เมินศึกการค้า เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย : การใช้มาตรการภาษีตอบโต้กันครั้งล่าสุดระหว่างสหรัฐและจีน ท่ามกลางคำเตือนจากหลายองค์กรทางเศรษฐกิจชั้นนำ
ทำให้สปอตไลต์เริ่มกลับมาจับที่ "ธนาคารกลางสหรัฐ" (เฟด) อีกครั้งว่า สงครามการค้าจะน่ากลัวมากพอให้เฟดเปลี่ยนใจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยได้บ้างหรือไม่
หากดูจากท่าทีนักวิเคราะห์ ส่วนใหญ่ในขณะนี้จะมองตรงกันว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) งวดวันที่ 25-26 ก.ย.นี้ น่าจะไม่มีการ เปลี่ยนแปลงใดๆ ไปจากเดิม หมายความว่า เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ย อีก 0.25% เป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ตามที่เคยส่งสัญญาณเอาไว้ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นไปเป็น 2-2.25%
ขณะที่มุมมองของตลาดเงินผ่าน Fed Fund Futures มากกว่า 80% ยังมองไปถึงการประชุมงวดเดือน ธ.ค. หรือการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ด้วยว่า เฟดน่าจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ของปี ทำให้อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2018 นี้ อยู่ที่ 2.25-2.5%
เพราะจากตัวเลขพื้นฐานทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โมเมนตัมการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐยังเดินหน้าได้ต่อโดยที่ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป แม้การขยายตัวของเงินเฟ้อเดือน ส.ค. จะชะลอตัวลงมาเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่อีกหลายด้านยังขยายตัวแข็งแกร่ง อาทิ ค่าแรงรายชั่วโมงที่ขยายตัวขึ้นเฉลี่ย 0.4% หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากที่คาดการณ์ไว้ โดยในภาพรวมค่าแรงขยายตัวได้ 2.9% เมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี เอเอฟพีได้รายงานอ้างประธานสาขาของเฟดหลายรายและนักวิเคราะห์กลุ่มหนึ่งว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะเดินไปในทิศทาง
"สายเหยี่ยว" มากขึ้นอีก หรือเพิ่มขึ้นจากทิศทางดอกเบี้ยในระดับ "ปกติ" อย่างที่เคยให้มุมมองเอาไว้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะไม่ขยับสูงขึ้นมากก็ตาม
ลาเอล เบรนนาร์ด สมาชิก เอฟโอเอ็มซีที่มีอิทธิพลทางความเห็น ในแบงก์ชาติ มองไกลไปถึงบรรดามาตรการกระตุ้นของรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เป็นเหมือนแรงลมส่งท้ายกระตุ้นดีมานด์ไปยังอีก 2 ปีข้างหน้า ดังนั้น จึงมีเหตุผลเพียงพอที่ทำให้เฟดอาจจะปรับ นโยบายการเงินให้ตึงตัวขึ้นได้มากขึ้นกว่าระดับปกติ
หากเป็นไปตามที่เบรนนาร์ดว่าเอาไว้ก็อาจบ่งชี้ได้ว่า นอกจากเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้ง และในปีหน้าอีก 3 ครั้ง ตามที่เคยส่งสัญญาณคาดการณ์เอาไว้ในรายงาน Dot Plot ที่ออกมารายไตรมาสก่อนหน้านี้ เฟดยังมีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ย "เพิ่มได้อีก" หรือมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2019 จะสูงมากกว่าระดับ 3.0-3.25%
ส่วนหนึ่งนั้นต้องยอมรับว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนในเวลานี้ยังไม่ทำให้เกิดผลกระทบแบบเห็นชัดมากพอ ในทางตรงกันข้าม ความกังวลเรื่องศึกการค้ากลับยิ่งเพิ่มออร์เดอร์คำสั่งซื้อมากขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา เพราะเกรงว่าราคาจะแพงขึ้นอีกหลังจากนี้
การขึ้นภาษีล่าสุด 2 แสนล้านดอลลาร์ของฝั่งสหรัฐ และอีก 6 หมื่นล้านดอลลาร์ของฝั่งจีน ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวานนี้ ยังเป็นการขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ คือ 10% และ 5-10% ตามลำดับ อีกทั้งสหรัฐยังยกเว้นสินค้ามากถึงราว 300 รายการ ที่จะกระทบผู้บริโภคหนัก ผลกระทบรอบใหม่ "กับฝั่งสหรัฐ" จึงอาจไม่แรงนักหากเทียบกับจีนที่เจอแรงกดดันอีกทอดหนึ่งจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพราะค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับหยวนจะเพิ่มภาระให้จีนมากกว่าฝั่งสหรัฐ
ดังนั้น ผลกระทบที่เป็นรูปธรรม ต่อฝั่งสหรัฐ จึงอาจจะไปเริ่มเห็นใน ปีหน้าแทน หากยังไม่สามารถเจรจากับจีนได้ และทำให้การเก็บภาษีสินค้าจีนทั้งหมด 2.5 แสนล้านดอลลาร์ (รวมงวด 5 หมื่นล้านก่อนหน้านี้) ขยับขึ้นมาอยู่ในอัตราเดียวกันทั้งหมดที่ 25% ซึ่งก็ยังนับว่าเป็นเรื่องของ "อนาคต" ที่เฟดน่าจะไม่นำพาในปีนี้
นอกจากเบรนนาร์ดแล้ว กรรมการเฟดบางคนที่กำลังจะหมุนเวียนเข้ามาอยู่ในคณะเอฟโอเอ็มซี หรือกรรมการ ที่มีสิทธิโหวตนโยบายการเงินได้ตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีหน้า ก็เริ่มแสดงท่าทีสายเหยี่ยวกันมากขึ้นเช่นกัน
อีริค โรเซนเกรน ประธานเฟดสาขาบอสตัน เห็นในทิศทางเดียวกันจากการให้สัมภาษณ์หลายครั้งก่อน หน้านี้ว่า นโยบายการเงินน่าจะขึ้นได้มากอีกกว่าระดับปกติ เช่นเดียวกับ ชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโก ที่เสนอว่านโยบายการเงิน ของสหรัฐอาจจำเป็นต้องรัดกุมมาก ขึ้นกว่านี้
ส่วนในมุมของนักเศรษฐศาสตร์นอกวงโคจรเฟดอย่าง โจเซฟ แกกนอน จากสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศนั้นเชื่อว่า ในระยะใกล้นี้ ทิศทางของเฟดน่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป อย่างน้อยก็ภายใน 6 เดือน ยกเว้นว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยับเร็วขึ้นกว่าเดิม
หากเป็นเช่นนั้นก็อาจจะน่าห่วง ไม่น้อยกับสถานการณ์ในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันโลกกำลังขยับสู่ภาวะขาขึ้นอีกครั้ง ไปรับกับการเตรียมแซงก์ชั่นอิหร่านในเดือน พ.ย.นี้ และการที่กลุ่มประเทศ ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) ยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตได้ จนทำให้เมื่อวานนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนต์กลับมาแพงขึ้นเกือบแตะระดับ 81 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือสูงสุดในรอบ 4 ปีอีกครั้งแล้ว
ทั้งอัตราเงินเฟ้อและสงคราม การค้า ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยในอนาคตที่อาจต้องไปรอลุ้นกันอีกทีใน ปีหน้าว่า ปัจจัยใดจะมีน้ำหนักที่ทำให้กลายเป็นสายเหยี่ยวหรือกลับสู่สายพิราบได้มากกว่ากัน
โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ
Source: Posttoday
ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้