ระบบเตือนภัยไม่พร้อม จุดอ่อนรับมือภัยพิบัติอินโดฯ : ความสูญเสียอย่างมหาศาล คือผลตามมาจากระบบเตือนสึนามิ ไม่สมประกอบนอกชายฝั่งอินโดนีเซีย เพราะขาดงบประมาณบวกกับทัศนคติของชาวบ้านในพื้นที่

เครือข่ายทุ่นลอยส่งสัญญาณผิวทะเล 22 ตำแหน่งนอกชายฝั่งเกาะสุลาเวสี ที่เชื่อมต่อ กับอุปกรณ์เซ็นเซอร์บนพื้นทะเล คือระบบที่ใช้ส่งข้อมูลเตือนภัยสึนามิล่วงหน้าไปยังสำนักงานธรณีฟิสิกส์และอุตุนิยมวิทยาอินโดนีเซีย (บีเอ็มเคจี) แต่ สุโตโป ปูร์โว นูโกรโฮ โฆษกสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซีย (บีเอ็นพีบี) ระบุว่าทุ่นลอยตรวจวัดสึนามิ ใช้การไม่ได้มาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ และยอมรับว่าบีเอ็มเคจี ที่รับผิดชอบเตือน สึนามิ ยังไม่ได้เข้าถึงประชาชนที่ได้รับ ผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ

แกนหลักของระบบเตือนสึนามิของอินโดนีเซีย คือเครือข่ายสถานีตรวจวัดคลื่น 134 ตำแหน่ง ร่วมกับเครื่องมือตรวจจับ วัดและบันทึกวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว บนบก ไซเรน 55 จุด และระบบส่งข้อความ แจ้งเตือน

สำนักงานธรณีฟิสิกส์อินโดนีเซีย ออกประกาศเตือนว่า อาจเกิดสึนามิสูง 3 เมตร หลังแผ่นดินไหว 7.4 เวลาประมาณ 18.00 น. วันศุกร์ที่ 28 ก.ย. แต่ได้ยกเลิกหลังเวลาผ่านไป 34 นาที โดยตัดสินจากผลตรวจวัดคลื่น 6 ซ.ม. จากจุดที่อยู่ห่างจากชายฝั่งเมืองปาลู เมืองเอกของจ.สุลาเวสีกลาง ไปทางใต้ ถึง 300 กม. เพราะไม่มีข้อมูลจากปาลู

หลังโลกเผชิญสึนามิครั้งใหญ่ในปี 2547 คร่าชีวิตเหยื่อ 2.3 แสนคนในกว่า 12 ประเทศ กว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในจ.อาเจะห์ของอินโดนีเซีย นานานาชาติประสานความพยายามยกระดับ ระบบเตือนสึนามิ โดยเน้นเป็นพิเศษ ที่มหาสมุทรอินเดียและอินโดนีเซีย หนึ่งใน ประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ บ่อยที่สุดในโลก

แต่ระบบเซ็นเซอร์บนพื้นทะเล เคเบิลไฟเบอร์-ออพติก และอุปกรณ์ไฮเทคอื่นๆ ที่มีแผนติดตั้งแทนระบบเดิมหลัง แผ่นดินไหวและสึนามิ 15 ปีที่แล้ว เจอปัญหา การเมืองภายในและความล่าช้าในการอนุมัติ งบประมาณ 1,000 ล้านรูเปี๊ยะห์ (ประมาณเกือบ 3 ล้านบาท ) ทำให้ระบบเตือนภัยเดิมยังไม่ได้รับการยกระดับ

"หลุยส์ คอมฟอร์ต" ผู้เชี่ยวชาญจัดการภัยพิบัติมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก กล่าวว่า น่าเศร้าใจอย่างยิ่งที่เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้ ขณะมีเครือข่ายตรวจจับออกแบบอย่างดีที่อาจให้ข้อมูลสำคัญได้

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ทุ่นตรวจวัดคลื่น ใช้การไม่ได้ โดยในปี 2559 แผ่นดินไหว นอกเกาะสุมาตรา เขย่าเมืองชายฝั่งปาดัง เผยให้เห็นความจริง ทุ่นลอย ที่แต่ละทุ่นราคา หลายหมื่นดอลลาร์ไม่ทำงาน ด้วยเหตุว่า มีคนทำให้เสียหายหรือขโมย ตลอดจนเพราะขาดงบประมาณในการบำรุงรักษา

ด้าน "ฮาร์คุนติ พี ราฮายู" ผู้เชี่ยวชาญสถาบันเทคโนโลยีบันดุง ชี้ว่า ไฟดับหลัง แผ่นดินไหวก็กระทบระบบเตือนภัยด้วย เช่น ไซเรนที่เตือนให้ชาวบ้านอพยพ ใช้งานไม่ได้ "คนส่วนใหญ่ช็อกจากแผ่นดินไหวอยู่ และไม่ได้คิดว่าสึนามิกำลังจะมา"

นี่คือปัญหาใหญ่ ที่อาจพูดได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญ ที่ทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าที่ควรจะเป็นจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้คือ แม้ว่าอินโดนีเซียจะมีระบบเตือนภัยสึนามิล่วงหน้าที่ประกอบไปด้วย เครือข่ายสถานีตรวจวัดความสั่นสะเทือน 170 สถานี สถานีวัดคลื่นแผ่นดินไหว 238 สถานี และอุปกรณ์วัดระดับน้ำทะเล 137 จุด แต่ประสิทธิภาพการทำงานของระบบทั้งหมดจำกัดมาก

"อุปกรณ์ของเราในทุกวันนี้มีข้อจำกัดมาก ถึงแม้เราจะมีตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับแผ่นดินไหว 170 ตัว แต่มีงบการบำรุงรักษาอุปกรณ์ แค่ 70 ตัวเท่านั้น" ราห์มัต ตรีโยโน หัวหน้าศูนย์แผ่นดินไหวและสึนามิของ บีเอ็มเคจี กล่าว

แม้ว่าการตัดสินใจของบีเอ็มเคจี ในการ ยกเลิกประกาศเตือนภัยเร็วเกินไป ถูกวิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ แต่ "อดัม สวิตเซอร์" ผู้เชี่ยวชาญสึนามิ สถาบันสังเกตการณ์โลกของสิงคโปร์ กล่าวว่า ไม่เป็นธรรมเท่าไหร่หากโยนบาปให้หน่วยงานนี้อย่างเดียว เพราะด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า โมเดลเตือนสึนามิ ที่มีอยู่อาจจะง่ายเกินไป ไม่ได้คำนึงปรากฏการณ์หลายอย่างประกอบ แผ่นดินไหว หลายครั้งในเวลาอันสั้น หรือดินถล่มใต้ทะเล แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งสำคัญอันดับแรกหลังแผ่นดินไหวในพื้นที่ชายฝั่ง คือควรอพยพขึ้นไปบนที่สูงสัก 2-3 ชั่วโมง ไม่ว่าจะใช้ระบบเตือนภัยแบบไหน

"อัดนาน ฟัดจาร์" ชาวเมืองปาลู บอก สำนักข่าวเอบีซีของออสเตรเลียว่า ครอบครัวของเขาอยู่ห่างจากชายฝั่ง 5 กม. หลัง แผ่นดินไหว มีรถประกาศให้ชาวบ้านเฝ้าระวัง หลังแผ่นดินไหว พวกเขาบอกว่า ไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะไม่มีสึนามิ แต่ไม่นาน ฝูงชนพากันวิ่งตรงมาและตะโกนว่า สึนามิ สึนามิ! ครอบครัวของเขาโชคดีเพราะหนีขึ้นที่สูงได้ทันโดยรถยนต์

ส่วน "เกวิน ซุลลิแวน" นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยโคเวนทรี ที่ทำงานในโครงการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติในเมืองบันดุง กล่าวว่า หลายคนไม่เชื่อว่าระบบเตือนสึนามิ จำเป็นมาก หลายคนไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไร หลังมีข้อความเตือน การเห็นคนยังเตร็ดเตร่ อยู่ใกล้ชายฝั่งเมืองปาลู ขณะมองเห็นคลื่นกำลังเคลื่อนตัวเข้ามา สะท้อนว่าไม่ได้ซึมซับบทเรียนจากภัยพิบัติคราวก่อน "ประเด็นอยู่ที่ ความล้มเหลวในการอบรม และสร้างความเชื่อมั่นจนประชาชนตระหนักว่าต้องทำอย่างไร เวลาออกประกาศเตือน"

ส่วนนูโกรโฮ จากสำนักงานภัยพิบัติแห่งชาติ เห็นด้วยในเรื่องที่ประชาชนยังขาด ความเข้าใจ สึนามิเกิดบ่อยและอาจก่อความสูญเสียในชีวิตอย่างมากมาย แต่ทัศนคติ และการตระหนักต่อภัยธรรมชาติลักษณะนี้ ของประชาชนยังน้อยอยู่มาก


Source: กรุงเทพธุรกิจ

เพิ่มเติม
- What Went Wrong With Indonesia’s Tsunami Early Warning System
https://www.nytimes.com/…/indonesia-tsunami-early-warning-s…

- ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติยันไม่มีประกาศเตือนสึนามิหลังเกิดความตื่นตระหนกข่าวลือในโลกโซเชียล : https://www.ryt9.com/s/iq01/2895737

- ผู้ประสบเหตุภัยพิบัติชาวไทยในประเทศ อินโดนีเซีย 22 ราย เดินทางถึงเมืองไทยเป็นที่เรียบร้อย: https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000098769

- อินโดฯ เจอภูเขาไฟบนเกาะสุลาเวสีระเบิดซ้ำ:https://www.posttoday.com/world/566404

——————————————                                                                              ——————————————

ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


 

0 Share