลายคนที่ผ่านมาเช่นกัน

ไม่ว่าจีนจะยอมลงให้กับสหรัฐ หรือไม่ จะยอมจบศึกแรกเบื้องต้นแล้วค่อยไปฟาดฟันกันต่อในศึกระยะยาว หรือจะนำไปสู่ศึกพิพาทที่บาดหมางรุนแรงกันยิ่งกว่าสงครามการค้า 3 แสนล้านดอลลาร์ แต่ที่สุดแล้วก็คงไม่มีทางออกที่ง่าย และคงต้อง จับตาท่าทีมังกรฟาดหางอย่างใกล้ชิดหลังจากนี้ต่อไป

โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ

Source: Posttoday


ติดตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้
สนใจเรียนรู้การเป็นTrader กับกูรู คลิ๊ก


 

0 Share