"ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์" ยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้ และบริษัทจำนวนหนึ่งที่ย้ายการผลิตไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐในปี 2562

เว็บไซต์นิคเกอิ เอเชียน รีวิว เผยผลสำรวจล่าสุด พบว่าบรรดาผู้เล่นในตลาด บอกว่าความตึงเครียดทางการค้าที่ปะทุรุนแรงขึ้นในปี 2561 ส่อเค้าที่จะส่งผลกระทบ ต่อเนื่องในปีนี้ หลายรายระบุว่า บรรดา ผู้เล่นโทรคมนาคมที่ไม่ใช่สัญชาติจีน เป็นบริษัทที่ต้องจับตา

ในขณะที่สหรัฐเพิ่มความระมัดระวังการผงาดของบริษัทจีนมากขึ้นและความเสี่ยงด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง บริษัทซัมซุงกลายเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากความเคลื่อนไหวของรัฐบาลวอชิงตันและชาติอื่นๆ ที่สั่งห้ามผลิตภัณฑ์จากบริษัทเทเลคอมจีนเข้าประเทศ

คิม ยอง-วู นักวิเคราะห์ของบริษัทเอสเค ซีเคียวริตีส์ ระบุว่า ในส่งเทคโนโลยีไร้สาย "5จี" ที่กำลังมาแรงนั้น การที่สหรัฐและประเทศจำนวนหนึ่งห้ามบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ของจีนสร้างสถานีฐานในประเทศ จะเป็นประโยชน์กับซัมซุง

ซัมซุงผลิตอุปกรณ์เทเลคอมให้กับ "เวอไรซอน คอมมิวนิเคชันส์" ผู้ให้บริการมือถือยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ซึ่งเปิดบริการ 5จีในปีที่แล้ว และคาดหวังที่จะได้รับคำสั่งซื้อจากนอกสหรัฐด้วยเช่นกัน

"ยอดขายในธุรกิจเครือข่ายของ ซัมซุง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสถานีฐานเป็นหลัก มีแนวโน้มที่จะแตะ 4 ล้านล้านวอน หรือ 2 เท่า จากระดับในปี 2560" คิม กล่าว

ในปี 2561 สหรัฐประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 2.5 แสนล้าน ดอลลาร์ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการนำเข้า สินค้ารวมทั้งปีจากจีน นอกจากนั้น รัฐบาลวอชิงตันยังมีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราภาษีนำเข้าหรือขยายขอบเขตประเภทสินค้าที่ถูกเก็บภาษีอีก

สหรัฐอาจเลือกที่จะทำทั้ง 2 อย่าง เนื่องจากกำลังหาทางยกเครื่องพื้นฐานวิธีการ ค้าขายของจีน เช่น บังคับให้ส่งมอบเทคโนโลยีและละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

ชาร์ลส์ เซียว ประธานบริษัทฟูบอน ซีเคียวริตีส์ อินเวสท์เมนท์ เซอร์วิสเซส ของไต้หวัน คาดการณ์ว่าผู้รับจ้างผลิตหลายรายในไต้หวันจะได้รับผลกระทบ

"บรรดาผู้รับจ้างผลิตของไต้หวันผลิตผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น คอมพิวเตอร์ ส่วนบุคคล (พีซี) และสมาร์ทโฟนในจีน และส่งออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปสหรัฐ พวกเขาจะไม่มีทางหลีกเลี่ยงความเสียหาย นี้ได้"

ฮอนไห่ พรีซิชัน อินดัสทรี หรือ "ฟอกซ์คอนน์ เทคโนโลยี", คอมพาล อิเล็กทรอนิกส์ และควอนตา คอมพิวเตอร์ ต่างอยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้

คาร์เมน ลี หัวหน้าฝ่ายวิจัยของบริษัทโอซีบีซี อินเวสท์เมนท์ รีเสิร์ชของสิงคโปร์ กล่าวว่า บรรดาบริษัทจีนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐอย่างหนัก เช่น เสื้อผ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาจได้รับความเสียหายครั้งใหญ่

พอล คิตนีย์ หัวหน้านักยุทธศาสตร์หุ้นฝ่ายการวิจัยเอเชียแปซิฟิกของบริษัทไดวะ แคปิตัล มาร์เก็ตส์ในฮ่องกง ระบุว่า "แซดทีอี" ผู้ผลิตอุปกรณ์เทเลคอม และ "ทีซีแอล" ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความยากลำบากในปีนี้

"ขณะเดียวกัน หลี่แอนด์ฟุง บริษัทการค้า ในฮ่องกงที่ทำธุรกิจด้านเสื้อผ้าและของใช้ภายในบ้าน ก็อาจจะเป็นผู้ได้รับความเสียหาย อีกรายในอนาคต" คิตนีย์ กล่าว

ขณะที่ เซียวจากฟูบอน ซีเคียวริตีส์ คาดว่าบรรดาผู้ผลิตเสื้อผ้าที่ย้ายฐานการผลิตไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้ม ที่จะรอดพ้นจากความเสียหายหนัก

หนึ่งในนั้นคือ "เอคลาต์ เท็กซ์ไทล์" (Eclat Textile) ผู้ผลิตเสื้อผ้าของ ไต้หวัน ซึ่งถอนการผลิตจากโรงงาน ในจีนเมื่อสิ้นปี 2559 เนื่องจากมีการขึ้นค่าแรง และย้ายฐานไปยังเวียดนาม และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้

ซัพพลายเออร์รายนี้ซึ่งผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ "ไนกี้" "อาดิดาส" และ "อันเดอร์ อาร์เมอร์" ต้องวุ่นกับการตอบคำถามจากลูกค้าที่ต้องการเลี่ยงความเสี่ยงจากสงครามการค้า

เทรเวอร์ คาลซิก หัวหน้าฝ่ายการ วิจัยหุ้นอาเซียน ของบริษัทโนมุระ ซีเคียวริตีส์ กล่าวว่า หากการเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้กันระหว่างสหรัฐกับจีนส่งผลกระทบต่อการส่งออกระหว่างทั้ง 2 ประเทศเสียเอง จะทำให้การส่งออก จากประเทศและภูมิภาคอื่นๆ ไปยังสหรัฐและจีนเพิ่มขึ้น และบรรดาบริษัท ในอาเซียนอาจกลายเป็นผู้ชนะไปโดยปริยาย

"หนึ่งในนั้นรวมถึง ปิโตรนาส เคมิคอล กรุ๊ป ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ของมาเลเซีย ผู้ได้รับประโยชน์รายอื่นๆ คาดว่าจะเป็นบริษัทเอสซีจี ของไทย ที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายทั้งด้านก่อสร้างและอุตสาหกรรม"

ขณะที่คิตนีย์จากบริษัทไดวะ คาดว่า บริษัทไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชัน ของจีนจะเป็น "ผู้ชนะ" ในปี 2562 เนื่องจากรัฐบาลปักกิ่ง มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นการลงทุนด้านทางรถไฟ ถนน และโครงการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ด้วย การไฟเขียวการออกพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น

นอกจากนั้น สงครามการค้าระหว่างจีน กับสหรัฐจะมีผลในวงกว้าง แม้กระทั่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการค้าโดยตรงกับ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่นี้

มานิช กุนวานี หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของบริษัทรีไลแอนซ์ นิปปอน ไลฟ์ แอสเซต แมเนจเมนท์ ระบุว่า ทาทา คอนซัลแทนซี เซอรวิสเซส บริษัทผู้ให้บริการด้านไอทีชั้นนำของอินเดีย มียอดขาย กว่าครึ่งหนึ่งในอเมริกาเหนือ แต่หากบริษัท สหรัฐลดการลงทุนด้านไอทีลง จะส่งผลตรงกันข้ามต่อบริษัทนี้

บรรดานักวิเคราะห์ชี้ว่าบริษัทอื่นๆ ที่ต้องจับตาคือบริษัทในอินเดียที่อาศัย การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูง ของประเทศ บริษัทในหลายภาคอุตสาหกรรม เช่น พลังงานไฟฟ้า ซึ่งพยายามอย่างหนักเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ กำลังได้รับความสนใจ

Source: กรุงเทพธุรกิจ

- Trade war stands to help Samsung and hurt Foxconn in 2019
https://asia.nikkei.com/…/Trade-war-stands-to-help-Samsung-…

0 Share