ความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการพูดถึงกันมาได้ 1-2 ปีแล้ว เพียงแต่ในช่วงแรกนั้น ปัจจัยความกังวลส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องของวัฏจักรวิกฤตเศรษฐกิจที่มักจะเกิดขึ้นทุกๆ 10 ปี มากกว่าจะเป็นเพราะปัจจัยเสี่ยงจริง ทำให้ยังไม่ค่อยมีใครซื้อไอเดียนี้กันมากนัก
ทว่าสถานการณ์ปัจจุบันกำลังเปลี่ยนจากต้นปี 2018 เหมือนหนังคนละม้วน "สงครามการค้า" ทำให้เศรษฐกิจ "จีน" โตต่ำสุดในรอบ 28 ปี และกำลังกดดันเศรษฐกิจทั่วโลกไปด้วย ส่วนกระบวนการถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป หรือ "เบร็กซิต" ก็ยังลูกผีลูกคนทั้งที่ใกล้งวดเส้นตาย 29 มี.ค. ขณะที่เศรษฐกิจ "ยุโรป" ก็เต็มไปด้วยตัวเลขเชิงลบจนล่าสุด "อิตาลี" ได้ประเดิมเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปก่อนใครแล้ว
การพูดถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในวันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เหมือนเก่า และมีนักเศรษฐศาสตร์ตลอดจนนักลงทุนทยอยออกมาส่งสัญญาณเตือนกันตั้งแต่ปลายปี 2018 ที่ผ่านมา
พอล ครุกแมน เจ้าของรางวัล โนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2008 คือนักเศรษฐศาสตร์รายล่าสุดที่ออกมาตอกย้ำว่า มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในปี 2019 นี้ หรือปีหน้า 2020 เพียงแต่วิกฤต ในครั้งนี้จะต่างไปจากช่วงปี 2008 ที่มีต้นเหตุหลักๆ เรื่องเดียวแล้วระเบิดออกมาเป็นวิกฤตขนาดใหญ่ทั่วโลก เพราะครั้งนี้ปัจจัยต้นเหตุจะกระจัดกระจายออกไป ตั้งแต่ปัญหา ในจีน ยุโรป จนถึงสหรัฐเอง
ครุกแมนกล่าวในงานประชุมสุดยอดรัฐบาลโลกที่ดูไบ ว่า นอกจากเศรษฐกิจจีนและยุโรปที่แย่ลงแล้ว แม้แต่สหรัฐเองก็อาจหนีไม่พ้น โดยอ้างถึงมาตรการลดภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ออกมาในปี 2017 ว่า เป็นนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพ และกลับทำให้เกิดฟองสบู่ขึ้นด้วยซ้ำ แต่แม้ว่าความเสี่ยงวิกฤตรอบนี้อาจไม่ได้ระเบิดออกมาครั้งใหญ่เหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ก็ไม่ได้น่าห่วงน้อยไปกว่ากัน เพราะปัญหาก็คือ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แทบ ไม่เหลือกระสุนที่จะใช้รับมือวิกฤตรอบใหม่แล้ว
แน่นอนว่าการทำนายวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยเป็นเรื่องปราบเซียน และมีการหักปากกาเซียนกันมาหลายคนแล้ว แม้แต่ครุกแมนก็ยังออกตัวว่าไม่ได้แม่นเรื่องนี้มากนัก แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ทยอยออกมาให้ความทำนองนี้อย่างต่อเนื่อง
ในมุมมองอย่างร้ายก็คือ เศรษฐกิจสหรัฐ/โลก มีความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใน 1-2 ปีนี้ ซึ่งฝ่ายที่มีมุมมองสนับสนุนมาด้านนี้ก็เช่น ครุกแมน / เจ้าพ่อเฮดจ์ฟันด์ เรย์ ดาลิโอ จากบริดจ์วอเตอร์ / บิล กรอส จากยานุส แคปิตอล / บริษัทวิเคราะห์มูดีส์ แอนาไลติกส์ ไปจนถึงเจพีมอร์แกน
และในมุมมองอย่างดีก็คือ ไม่ถึงกับเข้าสู่ภาวะถดถอยที่จีดีพีหดตัว 2 ไตรมาสติดกัน แต่เศรษฐกิจโลกจะซึมลงและจะชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งมุมมองหลังนี้เป็นแนวความเห็นของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนำคารโกลด์แมน แซคส์ และนักเศรษฐศาสตร์ที่เคยทำนายวิกฤตปี 2008 เอาไว้อย่าง นูเรียล รูบินี ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลก จะไม่ถดถอย แต่จะเผชิญภาวะซบเซาลงทั่วโลกอย่างพร้อมเพรียงกัน (Synchronised global deceleration)
"ยุโรป" โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยูโรโซน คือโซนที่ใกล้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจถดถอยมากที่สุด หลังจาก ที่เริ่มมีสัญญาณชัดเจนมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นจีดีพี การผลิตและส่งออก การบริโภค อัตราเงินเฟ้อ ไปจนถึงความปั่นป่วนเพราะผลจากเบร็กซิต จน อิตาลี กลายเป็นชาติแรกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจาก จีดีพีไตรมาส 4 ปีที่แล้ว หดตัวไป 0.2% ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ที่ 0.1%
สิ่งที่หลายฝ่ายกลัวไม่ใช่อิตาลี เพราะมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะส่งผลสะเทือนไปทั่วยุโรป แต่ความกังวลหลักอยู่ที่เขตเศรษฐกิจเบอร์ 1 อย่าง "เยอรมนี" ซึ่งกำลังได้รับสัญญาณเตือนจากหน่วยงานเศรษฐกิจหลายฝ่ายว่า อาจเป็นรายต่อไป และจะกลาย เป็นฝันร้ายของยุโรปของจริงไปด้วย
เศรษฐกิจเมืองเบียร์ส่งสัญญาณชัดในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา กับจีดีพีหดตัว 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้า และทำให้หลายหน่วยงาน อาทิ ดอยช์แบงก์ และเจพีมอร์แกน เตือนเรื่องความเสี่ยงถดถอย แม้เยอรมนีจะรอดพ้นภาวะถดถอยมาได้เพราะจีดีพีไตรมาส 4 ขยายตัวได้ 0.1% แต่ก็เป็นการรอดมาได้อย่างหวุดหวิด และทำให้ต้องลุ้นกันต่อในปีนี้ เพราะการผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหัวใจหลักอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจ นั้นมีสัญญาญย่ำแย่ โดยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. ลดลง 1.9% ต่อเนื่องจากที่ลดลง 0.8% ในเดือน ต.ค.
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ยังได้ประกาศลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในปีนี้อย่างรุนแรง โดยคาดว่าจะโตได้เพียง 1.3% เท่านั้น จากที่คาดการณ์เอาไว้ 1.9% เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการลดลงอย่างรุนแรง และแย่ลงมาจากการเติบโตในปี 2018 ซึ่งอยู่ที่ 1.9%
ขณะที่ "จีน" ก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจทั่วโลก ในปีนี้ หลังจากที่เปิดเผยจีดีพีปี 2018 ออกมาว่า เป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปีของจีน และมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงต่อในปีนี้ เพราะเจอ ผลกระทบหลายทางเหลือเกิน ตั้งแต่สงครามการค้าที่กำลังบั่นทอนภาคการผลิต ส่งออก และบริโภคในประเทศอย่างหนัก ไปจนถึงการถูกเตะตัดขาสกัดอิทธิพลด้านเทคโนโลยี กับสงครามไอทีที่ หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ กำลังอ่วมหนักในขณะนี้
ตัวเลขหลายด้านของจีนล้วนระบุตรงกันว่า เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลงในเกือบทุกทิศทาง โดยช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ยอดค้าปลีกและธุรกิจร้านอาหารจีนในช่วงตรุษจีน ระหว่างวันที่ 4-10 ก.พ. อยู่ที่ 1.005 ล้านล้านหยวน (ราว 4.67 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 8.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน นับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลมาในปี 2005 ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลปักกิ่ง ที่คาดว่าจะออกมาในเดือน มี.ค.นี้ ระหว่างการประชุมสภาประชาชน แห่งชาติ ก็ยังไม่สามารถคาดหวังว่าจะช่วยพลิกสถานการณ์ได้มาก เพราะรัฐบาลจีนส่งสัญญาณมาแล้วว่าจะไม่ทุ่มหว่านเงินมโหฬารในครั้งเดียวเหมือนยุคที่ผ่านมา แต่จะค่อยๆ กระตุ้นแบบตรงจุดในแต่ละภาคส่วน ที่จำเป็น นอกจากนี้ ยังต้องตามเรื่องสงครามการค้าก่อนถึงเส้นตายวันที่ 1 มี.ค.นี้ ว่าจะออกหัวหรือก้อยอย่างไรด้วย ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ไม่มีกล้าฟันธงอะไรออกมาในขณะนี้
ภายใต้ความเสี่ยงหนักๆ จากหลายด้านและยังคาดเดาอะไรไม่ได้เช่นนี้ จึงอาจไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงไปนักหากนักวิเคราะห์หลายฝ่ายจะเริ่มส่งสัญญาณเตือนว่า โลกอาจจะกำลังเสี่ยงกลับ เข้าสู่ภาวะถดถอยในอีกไม่นานนี้
โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ
Source: Posttoday