เหลืออีกเพียงไม่ถึง 1 สัปดาห์ ก็จะส่งท้ายปีเก่า 2018 เข้าสู่ปีใหม่ 2019 กันอย่างเป็นทางการกันแล้ว แต่ดูเหมือนบรรยากาศในตลาดทุนโลก เวลานี้จะไม่อยู่ในโหมดพร้อมรื่นเริงกัน เท่าไร เพราะกำลังเผชิญมรสุมข่าวร้ายที่ทำให้ดัชนีหุ้นหลายแห่งทั่วโลกเข้าสู่ "ตลาดหมี" หรือภาวะที่หุ้นดิ่งลงไป 20% จากราคาปิดสูงสุดครั้งก่อนไปเรียบร้อยแล้ว

ซีเอ็นเอ็นมันนี่ ระบุว่า ขณะนี้มีหุ้น 8 ตัวเด่นๆ ทั้งในตลาดเกิดใหม่และตลาดประเทศพัฒนาแล้วที่เข้าสู่ภาวะตลาดหมีในเชิงเทคนิคไปเรียบร้อย

ตั้งแต่เซี่ยงไฮ้ ไปจนถึงโตเกียว แฟรงก์เฟิร์ต และมิลาน ซึ่งอาจ เรียกได้ว่าเป็นภาวะตลาดหมีโลกได้แล้ว หลังจากที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะขาขึ้นมาตลอดหลายปี โดยเฉพาะ ในปี 2017 ที่ผ่านมา

และที่สำคัญ ตลาดสหรัฐเอง ก็ยังร่วมเป็นส่วนสำคัญในศึกเดือนแดงเดือดนี้ด้วย นำโดยดัชนี แนสแด็ก คอมโพสิต (Nasdaq Composite) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ดัชนีตลาดหลักของสหรัฐที่เข้าสู่ภาวะตลาดหมีไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากมีราคาดิ่งลงไปรวม 21.9% นับตั้งแต่ราคาปิดสูงสุด เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา และเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ภาคการเงินเมื่อปี 2008 ที่ดัชนีแนสแด็กเข้าสู่ภาวะตลาดหมี

การดิ่งลงของดัชนีแนสแด็กเป็นตัวสะท้อนสำคัญว่าหุ้นกลุ่มอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีหลัก 5 ตัวในกลุ่ม FAANG คือ Facebook Apple Amazon Netflix และ Google กำลังอ่อนแรงลง หลังจากที่เป็นหัวหอกนำการวิ่งขึ้นในสหรัฐมาหลายปี ซึ่งยิ่งตอกย้ำความกังวลว่า ภาวะตลาดกระทิงที่ราคาวิ่งขึ้นติดต่อกันมาหลายปีสูงสุดในหน้าประวัติศาสตร์ของสหรัฐอาจปิดฉากลงในเร็วๆ นี้

ส่วนอีก 2 ดัชนีตลาดหลักในสหรัฐก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าจับตาไม่น้อยไปกว่ากัน โดยดัชนีอุตสาหกรรมเฉลี่ยดาวโจนส์ร่วงลงไปรวม 16.3% นับจากราคาปิดสูงสุดเมื่อวันที่ 3 ต.ค. ส่วนดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงไปรวม 17.5% จากราคาปิดวันที่ 20 ก.ย. ซึ่งดัชนีหลายตัวหรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึงกว่า 60% ในกลุ่ม S&P 500 นั้นมีราคาดิ่งไปทะลุ 20% หรือเข้าสู่ Bear Markets ไปเรียบร้อยแล้ว

ปีเตอร์ แฮร์ริสสัน ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทจัดการ หลักทรัพย์ชโรเดอร์ ให้เหตุผลว่า การ ที่ตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ทั่วโลก ส่วนใหญ่ต่างดิ่งลงในปีนี้ เป็นเพราะกำลังเจอกับสถานการณ์ยำใหญ่ของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตั้งแต่การขึ้นดอกเบี้ยหลายระลอก ไปจนถึงปัจจัยการเมือง เช่น เบร็กซิต รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และปัจจุบันยังมีความเสี่ยงเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจโลกอ่อนแรงลงมากดดันเพิ่มด้วย

เหล่านี้ยังไม่รวมปัจจัยการเมืองภายในอย่างภาวะชัตดาวน์ ที่รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขัดแย้งกับสภาคองเกรสในเรื่องงบประมาณสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐ จนเรื่องไปค้างที่วุฒิสภา และยังไม่มีทีท่าว่า จะผ่านงบได้ภายในปีนี้ ทั้งที่พรรค รีพับลิกันครองเสียงส่วนใหญ่ทั้งในสภาสูงและสภาล่าง

นีล เชียร์ริง หัวหน้านักเศรษฐ ศาสตร์จากแคปิตัล อีโคโนมิกส์ มองว่า ทิศทางเศรษฐกิจปีหน้ามีแนวโน้มจะยิ่งท้าทายมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นอีกเหตุผลที่มีน้ำหนักต่อตลาดทุนในเวลานี้ และยังคาดว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นโลกในปีหน้าจะน่าเหนื่อยยิ่งกว่า

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้จึงมีการคาดการณ์กันว่า เดือน ธ.ค. 2018 อาจทุบสถิติเป็นเดือนธันวาทมิฬ ที่ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์และดัชนี เอสแอนด์พี 500 ทำผลงานได้แย่ที่สุด นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปี 1931 เป็นต้นมา

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายกำลังจับตาว่า ภาวะตลาดหมีที่ว่านี้อาจขยายวงลุกลามต่อไปอีกระยะ หรืออย่างน้อยที่สุดตลาดหุ้นสหรัฐก็มีสิทธิแย่ ต่อเนื่องไปอีกจนถึงครึ่งปีหน้า จนกว่าดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐจะไต่ไปถึงจุดพีก ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะต้องชะลอการขึ้นดอกเบี้ยลงมาเพราะการอ่อนแรงของเศรษฐกิจโลก

ซีเอ็นบีซี อ้างมุมมองนักวิเคราะห์ของธนาคาร แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ (BofA) ว่า ภาวะตลาดหมีน่าจะต่อเนื่องไปถึงช่วงครึ่งปีหน้าตามทิศทางการขึ้นดอกเบี้ย แต่สถานการณ์ก็ไม่น่าจะเลวร้ายมากเกินไป เพราะเชื่อว่ายังมีปัจจัยบวก ที่ผลประกอบการบริษัทในกลุ่ม S&P 500 น่าจะสูงสุดทุบสถิติใหม่ และยังมีปัจจัยอัพไซด์อีกเยอะในปีหน้า

ด้านวาณิชธนกิจ โกลด์แมนแซคส์ มีความเห็นสอดคล้องกันว่า เศรษฐกิจสหรัฐปีหน้าจะยังขยายตัว ได้ดีอยู่ จากในปัจจุบันที่ยังโตมาได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น เพราะแม้จะมีปัจจัยลบ โดยเฉพาะเรื่องการเมืองมาฉุดความเชื่อมั่นไปมาก แต่โดยพื้นฐานแล้วสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง นำโดยการเติบโตในไตรมาสนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.7%

สำหรับตลาดเอเชียนั้น บริษัทจัดการหลักทรัพย์เจพีมอร์แกน มองว่า ตลาดหุ้นเอเชียจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้ เพราะพื้นฐานยังแข็งแกร่ง และตลาดมีราคาถูกลงมามากแล้วในปีนี้

ขณะเดียวกัน ปัจจัยดึงดูดฝั่งเอเชียยังเป็นเพราะค่าเงินดอลลาร์ที่จะกลับมาอ่อนค่าลง หลังจากที่เฟดลดการขึ้นดอกเบี้ย และยังเป็นเพราะปัญหาการขาดดุลงบประมาณและ ดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งการที่เงินดอลลาร์มีทิศทางอ่อนค่าลงจะช่วยให้ตลาดในฝั่งเอเชียมีแรงดึงดูดกลับไปลงทุนใหม่ในปีหน้า

ในช่วง 6 เดือนหลังจากนี้ ตลาดจึงยังเต็มไปด้วยความผันผวนจาก ทั้งสงครามการค้าและปัจจัยการเมืองโลก ซึ่งยังมีโอกาสที่จะดิ่งลงอีก แต่ภายใต้พื้นฐานที่ยังแกร่งในเศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐ และโอกาสที่เอเชียจะยังดึงดูดเงินลงทุนได้ ตลาดหุ้น จึงไม่น่าจะกลับมาเลวร้ายเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อนอีกครั้ง

โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ

Source: Posttoday


ติดตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้
สนใจเรียนรู้การเป็นTrader กับกูรู คลิ๊ก


 

0 Share