สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่า ทางการฟิลิปปินส์ได้ให้ใบอนุญาตแก่ตลาดซื้อขายเงินสกุลดิจิตัลอย่างน้อย 29 แห่ง หลังจากที่ธนาคารกลางได้อนุมัติไปก่อนหน้า 3 แห่งในสัปดาห์ที่สองของเดือนเมษายนที่ผ่านมา
โจนาธาน เรฟเวลลัส (Jonathan Ravelas) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ยุทธศาสตร์การตลาดแห่งธนาคาร Banco de Oro UniBank ในกรุงมะนิลา กล่าวว่า ตลาดซื้อขายเหล่านี้ตอบสนองการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินที่เติบโตอย่างรวดเร็วหรือ Fintech ของฟิลิปปินส์
เขากล่าวว่า Fintech มีความก้าวหน้าอย่างมากในฟิลิปปินส์ ลูกค้ามองเห็นความสะดวกในการใช้เงินดิจิตัล
เงินสกุลดิจิตัลอย่าง Bitcoin กลายเป็นตัวขับเคลื่อนการลงทุนในเกือบทั่วโลกตั้งเเต่เกือบ 10 ปีที่แล้ว เเต่ราคาของ Bitcoin ที่ลดลงร้อยละ 70 เมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้ความกระตือรือร้นของผู้บริโภคต่อเงินสกุลดิจิตัลโดยรวมลดลง
เรฟเวลลัส กล่าวว่า ชาวฟิลิปปินส์โดยทั่วไปหันไปเลือกลงทุนเเบบดั้งเดิมมากกว่า อาทิ การซื้อขายหุ้น เเต่บริษัทใหม่ๆ กำลังจับตาเงินสกุลดิจิตัลเพื่อเพิ่มเงินลงทุน
ชาวฟิลิปปินส์ 7 ใน 10 คนไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคาร ดังนั้นเงินสกุลดิจิตัลจึงป็นทางเลือกใหม่เเก่ผู้บริโภคเหล่านี้ในการใช้จ่ายเงิน คนกลุ่มนี้จะกระโจนใส่เเหล่งที่มาของเงินสกุลที่เปิดให้เเก่ทุกคนได้ใช้ เเละมีความโปร่งใสเนื่องจากระบบการจ่ายเงินทางออนไลน์ที่เรียกว่า blockchain
บรรดานักวิเคราะชี้ว่า ผู้ว่าธนาคารกลางอาจมองการค้าขายเงินสกุลดิจิตัลว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ใหญ่กว่า ในการพัฒนาระบบการจ่ายเงินทางอิเลคทรอนิคส์ของประเทศ
คริสเตียน เด กุสมาน (Christian de Guzman) เจ้าหน้าที่สินเชื่ออาวุโสที่ฝ่ายวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านความสามารถในการชำระหนี้ (Moody's Sovereign Risk Group) ในสิงคโปร์ กล่าวว่า เงินสกุลดิจิตัลอาจกลายเป็นเครื่องมือในการเพิ่มความสะดวกในการจ่ายเงินทางอิเลคทรอนิคส์ ซึ่งเขามองว่านี่เป็นหัวใจสำคัญ
เว็บไซท์ข่าว Bitcoin and blockchain รายงานเมื่อปลายปีที่แล้วว่า ธนาคารกลางเเละคณะกรรมการตลาดซื้อขายหุ้นเเละหลักทรัพย์กำลังทำงานเพื่อควบคุมเงินสกุลดิจิตัลเพื่อปกป้องชาวฟิลิปปินส์ เเละบอกว่านี่เป็นขั้นตอนที่ดีที่จะนำไปสู่การนำไปใช้งาน เพราะขั้นตอนนี้จะสร้างความมั่นคงเเละมั่นใจเเก่การใช้เงินสกุลดิจิตัล
ฟิลิปปินส์เริ่มใช้เงินสกุลดิจิตัลล่าช้ากว่าชาติอื่นในเอเชียตะวันออก แต่อาจได้รับความนิยมมากกว่าที่อื่น หากหน่วยงานควบคุมดูแลอ้าเเขนรับมากกว่าคุมเข้ม
จีนเเละเกาหลีใต้ได้ควบคุมการซื้อขายเงินสกุลดิจิตัลบางชนิด ทั้งสองประเทศห้ามการซื้อเหรียญรุ่นเเรกในปี ค.ศ. 2017 เเละจีนสั่งให้ปิดตลาดซื้อขายเงินสกุลดิจิตัลหลายเเห่งตามแผนห้ามนี้
ส่วนญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเปิดกว้างมากที่สุดในเอเชียในการซื้อขายเงินประเภทนี้ ญี่ปุ่นอนุญาตให้ตลาดซื้อขาย 17 แห่งลงทะเบียนอย่างเต็มตัว นำหน้าจีนในปี 2017 ในฐานะตลาด Bitcoin ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีปริมาณเงินสกุลนี้ราวร้อยละ 58 ของปริมาณที่ค้าขายกันทั่วโลก ญี่ปุ่นประกาศการซื้อขาย Bitcoin อย่างถูกกฏหมายในปี 2017
เคนเน็ท อะมีดูรี (Kenneth Ameduri) นักวิเคราะห์เเละซีอีโอของเว็บไซท์ข่าวสารเงินสกุลดิจิตัล Crush the Street ในสหรัฐฯ กล่าวว่าฟิลิปปินส์เข้าใจว่าตนเองจะมีความสำคัญมากขึ้นหากค้าขายเงินสกุลนี้เพราะการค้าขายเงินสกุลนี้จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เเละหากเปิดโอกาสแก่เงินลงทุนชนิดนี้ เงินลงทุนก็จะหลั่งไหลเข้าประเทศ
อย่างไรก็ตาม เด กุสมาน กล่าวว่าในที่สุดเเล้ว ฟิลิปปินส์อาจต้องคิดพิจารณาให้ถี่ถ้วนถึงบทบาทของเงินสกุลดิจิตัลในการปลอมแปลงการเสียภาษีเเละใช้ซื้อยาเสพติดด้วย
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)
Source: VOA Thai
https://www.voanews.com/a/why-cryptocurrency-i…/4873275.html