ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประเมินภาพเศรษฐกิจโลกแม้มีแนวโน้มชะลอตัว แต่ไม่น่าห่วง เนื่องจากเป็นการชะลอตัว จากการเติบโตในระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในระดับ 4% แต่ยอมรับความเสี่ยงด้านต่ำมีมากขึ้น ยืนยันพร้อมใช้เครื่องมือดูแลหากเศรษฐกิจไม่เติบโตตามที่คาดการณ์เอาไว้

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่ง ประเทศไทย(ธปท.) ตอบคำถามในการประชุมนักวิเคราะห์เพื่อสรุปแนวโน้มเศรษฐกิจและ นโยบายการเงินรายไตรมาสวานนี้(10ม.ค.) โดยมีผู้ตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและการทำ นโยบายการเงินในระยะข้างหน้าหรือไม่.. ซึ่ง "วิรไท" ระบุว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ถือเป็นการชะลอตัวลงจากจุดที่สูง ไม่ใช่จุดที่เศรษฐกิจแย่ จึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวล

เขาระบุว่า ถ้าดูเศรษฐกิจสหรัฐ จะเห็นว่าอัตราการว่างงานต่ำสุดรอบหลายสิบปี การจ้างงานปรับขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปก็เริ่มเห็นการกระจายตัวมากขึ้น และแม้จะมีสัญญาณว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ไม่ได้หมายความว่า เฟด จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยเลย เพียงแต่อาจขึ้นได้น้อยกว่าที่เคยประเมินกันไว้

ดังนั้นเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยของไทย ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ไปที่ระดับ 1.75% ก็ไม่ได้เป็นจุดที่น่าตกใจ เพราะไม่ได้ขึ้นจากจุดที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง แต่ขึ้นมาจากระดับที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก และต่ำมานาน ดังนั้นธปท.ยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ก็ยังขยายตัวอยู่ในคาดการณ์ที่ประเมินไว้ที่ระดับ 4 % ได้

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านต่ำมากขึ้น ดังนั้นเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งธปท.ก็ต้องมีเครื่องมือ ที่พร้อมใช้ หากคิดว่าเกิดผลกระทบในระยะข้างหน้า ดังนั้นหลักการสำคัญที่กนง.ใช้พิจารณาคือ Data Dependent

"เรายังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวสอดคล้องกับศักยภาพ แต่ความเสี่ยงด้าน ต่ำมากขึ้น เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ และ ด้วยเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิด อาจมีปัจจัยภายนอก หลายๆ รูปแบบ เข้ามากระทบที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นเราเชื่อว่าเรามีเครื่องมือหลากหลายที่พร้อมดูแลเศรษฐกิจได้หากไม่เป็นไปตามเบสไลน์ที่คาดไว้" นายวิรไทกล่าว

ส่วนการมีขีดความสามารถ(Policy space) ในการทำนโยบายการเงิน กรณีนี้ ต้องย้ำว่า ไม่ได้ตั้งเป้าว่า Policy Space ที่ เหมาะสม หรือควรเป็นเท่าไหร่ เพราะ Policy Space ไม่ใช้เป้าหมายหลัก ในการพิจารณาของกนง.ในช่วงที่ผ่านมา แต่หากถึงจุดที่คิดว่าเป็นโอกาส ก็สามารถสะสม Policy Space ได้ แต่การใช้นโยบาย การเงินที่ผ่อนคลายยังเป็นสิ่งที่กนง. มองว่ายังจำเป็นในภาวะปัจจุบัน

นอกจากนี้ ด้านเสถียรภาพการเงิน ยังเป็น ประเด็นที่ต้องติดตาม แม้ปัจจุบันเสถียรภาพระบบการเงินจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น ชัดเจน จากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมานาน ซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น จนประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร เช่นการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จากการก่อหนี้ของประชาชนที่มีการก่อหนี้มากขึ้น เพื่อการบริโภค

ทั้งนี้จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมานาน จึงไม่จูงใจในการออม ทำให้เห็นการเข้าไปลงทุนในธนาคารเงา หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ มากขึ้น ซึ่งวันนี้พบว่า เงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ปรับขึ้นต่อเนื่อง คิดเป็นราว 10 % หากเทียบเงินฝากในระบบการเงินไทย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ยังทำให้เกิดพฤติกรรมการออกพันธบัตรที่ไม่มีการจัดอันดับที่มีปัญหาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

หรือเกิดพฤติกรรมการปล่อยสินเชื่อ ให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันกันสูง ผ่านการให้สินเชื่อ ระยะสั้น(บิดดิ้งโลน) และไประดมทุนผ่านตราสารหนี้ เหล่านี้ถือเป็นความเสี่ยงมากขึ้น

ส่วน กรณีที่ดัชนีค่าเงินบาท(NEER) ของไทยในปัจจุบันแข็งค่าขึ้น หากเทียบกับคู่ค้าคู่แข่ง และดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องนั้น เชื่อว่าหากการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งการลงทุนของ ภาครัฐ เอกชน อาจทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในระยะข้างหน้าปรับลดลงได้ ซึ่งเป็นไปตามประมาณการธปท. ที่คาดว่าดุลบัญชี เดินสะพัดปีนี้น่าจะเกินดุลน้อยลง หาก เทียบกับปี 2561 ดังนั้นเหล่านี้น่าจะลดแรงกดดันของค่าเงินบาทที่แข็งค่าลงได้ในระยะข้างหน้า

ขณะเดียวกันที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำสุดหากเทียบกับอาเซียน ปัญหาหลักๆ มาจากเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่สามารถแก้ไขด้วยการ กระตุ้น แต่ต้องไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่อาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปรับตัวดีขึ้นตามศักยภาพ

หากดูด้านเงินเฟ้อ ที่มีทิศทางชะลอตัวลง เชื่อว่าธนาคารกลางทั่วโลกเห็นทิศทาง ดังกล่าว จึงเห็นการปรับเงินเฟ้อของธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ไปสู่กรอบ เป้าหมายเงินเฟ้อที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ใน หลายมิติ ทั้งการหันมาใช้กรอบเงินเฟ้อ มากขึ้น มากกว่าการระบุเงินเฟ้อแบบ เจาะจง รวมถึงมีการปรับกรอบเงินเฟ้อ แบบมีระยะเวลาการเข้ากรอบนานขึ้น และหันไปใช้กรอบปานกลางมากขึ้น เช่นเดียวกันไทย ที่ปัจจุบันมีการใช้กรอบเงินเฟ้อเป็น กรอบ ที่เป็นทั้งปีปฏิทินและกรอบเงินเฟ้อระยะปานกลาง

ทุกธนาคารกลางตระหนักดีว่า พัฒนา การเงินเฟ้อในโลกเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างไปมาก ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วน กระทบ ทำให้เงินเฟ้อมีทิศทางลดลง แต่ เทคโนโลยียังมีผลต่อทุกอุตสาหกรรม และ เปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมต่างๆ ไป ค่อนข้างมากทั้งภาคเกษตร ราคาพลังงานต่างๆ ดังนั้นเรื่องพัฒนาการเงินเฟ้อ จึงต้อง ทำความเข้าใจมากขึ้น

ทั้งนี้ จากเงินเฟ้อที่มีทิศทางต่ำลง เชื่อว่าไม่มีผลที่ทำให้คนมีพฤติกรรมเปลี่ยน หรือทำให้เกิดการชะลอการจับจ่ายใช้สอย จนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะเงินเฟ้อที่ระดับต่ำ มาจากราคาพลังงานเป็น ส่วนใหญ่ ดังนั้น เมื่อเงินเฟ้ออยู่ใกล้กรอบล่างของกรอบเงินเฟ้อ จึงเชื่อว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่สิ่งที่กังวล คือหากเงินเฟ้อขึ้นไปติดเพดานของกรอบเงินเฟ้อขั้นสูง เหล่านี้อาจส่งผลต่อศักยภาพเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าได้

นอกจากนี้ "วิรไท" ยังตอบคำถาม ถึงกรณีที่มีการสอบถามเหตุใด จึงไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ กนง. ที่ลงคะแนนเรื่องดอกเบี้ยว่าใครโหวตอย่างไรบ้างว่า.. ประเด็นนี้ เคยหยิบยกขึ้นหารือในที่ประชุม กนง. เช่นกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าบริบทของสังคมไทยเหมาะที่จะเปิดเผยรายละเอียดต่างๆผ่านในรูปแบบคณะกรรมการ มากกว่า การแสดงความเห็นจากแต่ละบุคคล เนื่องจากคณะกรรมการสามารถถกเถียงประเด็นต่างๆ ได้อิสระ และไม่มีแรงกดดันในการพิจารณาเรื่องต่างๆ

หากเปิดเผยรายชื่อความเห็นของคณะกรรมการ อาจสร้างแรงกดดันต่อคณะกรรมการได้ และแรงกดดันใน การดำเนินนโยบายการเงินอาจตกไปอยู่ที่คณะกรรมกนง.แต่ละท่านได้

Source: กรุงเทพธุรกิจ

0 Share