สองอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมเดินทางตลอดตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. มีโปรแกรมสอนหนังสือที่ญี่ปุ่น เป็นหลักสูตรปริญญาโท ด้านนโยบายสาธารณะ ที่มหาวิทยาลัยฮิโตสุบาชิ (Hitotsubashi University) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

จากนั้นก็ไปร่วมประชุมเรื่องเศรษฐกิจ ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เลยไม่ได้อยู่เมืองไทยในช่วงเทศกาลของเรา แต่ก็ส่งใจตลอด ด้วยความปีติยินดีในช่วงเวลาที่เป็นมงคลของประเทศ

คำถามที่มีมากขณะนี้คือ ทำไมเศรษฐกิจ โลกมีปัญหามาก ทั้งเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน กรณีเบร็กซิท (Brexit)ที่รัฐบาลอังกฤษยังนำเรื่องเข้าสภาไม่ได้ รวมถึงกรณีประท้วงที่ฝรั่งเศส ที่ขณะนี้ได้แพร่ไปหลายประเทศในยุโรป กระทบธุรกิจและการท่องเที่ยว และดูจะเป็นเรื่องใหญ่ ตลาดหุ้นก็ปรับตัวด้วยความผันผวนรับข่าวและสถานการณ์ดังกล่าว แสดงแนวโน้มอ่อนตัวต่อเนื่องจากที่ได้ปรับลดลงตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. ในหลายตลาดทั่วโลกรวมถึงไทย ราคาหุ้นได้ปรับลดลงต่ำกว่าระดับเปิดตลาดตอนต้นปี อาทิตย์ก่อนได้ให้สัมภาษณ์วิทยุเอฟเอ็ม 105 ในรายการของคุณศลิลนา ภู่เอี่ยม เป็นการสัมภาษณ์ตามปกติ ช่วงวันจันทร์เช้า ก็ได้คุยกันเรื่องนี้และสัญญาว่าจะเขียนเรื่องว่า ทำไมหุ้นตก วันนี้ก็เลยจะเขียนเรื่องนี้

การอ่อนตัวของตลาดหุ้นทั่วโลกตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. สะท้อน 3 ปัจจัยที่กระทบการตัดสินของนักลงทุน คือ ปัจจัยแรก เรื่องเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลกขณะนี้ขยายตัว ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และอยู่ในแนวโน้ม ที่จะชะลอตัวจากนี้ไป อยู่ในขาลงของวัฏจักรเศรษฐกิจ เพราะปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เคยมีได้ลดบทบาทลง ทำให้พื้นฐานของเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงเทียบกับเมื่อ 6 เดือนก่อนหน้า

ปัจจัยสนับสนุนที่หายไปหรือเปลี่ยนไปคือ อัตราดอกเบี้ยที่จะเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่จะมีต่อ แม้อาจจะไม่มากหรือเร็วเท่ากับที่ตลาดเคยคาดไว้ ทำให้ต้นทุนการเงิน ในระบบเศรษฐกิจโลกจะสูงขึ้นอีก การค้าโลก ที่ชะลอตัวลงจากผลของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ และราคาน้ำมันที่ผันผวน ตามมาตรการไม่ค้าขายกับอิหร่าน และการลดเป้าการผลิตของกลุ่มโอเปค การปรับขึ้น ของอัตราดอกเบี้ย ทำให้วัฏจักรหนี้ในระบบ การเงินโลกเปลี่ยนจากขาขึ้นของการสร้างหนี้ ผ่านระบบการเงินที่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย มาเป็นขาลงของการลดหนี้ (Deleveraging) จากที่ภาระชำระหนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งหมายถึงการชะลอตัว ของการใช้จ่าย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การขยายตัว ของเศรษฐกิจโลกชะลอ กระทบความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

การเปลี่ยนจากวัฏจักรขาขึ้นของ เศรษฐกิจโลกมาเป็นขาลงเป็นเรื่องปกติ ที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวเปลี่ยนมาเป็นการชะลอตัว ก่อนที่จะกลับมาเป็นขยายตัวใหม่ คราวนี้ก็เช่นกัน แต่ที่มักจะก่อให้เกิดปัญหาก็คือผลที่จะมีต่อประเทศตลาดเกิดใหม่จากกระบวนการลดหนี้ที่มักสร้างปัญหาให้กับเสถียรภาพเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะในประเทศที่มีหนี้มากจากผลกระทบของเงินทุนไหลออก ค่าเงินที่ อ่อนลง และอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ปรับ สูงขึ้น ทำให้ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดปัญหา หนี้เสียที่อาจบานปลายเป็นปัญหาเชิงระบบ ในคราวนี้มีหลายประเทศช่วงกลางปีนี้ที่ได้รับแรงกดดันมากจนเกิดปัญหาชำระหนี้ เช่น ตุรกี อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ จนมีความเป็นห่วงว่าอาจเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจได้ แต่ขณะนี้ค่าเงินของประเทศเหล่านี้ ได้กลับมาแข็งค่าขึ้นจากที่การส่งออกปรับตัวดีขึ้น หลังการอ่อนตัวของค่าเงิน ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจดูดีขึ้น แต่ก็ยังเป็นความเสี่ยงอยู่

แต่ที่เป็นห่วงกันมากคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกคราวนี้อาจนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (recession) เพราะคราวนี้มี 2 ปัจจัยที่จะสร้างความเสี่ยงเพิ่มเติมให้กับเศรษฐกิจโลกช่วง ขาลง ปัจจัยแรกคือทั้งสหรัฐและจีนที่เป็นเศรษฐกิจอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก มีสัดส่วนรวมกันประมาณ 1 ใน 3 ของ จีดีพีโลก กำลังชะลอตัวลงพร้อมกันจากผลของสงครามการค้า

ล่าสุดข้อมูลไตรมาส 3 ชี้ว่าทั้งจีน และสหรัฐมีการขยายตัวลดลง เมื่อ 2 ประเทศนี้ชะลอและไม่มีประเทศไหน หรือภูมิภาคไหนมาทดแทนเป็นหัวขบวน ให้กับเศรษฐกิจโลกได้ โอกาสที่การชะลอตัว จะนำไปสู่ภาวะถดถอยก็มีสูง

ปัจจัยที่ 2 คือ ปัญหาการเมืองและปัญหาภูมิศาสตร์การเมืองที่มีมากขณะนี้ในเศรษฐกิจโลก ทำให้ความไม่แน่นอนด้านนโยบายมีสูงมาก อันดับแรกคือสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ที่ได้กลายเป็นข้อพิพาททางการเมืองไปแล้ว ทำให้การหาข้อยุติจะยากและใช้เวลา เพราะจะมาจากการต่อรองทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทและในทางการเมืองก็ได้บานปลายไปกระทบภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น กรณีของบริษัทแอ๊ปเปิ้ล และบริษัทหัวเว่ย ที่ผู้บริหารถูกสหรัฐเรียกให้ตำรวจแคนาดาจับกุม

ปัญหาเบร็กซิท (Brexit) เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นความไม่แน่นอน เพราะไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร หลังมีการเลื่อนการลงมติ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกไป ทำให้รูปแบบการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษยังไม่มีข้อตกลงชัดเจน

และล่าสุด กรณีประท้วงที่ฝรั่งเศส โดยกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองที่สะท้อนปัญหาของ ชนชั้นกลางฝรั่งเศสที่มาตรฐานความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันตกต่ำลงจากนโยบายของรัฐและผลของโลกาภิวัตน์ การประท้วงกำลังลามไปในประเทศอื่นๆ ในยุโรป เช่น เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ชี้ถึงความเปราะบางของการเมืองในยุโรปขณะนี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะใช้เวลาในการแก้ไข ทำให้ปีหน้าความเสี่ยงด้านการเมืองจะเป็นปัจจัยลบสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้ความไม่แน่นอนด้านนโยบายจะมีต่อเนื่อง กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน สร้างข้อจำกัดให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจ และกดดันตลาดหุ้นให้ปรับลดลง

สำหรับในแง่ตลาดหุ้นเอง เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอและมีความเสี่ยงที่อาจถดถอยในปีหน้า สร้างแรงกดดันต่อกำไรของบริษัท ทำให้มูลค่าหุ้น (Valuation) ซึ่งปีที่แล้วปรับขึ้นสูงมาก ขณะนี้ดูจะสูงไปเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนไป กดดันให้ราคาหุ้นปรับลดลง และการปรับลดคงมีต่อถ้าเศรษฐกิจโลกอ่อนตัวต่อเนื่อง

นี่คือ 3 ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือภาวะตลาดที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลก อ่อนตัวลง และคงจะอ่อนตัวต่อไป นี่คือข้อคิดที่อยากจะฝากไว้

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต โดย ดร.บัณฑิต นิจถาวร

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646152

ความคืบหน้า:
- หุ้นสหรัฐฯดิ่งหนัก "ดัชนีเอสแอนด์พี" แตะจุดต่ำสุดในรอบ 14 เดือน
https://www.voathai.com/a/us-stocks-plunge-/4705167.html


ติดตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้
สนใจเรียนรู้การเป็นTrader กับกูรู คลิ๊ก


 

0 Share