มะกัน “ฉายเดี่ยว” โตพุ่ง เขย่าสมดุลเศรษฐกิจโลก : เศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังล้มลุกคลุกคลานจากวิกฤตการเงินโลกมานานหลายปี ในแง่หนึ่งก็ดูจะเป็นข่าวดี
เพราะในฐานะเขตเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลกย่อมส่งอานิสงส์ต่อประเทศคู่ค้า แต่หากมองอีกมุม เศรษฐกิจที่ร้อนแรงแบบ “ฉายเดี่ยว” ของสหรัฐ ย่อมสร้างความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจโลก กลายเป็นลมต้านการฟื้นตัวในประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว
บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กรายงานว่า จากตัวเลขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เศรษฐกิจสหรัฐเป็นขาขึ้นตั้งแต่ปี 2550 ถึงปีนี้ขยายตัวสะสมถึง 17.1% เทียบกับ 11.6% ในยุโรป และ 6.7% ในญี่ปุ่น โดยปัจจัยหลักที่ทำให้การขยายตัวของแดนลุงแซมไปไกล มาจากปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ตกในประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ โดยเฉพาะวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน และการบริโภคที่ยังทรงตัวในแดนปลาดิบ
แม้ว่าสถานการณ์ในยุโรปและญี่ปุ่นจะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถไล่กวดสหรัฐที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราภาษีและผ่อนคลายกฎระเบียบภาครัฐ จนกระตุ้นให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนพุ่งกระฉูด โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประเมินว่า แรงขับเคลื่อนที่เกิดจากนโยบายภาครัฐดังกล่าวจะแผลงฤทธิ์ได้นานถึง 3 ปี
“การจ้างงาน” ในสหรัฐที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยตัวเลขการว่างงานเดือนกันยายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.7% ต่ำสุดนับจากปี 1969 บวกกับอัตราเงินเฟ้อที่เข้าใกล้เป้าหมาย 2% ทำให้เฟดมีพื้นที่ที่จะปรับนโยบายทางการเงินเข้าสู่สภาวะปกติ หลังจากใช้หลากหลายเครื่องมือเพื่อประคองเศรษฐกิจจากวิกฤตซับไพรม ตั้งแต่ยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทางการเงิน (QE), ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 8 ครั้ง นับจากธันวาคมปี 2015 ตลอดจนทยอยปล่อยพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนเพื่อลดขนาดสินทรัพย์ในงบดุล ที่มูลค่าสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีก 12 เดือนข้างหน้า เพื่อให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดสะท้อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไว้ล่วงหน้า
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ความกังวลเรื่องสงครามการค้า และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น สร้างแรงกดดันต่อตลาดหลักทรัพย์และค่าเงินสกุลท้องถิ่นในประเทศตลาดเกิดใหม่ ตรงกันข้ามกับตลาดหุ้นในสหรัฐที่มีการเทรดอย่างคึกคักและเงินดอลลาร์แข็งค่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่สวนทางกันของสหรัฐกับประเทศอื่น กำลังกลายเป็นความท้าทายต่อระบบเศรษฐกิจโลก
นายโมฮาเหม็ด เอล-เอเรียล หัวหน้าที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของบริษัทอลิอันซ์ กล่าวว่า หากสภาวะเศรษฐกิจที่สวนทางกันในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วลากยาว จะยิ่งสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีความเป็นไปได้ 2 ทาง คือ
1.convergence from below เป็นการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่น จากการแข็งค่าของดอลลาร์ ทำให้ทั้งสองประเทศสามารถส่งออกสินค้าและบริการได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันทางการเงิน คลายความตึงเครียดในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนบรรเทาความกังวลในตลาดการค้าเปิดพื้นที่ให้ ECB ปรับนโยบายเศรษฐกิจสู่สภาวะปกติ ซึ่งแนวทางนี้จะส่งผลดีต่อทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศตลาดเกิดใหม่
แนวทางที่ 2.convergence from above เกิดจากการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐที่จะลดระดับจนใกล้เคียงกับประเทศอื่น เนื่องจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ทำให้ความได้เปรียบภาคส่งออกลดลง ประกอบกับกำไรจากการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทสัญชาติอเมริกันเมื่อแปลงเป็นเงินดอลลาร์จะได้น้อยลง รวมถึงหางเลขจากสงครามการค้าอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในสหรัฐ หากเป็นไปในแนวทางนี้ก็จะเป็นข่าวร้ายต่อทั้งประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ เพราะสหรัฐยังถือว่าเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก
แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐที่แผ่วลงจะส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่า ลดแรงกดดันทางการเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ แต่หากรายได้ของคนอเมริกันลดลง ความต้องการซื้อสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาก็ย่อมถดถอยเช่นกัน
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/world-news/news-234264
เพิ่มเติม
- Emerging Markets Brace for Pain as Fed Hikes Meet Trade War:https://www.bloomberg.com/…/emerging-markets-brace-for-pain…
—————————————— ———————————————
ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้