อาจเรียกได้ว่าเป็นข่าวดีที่สุดของแวดวงเศรษฐกิจโลกในปีนี้ก็ว่าได้ จนทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกบวกยกแผงกันไปเมื่อวานนี้ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) นัดแรกของปี 2019 เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา

มีสัญญาณชัดเจนออกมาว่า ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ครั้งหน้าออกไปยาวๆ

และสิ่งที่แฝงเอาไว้ในการส่งสัญญาณครั้งนี้ด้วยก็คือ นี่อาจเป็น "การยุติวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของเฟด" ก็เป็นได้

สิ่งที่ปรากฏในแถลงการณ์ของเฟดก็คือ เอฟโอเอ็มซีจะใจเย็นต่อการพิจารณาปรับกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยในอนาคตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

แม้จะไม่ถึงขนาดหันหัวเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินแบบ 180 องศา แต่หากเทียบกับสาส์นของการประชุมเอฟโอเอ็มซีครั้งก่อนเมื่อเดือน ธ.ค. 2018 จะเห็นถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจน โดยในครั้งที่แล้ว เฟดเพิ่งส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อไป แต่ในครั้งนี้ไม่มีคำว่า "ขึ้นดอกเบี้ย" ปรากฏให้เห็นแต่อย่างใด

สะท้อนได้ว่า เฟดไม่ได้มุ่งเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว และคงไม่ผิดนักหากตลาดจะตีความว่า นี่คือสัญญาณแตะเบรกยุคดอกเบี้ย ขาขึ้น ซึ่งอาจหมายถึงการชะลอขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหม่ไปยาวๆ จนถึงช่วงครึ่งปีหลังหรือช่วงปลายปี โดยอาจปรับลดการขึ้นดอกเบี้ยเหลือเพียง 1 ครั้ง เหมือนที่นักวิเคราะห์บางฝ่ายเคยคาดการณ์เอาไว้ หรือในกรณีที่โลกวุ่นวายเศรษฐกิจเลวร้ายลงมากกว่าที่คาดไว้ ก็อาจแตะเบรกยาวไปทั้งปี หรือไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลยก็อาจเป็นได้

เจอโรม พาวเวลล์ ผู้ว่าการเฟด ส่งสัญญาณระหว่างการแถลงข่าวว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะยังขยายตัวได้ดี แต่การเติบโตที่ชะลอตัวลงในจีนและยุโรป ความเสี่ยงจากเบร็กซิตและสงครามการค้า และผลกระทบของ ภาวะชัตดาวน์ในสหรัฐเองที่ยืดเยื้อมาถึง 5 สัปดาห์ ล้วนเป็นปัจจัยส่งสัญญาณที่สับสนต่อทิศทางในอนาคต

ในภาวะเช่นนี้ การบริหารจัดการความเสี่ยงตามปกติที่ควรจะทำก็คือ ควรใจเย็นอดทนรอดูความชัดเจนก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาผู้กำหนดนโยบายล้วนทำมาก่อนในอดีต และเมื่อถูกถามว่า เฟดยังคงมีธงว่าจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกหรือไม่นั้น สิ่งที่พาวเวลล์ตอบกลับมาก็คือ อยากเห็นความจำเป็น(ปัจจัยหนุน)สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ปัจจัยหลักก็คือภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่เป็นตัวตัดสิน แต่ก็ยังเป็นปัจจัยหลักที่มีน้ำหนักสำคัญอยู่

นอกจากอัตราดอกเบี้ยแล้ว เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่เฟดส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็คือ "งบดุล" (Balance Sheet) ที่เฟดระบุว่าได้เตรียม พร้อมสำหรับทุกการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด สำหรับกระบวนการปรับลดขนาดงบดุลให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติ ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและการเงินที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

นั่นหมายความว่า จากเดิมที่เคยประกาศไว้ว่าจะลดขนาดงบดุลให้กลับมาสู่ภาวะปกติ เฟดได้เปิดช่องสำหรับ "แตะเบรก" การลดงบดุลลงด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ การใช้มาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) มหาศาลถึง 3 ครั้ง นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ทำให้งบดุลของเฟดโป่งถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

และทำให้ต้องปรับงบดุลให้กลับมาเป็นปกติไปพร้อมกับการขึ้นดอกเบี้ย การลดงบดุลของเฟดหลักๆ มี 2 ทาง คือ 1.ไม่โรลโอเวอร์ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนและไม่ซื้อเพิ่ม 2.ทยอยขายตราสารหนี้ที่ถืออยู่ออกไป ซึ่งการลดงบดุลเช่นนี้จะทำให้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หรือดอกเบี้ย กู้ยืมในตลาดการเงินที่ต่างจากดอกเบี้ยอ้างอิงของเฟด ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

ไมเคิล กาเพน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารบาเคลย์ส ให้มุมมองกับบลูมเบิร์กว่า สัญญาณใหม่ของเฟดรอบนี้ไม่อาจตีความเป็นอื่นไปได้เลยนอกจากเฟดได้ยอมจำนนต่อตลาดแล้ว และตลาดก็จะตีความสัญญาณล่าสุดว่า วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของเฟดได้หยุดลงแล้ว ซึ่งความเป็นไปได้ที่เฟดจะชะลอการระบายงบดุลนั้นมีมากยิ่งกว่าโอกาสขึ้นดอกเบี้ยเสียอีก

ด้าน เคธี บอสต์ยันซิค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของออกซฟอร์ด อีโคโนมิก มองไปในทิศทางเดียวกันว่า การเปลี่ยนท่าทีในครั้งนี้เป็นเพราะเฟดได้รับบทเรียนจากตลาดทุนโลกมาแล้ว หลังจากที่ตลาดทุนโลกปั่นป่วนอย่างหนักในช่วงปลายปีที่แล้ว ทำให้เฟดต้องออกมาส่งสัญญาณใหม่ว่า พร้อมรับฟังเสียงของตลาดด้วยเช่นกัน

แม้ว่าความเห็นของตลาดทุนส่วนใหญ่จะตีความเอียงไปยังการหยุดขึ้นดอกเบี้ยกันมากสักหน่อย แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์ใหญ่ๆ นอกบ้านสหรัฐในเวลานี้ก็จะเห็นว่า มีน้ำหนักน่าห่วงจริง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจจีน ยุโรป เบร็กซิต และสงครามการค้า

เศรษฐกิจจีนนั้นไม่มีอะไรต้องพูดกันมาก เพราะพิสูจน์จากตัวเลขจีดีพีปี 2018 ที่โตต่ำสุดในรอบ 28 ปีมาแล้ว และมีแนวโน้มที่รัฐบาลประธานาธิบดี สีจิ้นผิง อาจต้องลดกรอบเป้าหมายจีดีพี ปีนี้ลงจากราว 6.5% มาอยู่ที่ 6-6.5% และเตรียมออกมาตรการกระตุ้นใหญ่ระหว่างการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้ เพราะเศรษฐกิจจีนกำลังแย่ลงหลายด้าน ตั้งแต่การผลิต ส่งออก บริโภค ไปจนถึงตลาดการจ้างงาน และยังไม่มีความแน่ชัดว่าการเจรจาการค้ากับสหรัฐจะจบลงด้วยดีหรือไม่

ปัจจัยลบจากจีนนี่เองที่เป็นส่วนสำคัญให้นักค้าเงินคาดการณ์ว่า ค่าเงินในหลายประเทศเอเชียที่กำลังแข็งค่าหนักในวันนี้เมื่อเทียบกับดอลลาร์จะกลับมาอ่อนค่าลงในที่สุดช่วงปลายปีนี้ เช่น เงินบาทไทย จากประมาณ 31.20 บาท/ดอลลาร์ในปัจจุบัน ธนาคารราโบแบงก์ คาดว่าจะอ่อนลงไปแตะ 33.7 บาท/ดอลลาร์ ภายในสิ้นปีนี้

เศรษฐกิจในยุโรปเองก็มีแนวโน้มแย่ลงในปีนี้ โดยการเปิดเผยจีดีพีล่าสุดของกลุ่มประเทศยูโรโซนในปี 2018 พบว่า ขยายตัวได้เพียง 1.8% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์และลดลงมามากเมื่อเทียบกับปี 2017 ที่ขยายตัวได้ 2.3% ขณะที่เศรษฐกิจอิตาลีนั้นได้เข้าสู่ "ภาวะถดถอย" ไปเรียบร้อยเป็นรายแรกแล้ว หลังจากจีดีพีไตรมาส 4 หดตัวต่อเนื่องติดต่อกันมาจากไตรมาส 3

ขณะที่สถานการณ์ "เบร็กซิต" ก็ยังลูกผีลูกคน เพราะแผนเบร็กซิตยังไม่สามารถผ่านสภาอังกฤษมาได้ และมีความเสี่ยงสูงที่จะถึงเส้นตายวันที่ 29 มี.ค.นี้ แบบไม่มีข้อตกลง (โนดีล) ซึ่งจะยิ่งสร้างความวุ่นวายต่อภาคธุรกิจเอกชนและเศรษฐกิจโลกอีก

ภายใต้ความเสี่ยงรายรอบเช่นนี้ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ไม่ขยับเพราะน้ำมัน(สหรัฐ)ท่วมโลกและการบริโภคซบเซา โอกาสที่เฟดจะแตะเบรกยาวจึงมีความเป็นไปได้สูงรับการหันหัวเรือใหม่ในครั้งนี้

โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ

Source: Posttoday

0 Share