ข่าวการควบรวมกิจการระหว่าง "ธนาคารธนชาต" และ ธนาคารทหารไทย หรือ "ทีเอ็มบี" น่าจะได้ ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ หลังจากซุ่มเจรจากันมา พักหนึ่งระหว่าง "4 ฝ่าย" คือ "สโกเทียแบงก์" และ "ทุนธนชาต" ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ธนาคารธนชาต กับทาง "ไอเอ็นจีกรุ๊ป" และ"กระทรวงการคลัง"
ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ทีเอ็มบี หากดีลการควบรวมกิจการของ "2 แบงก์" นี้ประสบความสำเร็จ จะทำให้ "สินทรัพย์" ของแบงก์ใหม่ที่เกิดจาก การควบรวมกิจการเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 1.8 ล้านล้านบาท กลายเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และ จะมีขนาดสินทรัพย์ไล่จี้ "แบงก์อันดับ 5" ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ชนิดหายใจรดต้นคอ โดยปัจจุบัน ธนาคารกรุงศรีฯ มีสินทรัพย์รวมอยู่ราวๆ 2 ล้านล้านบาท
กระแสข่าวการควบรวมกิจการของ 2 แบงก์นี้ ถูกจุดประกายโดย "ธนาคารธนชาต" ซึ่งแสดงความสนใจที่จะขอ ควบรวมกิจการกับทาง "ทีเอ็มบี" ซึ่ง ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะถ้าย้อนดู "เส้นทางการเติบโต" ของแบงก์พาณิชย์รายนี้ จะพบว่า เกิดจาก การควบรวมกิจการทั้งสิ้น
ธนาคารธนชาต ชื่อเดิมในอดีต คือ บริษัทเงินทุน (บง.) เอกชาติ ซึ่งในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 กระทรวงการคลัง มีนโยบายสนับสนุนการรวมกิจการระหว่าง สถาบันการเงินต่างๆ โดยออกใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) ประกอบการธนาคารพาณิชย์แบบจำกัดขอบเขตธุรกิจให้ แต่หนึ่งในเงื่อนไขของไลเซนส์ดังกล่าว คือ ต้องเป็นสถาบันการเงินที่เกิดจากการควบรวมกัน อย่างน้อย 5 แห่ง และมีเงินกองทุน หลังจากหักสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
"ทุนธนชาต" ซึ่งชื่อเดิมคือ บง.ธนชาต ได้ยื่นขออนุมัติใบอนุญาตประกอบธนาคารพาณิชย์แบบจำกัดขอบเขตธุรกิจจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือนก.พ.2542 โดยมี บง.เอกชาติ เป็นแกนนำในการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่รวมกับสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 4 แห่ง คือ บง.เอ็นเอฟ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์กรุงเทพเคหะ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์สินเคหะการ และ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์วานิช
กระทั่งต่อมาเดือนมิ.ย.2544 ธปท. ได้อนุมัติในหลักการให้จัดตั้งธนาคารที่ จำกัดขอบเขตธุรกิจตามแผนงานที่ทุนธนชาต เสนอมา ซึ่งทุนธนชาตและสถาบันการเงินอีก 4 แห่งข้างต้น ได้ทำการโอนลูกหนี้ปกติ ทั้งหมดจำนวน 16,857 ล้านบาท ไปยัง บง.เอกชาติ และต่อมากระทรวงการคลัง ก็ได้อนุมัติไลเซ่นส์การประกอบการ ธนาคารพาณิชย์แบบจำกัดขอบเขตธุรกิจ ให้แก่ บง.เอกชาติ โดยที่ บง.เอกชาติ ได้คืนไลเซ่นส์ประกอบธุรกิจเงินทุน ให้แก่ทางการ และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "ธนาคารธนชาต"
วันที่ 22 เม.ย.2545 เป็นวันแรกที่ ธนาคารธนชาต เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ณ สิ้นปีนั้น ธนาคารธนชาตมีสินทรัพย์รวมประมาณ 5.13 หมื่นล้านบาทหลังจากนั้นอีก 2 ปี คือในวันที่ 1 มี.ค.2547 ธนาคารธนชาต ได้รับใบอนุญาตประกอบการ ธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ
กระทั่งในปี 2550 ธนาคารธนชาต ได้เข้าซื้อ หุ้นบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินธนชาต เพื่อให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจร ขณะเดียวกันได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับ ธนาคารแห่งโนวาสโกเทีย หรือ "สโกเทียแบงก์" จำนวน 276.26 ล้านหุ้น ถัดมาอีกไม่นาน ทุนธนชาต ได้จำหน่ายหุ้นสามัญของธนาคารธนชาตให้แก่ สโกเทียแบงก์ เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2552 จำนวน 416.52 ล้านหุ้น ทำให้ สโกเทียแบงก์ ถือหุ้นธนาคารธนชาตเพิ่มเป็น 48.99% เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองรองจาก ทุนธนชาตที่ถือหุ้นสัดส่วน 50.92%
หลังจบดีลกับ สโกเทียแบงก์ ได้ไม่นาน กลุ่มทุนธนชาตก็คิดการใหญ่ ด้วยการประกาศเข้าซื้อกิจการ "ธนาคารนครหลวงไทย" จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) ด้วยการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือ ทั้งหมดของธนาคารนครหลวงไทย รวมทั้งสิ้น 99.95% ของจำนวนหุ้นที่ ออกจำหน่ายและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคารนครหลวงไทยในปี 2553
ดีลเข้าซื้อกิจการ ธนาคารนครหลวงไทย ในครั้งนั้น สร้างความฮือฮาในวงการสถาบันการเงินอย่างมาก เพราะนับเป็นดีลที่ "ปลาเล็ก" กิน "ปลาใหญ่" เพราะด้วยขนาดสินทรัพย์ ไม่ว่าจะทั้งจำนวนสาขาและพนักงานของธนาคารนครหลวงไทย มีมากกว่า ธนาคารธนชาต ราวๆ 2 เท่าตัว
ภายหลังการควบรวมของ 2 แบงก์นี้ ส่งผลให้ขนาดสินทรัพย์ของ ธนาคารธนชาต พุ่งปรี๊ดขึ้นมาเป็น แบงก์ที่มีสินทรัพย์สูงสุดเป็นอันดับ 5 ในขณะนั้น โดยมีสินทรัพย์ รวมทั้งสิ้น 8 แสนล้านบาท มีสาขากว่า 677 สาขา มีตู้เอทีเอ็มราว 2,101 เครื่อง และมีลูกค้าราวๆ 4 ล้านราย
การควบรวมกิจการระหว่าง ธนาคารธนชาต และธนาคารนครหลวงไทย ในคราวนั้น ถือเป็นดีลที่สร้างประโยชน์ให้กับ ธนาคารธนชาตอย่างมาก เพราะนอกจาก จะมีขนาดสินทรัพย์ที่ใหญ่ขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ธนาคารธนชาตให้บริการลูกค้าได้อย่างครบวงจรกลายเป็น Universal Banking โดยเฉพาะการให้บริการลูกค้ารายย่อย
เมื่อย้อนดูการเติบโตของ "ธนาคาร ธนชาต" ในช่วงที่ผ่านมา จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้ ธนาคารธนชาต กำลังตกเป็นข่าวเจรจาควบรวมกิจการกับ "ทีเอ็มบี" อีกครั้ง
การควบรวมระหว่าง "2 แบงก์นี้" นอกจากจะทำให้เป็นแบงก์ที่มีสินทรัพย์ใหญ่พอไล่จี้แบงก์อันดับ 5 อย่าง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา แต่ยังเป็นการ "ติดอาวุธ" ให้กับธนาคารธนชาตด้วย เพราะเวลานี้สิ่งที่ธนาคารธนชาตยังขาด คือ เทคโนโลยีดิจิทัลแบงกิ้ง ขณะที่ "ทีเอ็มบี" บุกเบิกเรื่องนี้ มาก่อนหน้าหลายปีแล้ว
ดังนั้นการผสมผสานของทั้ง "ธนาคารธนชาต" และ "ทีเอ็มบี" น่าจะสร้างความตื่นตา ตื่นใจให้กับวงการดิจิทัลแบงกิ้งไม่น้อย
Source: กรุงเทพธุรกิจ