นักวิเคราะห์ชี้'หยวน'อ่อน ดันต้นทุน'ท่องเที่ยว'พุ่ง: นักวิเคราะห์ชี้เงินหยวน ที่อ่อนค่าสวนทางเงินบาท กระทบต้นทุนนักท่องเที่ยวจีน ซ้ำเติมการท่องเที่ยวไทย ขณะสงครามการค้าเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจจีน กระทบเชื่อมั่น ส่อทำนักท่องเที่ยวจีนชะลอ

ภาคการท่องเที่ยวของไทยเริ่มเผชิญความยากลำบาก หลังจากที่นักท่องเที่ยวจีนซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยหลังเหตุการณ์เรือล่ม ที่ภูเก็ต รวมทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่เงินหยวนซึ่งอ่อนค่า ลงต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการเดินทางออกไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร กล่าวว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทาง มาไทยลดลงในช่วงนี้ นอกจากปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นหลังจากเหตุการณ์เรือล่มที่จ.ภูเก็ตแล้ว อีกประเด็นที่น่าจะมีผลต่อการเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย คือ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งทำให้ต้นทุนของผู้เดินทาง มาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ หากดูค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ในระดับค่อนข้างทรงตัว หรืออ่อนค่าลงไม่ถึง 1% ขณะที่ค่าเงินหยวนช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อ่อนค่าลงมาแล้วราว 9% ดังนั้นเมื่อหักลบกันเท่ากับว่า นักท่องเที่ยวจีน ที่จะเดินทางมาไทยมีต้นทุนแพงขึ้นราว 8% ในส่วนนี้จึงมีผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยว อยู่บ้าง

"จริงๆ ก็เหมือนช่วงที่รัสเซียค่าเงินอ่อนค่าลงมากๆ ทำให้ช่วงนั้นต้นทุนการ มาเที่ยวไทยแพงขึ้นเกือบ 2 เท่า นักท่องเที่ยว กลุ่มนี้จึงหายไปเลย กรณีของรัสเซียคราวนั้น ปัญหาไม่ได้มาจากทางเรา แต่เป็นเรื่องของค่าเงินที่อ่อนค่าลงไปมากๆ ทำให้ต้นทุนการเดินทางแพงขึ้น"

คนจีนส่อชะลอท่องเที่ยว

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าสวนทางกับสกุลเงินอื่น ในภูมิภาค รวมทั้งเงินหยวนของจีน ประกอบกับ มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากผลของสงครามการค้าที่ยังไม่ชัดเจน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อภาวะจิตใจของคนจีน เชื่อว่าหลังโกลเด้นวีคของจีน คนจีน อาจจะเริ่มกลับมามีความกังวลต่อรายได้ในอนาคต ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะตัด ค่าใช้จ่ายเรื่องการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็น สินค้าฟุ่มเฟือยออกไปก่อน

"ถ้านักท่องเที่ยวจีนชะลอลง ก็คงมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่น้อย เพราะนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ และเหตุการณ์เรือล่ม ล้วนส่งผลต่อภาพลักษณ์การ ท่องเที่ยวไทย"

นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า ตัวเลขของนักท่องเที่ยวจีนอาจชะลอตัวต่อเนื่อง ไปถึงปีหน้า เพราะนอกจากปัจจัยเรื่อง ค่าเงินแล้ว ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจจีน

ชี้หยวนอ่อนเกิน10%มีผลต่อกำลังซื้อ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินหยวนมีผลต่อกำลังซื้อนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะถ้าเงินหยวน อ่อนค่าลงไปมากกว่า 10% ซึ่งปัจจุบันเงินหยวนอ่อนค่าลงมาราวๆ 5% จึงอาจยัง ไม่เห็นผลที่ชัดเจนมากนัก แต่ก็เริ่มมีผลทางด้านจิตในบ้างแล้ว แต่ผลต่อการท่องเที่ยวโดยรวมๆ ที่มีต่อไทยในปีนี้ยังไม่มากนัก อย่างไรก็ตามปัจจัยหลักของการตัดสินใจท่องเที่ยวของคนจีนที่จะเดินทางมาเที่ยวในไทย มาจากสถานที่เที่ยว หรือราคาที่พัก ค่าเดินทาง ค่าเครื่องบิน ทำให้อยากมาเที่ยว รวมถึงความเชื่อมั่นของ นักท่องเที่ยวเองด้วยว่าอยากจะมาเที่ยวหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจีนจะวางแผน ท่องเที่ยวล่วงหน้าไว้แล้ว และเมื่อตัดสินใจ มาแล้วจะใช้จ่ายอย่างเต็มที่การเปลี่ยนแปลงด้านค่าเงินแทบจะไม่มีผล

สำหรับมุมมองแนวโน้มค่าเงินบาทคาดว่า สิ้นปีนี้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ เป็นการ แข็งค่ามากกว่าที่คาดไว้เดิมที่ระดับ 32.50 บาท ต่อดอลลาร์ และในระยะสั้นจะไม่อ่อนค่าแรง เนื่องจากตลาดจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังผ่านพ้นช่วงเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐเดือนพ.ย.ไปแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นค่าเงินบาทจะปรับตัวแข็งค่าขึ้น ด้วยปัจจัยหนุนจาก หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.แล้วมีโอกาสขึ้นต่อได้อีกไม่มาก และความกังวลสงครามการค้าผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว รวมถึงปัจจัยในประเทศจากการเลือกตั้งไทย มีกำหนดชัดเจนและธปท.มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยปลายปีนี้

นักท่องเที่ยวจีนปีนี้ต่อโตต่ำคาด

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ค่าเงินที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเพียง ปัจจัยหนึ่งกระทบด้านการท่องเที่ยว แต่ปัจจัยหลักคือเศรษฐกิจจีนและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนเองว่าอยาก เข้ามาเที่ยวในไทยหรือไม่

มองว่า ในระยะสั้นยังมีแรงกดดันการท่องเที่ยวอยู่ จากภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในแง่ทัวร์ศูนย์เหรียญและเรือล่มภูเก็ต แต่คาดว่าน่าจะคลี่คลายได้ภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้ ทำให้ในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยว อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง เติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้ แต่ไม่รุนแรง มองว่า นักท่องเที่ยวจีน อาจเริ่มกลับมาในช่วงต้นปีหน้าได้

ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทในปีนี้ ยังคงมุมมองเงินบาทกลับมาแข็งที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ จากโอกาสหลังเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐผ่านไปแล้ว ฝุ่นจะเริ่มจากตลาดน่าจะมีทิศทางชัดเจนมากขึ้น จากนั้นต้องประเมินใหม่อีกรอบหนึ่ง ดอกเบี้ยไทย มองว่าธปท. น่าจะพร้อมขึ้นดอกเบี้ย แต่มาใช้ นโยบายดูแลเศรษฐกิจมหภาคก่อน ในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่และดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ คาดว่า ธปท. น่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้ ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาส 3 ปีหน้า โดยไม่กระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแต่เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจน

ขณะที่ในปีหน้าแม้จะมีความเสี่ยงกดดันให้ยังมีโอกาสที่เงินจะไหลออกจากตลาด เกิดใหม่ ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและความชัดเจนหลักการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ หากทรัมป์มีโอกาสสานต่อนโยบายไปอีก 2 ปี แต่ไม่น่าทำให้เงินบาทอ่อนค่าแรงไปมากนัก คาดในปีหน้าเงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ จากการเกินดุลบัญชี เดินสะพัดยังสูง และการขึ้นดอกเบี้ยของไทย ยังคงอยู่

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแล โกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า ค่าเงินบาท ยังคงมีลักษณะผันผวน เพราะในบางช่วงปรับตัวอ่อนค่าและบางช่วงแข็งค่าสวนตลาด ดังนั้นยังต้องติดตามในระยะถัดไป ถ้าหาก เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลอื่น ในภูมิภาค อาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย และส่งออกไทยเติบโตในปีหน้า นอกเหนือจาก การค้าโลกชะลอตัวลงแล้ว สร้างความกังวลต่อทางการและผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น

สำหรับทิศทางตลาดเงินและตลาดทุนในระยะสั้น มองว่า จากตลาดหุ้นสหรัฐยังไม่นิ่งลักษณะเช่นนี้จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยยังให้กรอบค่าเงินบาทในอีก1-2สัปดาห์ข้างหน้า ค่อนข้างกว้างที่ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์จับตาปัจจัยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจากย่อตัวลงหรือขึ้นต่อ จากที่ผ่านมาเมื่อขึ้นดอกเบี้ยได้กระชากตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลง รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่ยังมีความเสี่ยงเงินไหลออกจาก ตลาดเกิดใหม่ ซึ่งไทยแม้เป็นตลาดเกิดใหม่ ที่มีความแข็งแกร่งสุด แต่บางครั้งก็ไม่สามารถ ต้านทานกระแสการลดพอร์ตของนักลงทุนต่างชาติ เห็นได้ชัดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาถูก เทขาย 10,000 กว่าล้านบาทถือมากสุด ในรอบ 5 ปีและช่วงนี้แม้ความเปราะบางยังคงอยู่ แต่มองว่า ทางการและธปท. ดูแลสถาณการณ์ค่าเงินและเสถียรภาพของระบบการเงินได้

Source: กรุงเทพธุรกิจ

——————————————                                                                            ———————————————

ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


 

0 Share