"สิงคโปร์" อาจเป็นเพียงประเทศขนาดเล็ก และมีประชากรเพียง 5.6 ล้านคน แต่นับเป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านการเงินของเอเชีย และเป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านการค้าของโลก

โดยการตัดสินใจล่าสุดของ "ไดสัน" (Dyson)ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าจากอังกฤษ ที่จะย้ายสำนักงานใหญ่จากอังกฤษมายังสิงคโปร์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ยิ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้เห็นว่าสิงคโปร์ยังคงเป็นแหล่งน่าดึงดูดสำหรับธุรกิจท่ามกลางความปั่นป่วนทั่วโลก

ไดสัน ระบุว่า บริษัทจะย้ายสำนักงานใหญ่มายังสิงคโปร์เพื่อให้ความสำคัญกับเอเชีย ภูมิภาคที่สร้างรายได้หลักให้กับ ไดสัน พร้อมระบุว่าจะให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนามากขึ้น และลงทุนอีกหลายร้อยล้านปอนด์ในด้านหุ่นยนต์ รวมถึงบุกธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) อย่างจริงจัง หลังประกาศตั้งโรงงานผลิตอีวีแห่งแรกของบริษัทในสิงคโปร์ เมื่อเดือน ต.ค.

ซงเซงวุน นักเศรษฐศาสตร์ของ ซีไอเอ็มบี ไพรเวทแบงกิ้ง ในสิงคโปร์ กล่าวว่า สิงคโปร์ยังดึงดูดธุรกิจทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่องแม้ต้นทุนแพง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่แน่นอนทางการเมืองทั่วโลกที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ขณะที่บลูมเบิร์ก รายงานว่า สิงคโปร์มีหลากหลายปัจจัยที่เอื้อต่อธุรกิจ ซึ่งเริ่มปรากฏชัดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจทั่วโลกเสี่ยงเข้าภาวะขาลง

อย่างไรก็ดี สงครามการค้าที่ฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกก็ส่งผลกระทบถึงสิงคโปร์เช่นกัน เนื่องจากเป็นหนึ่งในชาติที่พึ่งพาการส่งออกมากที่สุดในโลก โดยเศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 2018 ขยายตัว 3.3% ลดลงมาจากการขยายตัวที่ 3.6% ในปี 2017 เช่นเดียวกับยอดส่งออกที่ลดลง 8.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นการลดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบมากกว่า 2 ปี อีกทั้งสิงคโปร์ยังต้องเผชิญความท้าทายเรื่องประชากรสูงวัย การขาดแคลนแรงงาน ค่าครองชีพสูง และกฎหมายต่อต้านเกย์

ภาษี-เอฟทีเอ เอื้อธุรกิจ

มาตรการ "ภาษี" ของสิงคโปร์นับเป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบที่มีความโดดเด่นกว่าชาติอื่น โดยบริษัทตรวจสอบบัญชี เคพีเอ็มจี เปิดเผยว่า อัตราภาษีนิติบุคคลของสิงคโปร์อยู่ที่ 17% และภาษีเงินได้อยู่ที่ 22% นับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นมิตรต่อธุรกิจมากที่สุดในโลก ส่วนอังกฤษ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่เดิมของ ไดสัน เพิ่งปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลมาอยู่ที่ 19% ในเดือน เม.ย. 2017 และจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 17% ในปี 2020

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงแผนลดภาษีเพิ่มสำหรับบริษัทที่ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และยังคงมีขีดความสามารถแข่งขันในระดับโลก แม้ว่ารัฐบาลสิงคโปร์กำลังปรับขึ้นภาษีเพื่อรับมือกับประชากรสูงวัยก็ตาม

ความสัมพันธ์ทางการค้าก็เป็นอีกข้อได้เปรียบของสิงคโปร์ โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า สิงคโปร์อยู่ในข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทั้งหมด 22 ฉบับ ในปี 2017 และยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ชาติที่มีเอฟทีเอกับ 2 ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง สหรัฐและจีน เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (อียู) นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังอยู่ในข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) หรือทีพีพีใหม่ ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อไม่นานมานี้ ส่งผลให้สิงคโปร์ได้สิทธิเข้าถึงตลาดญี่ปุ่น แคนาดา และเม็กซิโก

ขณะเดียวกัน บรรยากาศในการทำธุรกิจของสิงคโปร์ก็อยู่อันดับต้นๆ ของโลก เห็นได้จากการติดอันดับต้นๆ ในการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) โดยเฉพาะการครองอันดับ 1 ในด้านการปฏิบัติตามสัญญา และอันดับ 3 ในด้านการเริ่มต้นประกอบธุรกิจ

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังติด 10 อันดับแรกในดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์ก 2019 ซึ่งวัดจาก 7 เกณฑ์ รวมถึงงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา ความสามารถในด้านการผลิต และการให้ความสำคัญกับบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูง

การเมืองในประเทศนิ่ง

นายกรัฐมนตรี ลีเซียนลูง แห่งสิงคโปร์ เคยส่งสัญญาณว่าอาจจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในปีนี้ ก่อนกำหนดเดิมในปี 2021 และเมื่อไม่นานมานี้ ตันเชงบ็อค อดีตสมาชิกพรรคพีเอพี และอดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2011 ได้หวนคืนสู่เวทีการเมืองอีกครั้งด้วยการตั้งพรรคสิงคโปร์ก้าวหน้า (Progress Singapore Party) ซึ่งคาดว่าอาจช่วยฝ่ายค้านได้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป อีกทั้งยังได้รับเสียงสนับสนุนจาก ลีเซียนหยาง น้องชายของลีเซียนลูงอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งอาจไม่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนมากนัก ต่างกับการเลือกตั้งของชาติอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากพรรคกิจประชาชน (พีเอพี) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลมาตลอดตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1965 มีแนวโน้มว่าจะยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป

พรรคพีเอพีได้เปิดตัว เฮงสวีเกียตรัฐมนตรีคลัง ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการพรรคคนที่ 1 เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นการปูทางไปสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปแทนที่ ลีเซียนลูง ในอนาคต และอยู่ภายใต้กลุ่มผู้นำ 4จี หรือกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ของพรรคพีเอพี

Source: Posttoday

0 Share