แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2562 หรือปีหมูทอง ที่ไม่น่าสดใส เพราะเจอสงครามการค้า ที่คาดว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีก เพราะสหรัฐกับจีนยังไม่มีทีท่าจะจับมือกันได้ง่ายๆ ทำให้เครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อย่างการส่งออกลดความร้อนแรง

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2562 ผลกระทบจากสงครามการค้าของสหรัฐกับจีนจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น และถ้าหากส่งผลยืดเยื้อถึงสิ้นปีจะกระทบการส่งออกของไทยไปตลาดโลกเป็นมูลค่าราว 2,400-2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.5-0.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยธุรกิจไทยในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติกผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก รถยนต์ และส่วนประกอบที่เกี่ยวเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตหรือจีดีพี อยู่ที่ระดับ 4.0 ซึ่งต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนมาช่วยเสริม เพื่อให้สามารถชดเชยโมเมนตัมของภาคต่างประเทศที่ผ่อนแรงลงได้

การส่งออกที่ชะลอตัวลง ผสมกับภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ย่อมส่งกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอีด้วย ทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้เอสเอ็มอีเป็นตัวจุดชนวนความคึกคักเศรษฐกิจฐานราก อาจไม่เป็นดังคาด เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเองก็ถูกบีบให้เข้าระบบจากภาครัฐ ผ่านมาตรการเอสเอ็มอีบัญชีเดียว

ขณะที่ผลสำรวจจำนวนเอสเอ็มอีของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ กับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า จากข้อมูลสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานว่ามีจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย มีประมาณ 2.49 ล้านราย

แต่ผลสำรวจจำนวนเอสเอ็มอี พบว่า ยังมีผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย หรือจุลเอสเอ็มอี ที่ไม่มีการจดนับในสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม อีกมากถึง 2.76 ล้านราย ได้แก่ กลุ่มผู้ค้า แผงค้าในตลาด กลุ่มนี้ตกสำรวจอีกกว่า 1.28 ล้านราย กลุ่มหาบเร่หรือแผงลอย อีกกว่า 5.64 แสนราย ยังมีพวกกลุ่มรถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ หรือฟู้ดทรัค รถพุ่มพวงอีกกว่า 9 หมื่นราย กลุ่มร้านค้าออนไลน์ ที่ยังไม่เข้าระบบอีกกว่า 4 แสนราย สรุปว่าจากข้อมูล 2 ส่วน ทำให้รู้ว่ามีจำนวนเอสเอ็มอีไทยในระบบมากกว่า 5.23 ล้านราย

นี่ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของภาครัฐในการสนับสนุน ยกระดับเอสเอ็มอีให้ได้มาตรฐาน เพราะในจำนวนเอสเอ็มอีกว่า 5.23 ล้านราย มีเอสเอ็มอีที่ยอมจดทะเบียนเป็นนิติบุคลลเพื่อเข้าสู่ระบบเพียง 7-8 แสนรายทำให้ยังเหลือเอสเอ็มอีที่ไม่จดทะเบียนอีกกว่า 4.5 ล้านราย เมื่อมาพิจารณารวมกับมาตรการรัฐที่กรมสรรพากร กำหนดให้เอสเอ็มอีต้องเข้าสู่มาตรฐานเอสเอ็มอีบัญชีเดียวที่จะเริ่มใช้ในปี 2562 สำหรับเป็นหลักฐานในการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน จะยิ่งทำให้การเข้าสู่ระบบ ทั้งการขอสินเชื่อ การได้รับประโยชน์จากมาตรการรัฐต่างๆ ของเอสเอ็มอียิ่งห่างไกลออกไป

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ที่ไม่เข้าระบบเพราะมองว่าตัวเองมีหลักประกันไม่เพียงพอ โครงการไม่น่าสนใจ ประวัติการชำระหนี้ไม่ดี ไม่มีแผนธุรกิจ งบการเงินไม่ดี ยิ่งปีหน้ารัฐออกมาตรการเอสเอ็มอีบัญชีเดียวยิ่งสร้างความกังวล และมีโอกาสที่จะหวนกลับไปก่อหนี้นอกระบบได้ง่ายมากขึ้น ประกอบกับปีหน้า เชื่อว่าเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวแม้สัญญาณจะไม่ขึ้นโดดเด่น แต่คาดว่าตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีหน้า เอสเอ็มอีจะเริ่มต้องการเงินสินเชื่อเพื่อเอาไปเป็นทุนหมุนเวียนในการขยายกิจการ พัฒนาคุณภาพสินค้า เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

แต่ปัญหาคือ หากไม่เข้าระบบบัญชีเดียวจะมีสถาบันการเงินไหนกล้าปล่อยกู้ ซึ่งเชื่อว่าในปี 2562 จะเป็นปีแห่งความยากลำบากของเอสเอ็มอี ทั้งขายของไม่ดี เพราะเศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีกำลังซื้อแล้วยังถูกบีบด้วยมาตรการรัฐ ที่ต้องการผลักดันคนเข้าสู่ระบบ เพื่อใช้เป็นฐานภาษีในการหารายได้ในอนาคต เท่ากับว่าถ้าเอสเอ็มอีรายไหนที่ยังละล้าละลังไม่เตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องเอกสารการทำบัญชีที่โปร่งใส และการพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อรองรับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ก็มีโอกาสสูงมากที่จะต้องล้ม หรือปิดกิจการกันไป

ด้าน มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า ในจำนวนเอสเอ็มอีที่ไม่จดทะเบียนกว่า 4.5 ล้านราย ในจำนวนนี้กว่า 80% หรือกว่า 3 ล้านราย เป็นกลุ่มที่ไม่มีความพร้อมในการทำบัญชีเดียว จำเป็นต้องหามาตรการช่วยเหลือ เพื่อรอให้กลุ่มนี้ได้ปรับตัว เพื่อปรับสภาพการทำงาน จากที่ค้าขายด้วยเงินสด ต้องหักทำบัญชี หรือการเดินไปขอจดทะเบียนตั้งเป็นนิติบุคคลเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งการจะช่วยเอสเอ็มอี ยกระดับให้รอดไม่ใช่เพียงการปล่อยสินเชื่อ แต่ต้องให้องค์ความรู้ในการพัฒนาต่อยอดสินค้า และหาช่องทางการตลาดไปด้วย

อย่างไรก็ดี เห็นว่าในช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่จะต้องเข้าสู่ยุค 4.0 รัฐบาลควรให้โอกาสผู้ประกอบการรายกลางรายเล็กปรับตัวมากกว่านี้ เพราะที่ประกาศมา 2 ปี ถือว่ายังอ่อนประชาสัมพันธ์ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ทำให้การค้าการขายไม่คล่องตัว ผู้ประกอบการยังกังวลกับสภาพธุรกิจ ทำให้ยังไม่ตระหนักถึงข้อดีของการเข้าสู่ระบบ และยังไม่มั่นใจว่าเมื่อเข้าสู่ระบบแล้วจะถูกรัฐรีดภาษีแค่ไหนอย่างไร

ก่อนหน้ามีการเสนอให้ขยายเพดานการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต จากปัจจุบันต้องจดทะเบียนภาษีแวตเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี เสนอเพิ่มเป็นเกิน 10 ล้านบาท/ปี แก้ปัญหาผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีแวต เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปัจจุบันมีรายได้อยู่ปีละ 7-8 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ไม่ต้องจดทะเบียนขึ้นภาษีแวต จะต้องเสียภาษีจากการขายจากรายรับ 2% ทดแทน

ทั้งนี้ เห็นว่าการปฏิรูปทั้งระบบควรทำไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดการยอมรับ เพราะหากรัฐบาลต้องการขยายฐานภาษี ด้วยการดึงเอสเอ็มอีเข้าระบบบัญชีเดียว ก็ควรจะได้ข้อสรุปเรื่องการทบทวนเรื่องโครงสร้างภาษีใหม่ให้แล้วเสร็จก่อนด้วยเพราะกฎหมายบางตัวใช้มานานหลายสิบปี อย่าหวังแต่ยอดการดึงคนเข้าระบบ เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าระบบสินเชื่อได้ ก็จะมีปัญหาอื่นตามมาให้รัฐบาลแก้ต่อไป นั่นคือ เรื่องเจ้าหนี้นอกระบบที่จะฟื้นคืนชีพมาอีกครั้งนั่นเอง

โดย กนกวรรณ บุญประเสริฐ
Source: Posttoday

0 Share