จับตาแนวโน้มดอกเบี้ย หลังนโยบายการเงินโลกกลับทิศ แบงก์เบรกขึ้นดอกเบี้ยแข่งระดมเงินฝาก รอจังหวะสินเชื่อฟื้น เหตุเศรษฐกิจชะลอ รอรัฐบาลใหม่กระตุ้นกลางปี ทีเอ็มบีมองเงินฝากโต 5% ขณะที่เงินฝากโตเพียง 4.8%
นโยบายการเงินทั่วโลกที่กลับทิศ หันมาทำนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ที่ส่งสัญญาณว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้ รวมถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 20 มีนาคมให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี ทำให้แรงกดดันดอกเบี้ยขาขึ้นชะลอลง
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทยเปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เชื่อว่า ธปท.พร้อมจะมีก๊อก 2 ก๊อก 3 ออกมาอีก หากพบความผิดปกติ เพราะธปท.ยังกังวลในเสถียรภาพระบบการเงิน โดยเห็นได้จาก การส่งสัญญาณถึงความไม่แน่ใจในการประเมินความเสี่ยงของนักลงทุนหรือกระบวนการตรวจสอบหรืออนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินในการดูแลการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งปัจจุบันธปท.อยู่ระหว่างตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อหรือมีความเป็นไปได้ที่ธปท.จะเข้าตรวจ สอบสถาบันการเงินมากขึ้นด้วย
"เราอยากเห็นการสื่อสารที่ชัดเจนจากกนง. เพราะการที่คณะกรรมการกนง.มีมติเป็นเอกฉันท์นั้นเชื่อว่า กนง.คงเห็นอะไรที่เราไม่เห็น โดยเฉพาะกรรมการ 2 เสียงที่อยู่ดีๆ ทำไมเปลี่ยนข้างหรือคลายความกังวลดอกเบี้ยขาขึ้น แต่สิ่งที่ทำมาหรือการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปก่อนหน้าจะเสียของหรือไม่"
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการเติบโตของสินเชื่อสถาบันการเงินนั้น รอบล่าสุดจะเห็นการเติบโตสูงกว่าผลผลิตรวมทั้งหมดที่เกิดในประเทศ หรือ Nominal GDP ซึ่งสะท้อนทิศทางเชิงบวกของสินเชื่อที่ขยายตัวสู่ระดับปกติจาก 3 ปีก่อน ดังนั้นภาพรวมตลาด เงินยังเดินหน้าได้ โดยไม่ต้องแตะเบรกรุนแรงเพียงแต่ต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจ
ด้านทิศทางระดมเงินฝากเชื่อว่า ทุกธนาคารต้องการสภาพคล่อง แต่แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ปรับขึ้น ประกอบกับภาวะคลุมเครือช่วงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จึงเชื่อว่า การแข่งขันระดมเงินฝากไม่น่าจะรุนแรง หรือบางแห่งจะเบรกการระดมเงินฝากเพื่อรอดูทิศทางอัตราดอกเบี้ย หลังกนง.ส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ย อีกทั้งการระดมเงินฝากยังขึ้นอยู่กับความต้องการสินเชื่อด้วย
"ช่วงนี้ภาพตลาดเงินฝากและสินเชื่อคลุมเครือ มีการปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ขนาดเฟดยังไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ย เพราะกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยิ่งเพิ่งเลือก ตั้งยิ่งไม่ชัดว่าจะเห็นภาพครึ่งปีอย่างไรอาจจะรอดูมิถุนายนกรกฎาคมอีกครั้ง"
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ บมจ.ธนาคารทหารไทยหรือทีเอ็มบี กล่าวว่า แนวโน้มเงินฝากในปีนี้ น่าจะเติบโต 5% หรือมูลค่า 14.14 ล้านล้านบาทจากปีก่อนที่ขยายตัว 4% ขณะที่สินเชื่อทั้งระบบชะลอลงเหลือ 4.8% มูลค่า 13.86 ล้านล้านบาทจากปีก่อนขยายตัว 6% โดยอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (L/D) อยู่ที่ 98% สะท้อนสภาพคล่องตึงตัว โดยไตรมาสแรกจะเห็นการเติบโตจากสินเชื่อรายย่อยราว 8% โดยเฉพาะบ้านและเช่าซื้อ จากนั้นจะชะลอเหลือ 5% จากปีก่อนที่ขยายตัว 9.4% เช่นเดียวกันสินเชื่อเอสเอ็มอีชะลอเหลือ 5% จากปีก่อนโต 7% ส่วนสินเชื่อรายใหญ่จะกลับมาโต 4% จากที่ติดลบมาหลายปี
"ครึ่งแรกเศรษฐกิจะชะลอลง เพื่อรอความชัดเจนเศรษฐกิจ ส่วนครึ่งปีหลัง ถ้าสัญญาณบวก จะเห็นการขยายตัวสินเชื่อรายใหญ่และแบงก์อาจระดมเงินฝากครึ่งปีหลังรวมถึงการระดมเงินฝากจากรายใหญ่ก่อน"
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า มติที่เป็นเอกฉันท์ของกนง.มีนัยต่อนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพราะเห็นความเสี่ยงมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศหรือส่วนหนึ่งเป็นช่วงรอยต่อรัฐบาลใหม่ แต่หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีจึงจะเห็นการพิจารณาปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกครั้ง
"แนวโน้มการทำนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นเช่นเดียวกับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งความผันผวน 1-2 ปี โอกาสดอกเบี้ยอาจจะปรับลดลงเช่น ญี่ปุ่น และยุโรป จึงอาจเห็นเงินทุนไหลเข้าไทยจากดอกเบี้ยนอกประเทศต่ำขณะที่เงินบาทเคลื่อน ไหวแข็งค่าและเศรษฐกิจไทยค่อยๆ เติบโต"
Source: ฐานเศรษฐกิจ