นักวิเคราะห์ ประเมิน "แบงก์พาณิชย์" ได้ประโยชน์กว่า 1.6 หมื่นล้าน จากดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น พร้อมระบุหากดอกเบี้ยเงินฝากยัง ไม่ปรับตาม อาจไม่ช่วยสกัดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น เหตุคนยังโยกเงินหาแหล่ง เงินทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก ด้าน "กรุงไทย -ซีไอเอ็มบี" ลั่นยังไม่ขยับดอกเบี้ยทั้งฝาก-กู้
แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 1.5% เป็น 1.75% แต่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ ยังคงไม่ปรับดอกเบี้ยตามแต่อย่างใด มีเพียงธนาคารออมสินที่ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากออกทรัพย์ทุกประเภท 0.25% มีผล24 ธ.ค.นี้
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ผู้บริหาร TMB Analytics กล่าวว่า หากระบบ ธนาคาร ไม่มีการขึ้นดอกเบี้ย ตามดอกเบี้ยนโยบายอาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ยิ่งนำเงินฝาก ที่เป็นสภาพคล่องส่วนเกินเข้าสู่ระบบของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ผ่าน ธุรกรรม Bilateral Reverse Repo มากขึ้น เนื่องจากหลัง ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เมื่อแบงก์นำเงินไปฝากกับธปท. แบงก์จะได้ดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นอีก 0.25%
ดังนั้น หากแบงก์ไม่มีการขยับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ตามดอกเบี้ยนโยบายส่วนนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อแบงก์ที่นำสภาพคล่องส่วนเกินมาฝากไว้กับธปท.ทันที แถมสภาพคล่องส่วนเกินที่มาฝากธปท.ไม่มีความเสี่ยงด้วย หากเทียบกับการนำเงินฝากไปปล่อยกู้ ที่มีต้นทุนการตั้งสำรอง และต้องบริหาร ความเสี่ยงซึ่งอาจได้ผลตอบแทนต่ำกว่า การนำเงินฝากมาปล่อยกู้ ธปท.
ธปท.จ่ายแบงก์1.6หมื่นล้านต่อปี
ทั้งนี้ หากดูยอดเงินฝากส่วนเกิน ที่แบงก์นำไปฝากธปท.เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ราว 1.3 ล้านล้านบาท โดยได้ผลตอบแทนที่ 1.75% ต่อปี ดังนั้นเมื่อหักต้นทุนของธนาคารจากการระดมจากประชาชน คาดว่า ผลตอบแทนที่แบงก์จะได้ต่อปี จากการนำเงินมาฝากธปท.อยู่ที่ราว 1.6 หมื่นล้านบาท
"แบงก์เมื่อได้เงินฝากมา บางกลุ่มเอาไปปล่อยกู้ที่ 6% ส่วนนี้แบงก์โดยตั้งสำรองอีก 3% แถมมีต้นทุนจากเงินฝากที่ต้องเสียให้กับผู้ฝากเงิน 0.50% ซึ่งก็แทบไม่เหลืออะไรแล้ว แถมต้องมานั่งบริหารจัดการว่าเงินส่วนนี้จะเป็นหนี้เสียหรือไม่ ดังนั้นง่ายๆแถมไม่มีความเสี่ยงด้วย คือเอาเงินไปฝากธปท.ดีกว่าได้ดอกเบี้ยสบายๆ 1.75% ได้เพิ่มขึ้นด้วย 0.25% หลังกนง.ขึ้นดอกเบี้ย หากแบงก์ไม่ขยับดอกเบี้ยตาม ดอกเบี้ยส่วนนี้แบงก์ก็จะได้ประโยชน์ฟรีๆ ดังนั้นอาจกระตุ้นให้แบงก์หันมาทำรีเวิร์ดรีโปมากขึ้นก็ได้ เพราะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น โดยไม่ได้ต้องทำอะไรแค่เอาสภาพคล่องส่วนเกินสิ้นวันมาฝาก ธปท." นริศ กล่าว
ขณะเดียวกัน จุดประสงค์ของ กนง.ในการขึ้นดอกเบี้ย ก็เพื่อมีกระสุน หรือขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน(Policy space) และต้องการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เพราะปัญหาของการขาดเสถียรภาพวันนี้มาจาก การที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการออกไปแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ดังนั้น สุดท้ายหากแบงก์ไม่ขึ้นดอกเบี้ย ผู้ฝากเงินก็อาจเสียโอกาสได้ดอกเบี้ยที่ดี ดังนั้นเป้าหมายที่กนง.ต้องการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ก็อาจแก้ไขไม่ได้ ปัญหานี้ก็อาจเพิ่มขึ้นต่อได้ในอนาคต
ทั้งนี้ การปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องปรับสองขาพร้อมๆกันทั้งฝั่งเงินฝาก และเงินกู้ ดังนั้นหากแบงก์นำประโยชน์ ดังกล่าวมา จากผลตอบแทนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น มาเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากให้กับประชาชน ก็เชื่อว่า จะไม่กระทบต่ออัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ(NIM)ของแบงก์ทั้งระบบ เนื่องจากปัจจุบัน แบงก์มีการบริหารจัดการ NIM ที่ดีอยู่แล้ว ทำให้NIM ทรงตัวต่อเนื่องเฉลี่ยที่ราว 3%
ชี้ขยับดอกเบี้ยกู้กระทบเอสเอ็มอี
การขยับดอกเบี้ยเงินกู้ เชื่อว่าอาจจะมีผลโดยตรงกับเอสเอ็มอี ที่กู้เงินแบบดอกเบี้ย MOR MLR ต่างๆ แต่แบงก์ก็สามารถออกมาตรเสริมเพื่อเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้กู้เหล่านี้ได้ เพื่อให้กลุ่มเอสเอ็มอีต่างๆไม่ได้รับผล กระทบจากภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เช่นอาจออกแคมเปญ คงดอกเบี้ยโดยกำหนดช่วงระยะเวลา สำหรับเอสเอ็มอีได้ เพื่อให้กลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่เชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยน่าจะมีผลกระทบกลุ่มอื่นๆค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภาระผ่อนคงที่
"เราคิดว่าควรขยับดอกเบี้ย ไม่งั้นดอกเบี้ยนโยบายจะมีความศักดิ์สิทธิ์อะไร ที่อยากตอบ คือ มันศักดิ์สิทธิ์เพราะแบงก์เอาเงินไปปล่อยธปท.แล้วธปท.ต้องจ่ายเรทที่แพงขึ้น ก็คือเงินของประชาชน เหล่านี้มีดาวน์ไซด์ ไม่ใช่ว่าขึ้นดอกเบี้ย แล้วผู้ประกอบการบอกว่าจะลำบากมาก แบงก์สามารถเลือกวิธีที่จะทำให้กลุ่มเหล่านี้ไม่กระทบ โดยการออกโปรแกรมล็อกเรทดอกเบี้ย สำหรับเฉพาะกลุ่ม เช่นเอสเอ็มอี เพราะหากไม่ขึ้นดอกเบี้ย ก็แปลว่าทั้งสองขา ก็ไม่ขึ้น ไม่งั้นการส่งผ่านนโยบายการเงินขาดตอน"
กรุงไทยย้ำไม่ขึ้นดบ.เงินกู้-ฝาก
นายผยง ศรีวณิช กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)หรือKTB กล่าวว่า ยังไม่มีนโยบาย ปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากสภาพคล่องทั้งระบบยังดี การฟื้นตัวของเอสเอ็มอี กลุ่มใหญ่ กับการประคองตัวให้ฝ่าย ภาวะผันผวนของตลาดส่งออก ธนาคารจะต้องดูแลประคับประคองบนสภาพวะที่สภาพคล่องส่วนเกินและยังเกินอยู่
'ซีไอเอ็มบี'รอประเมินภาวะตลาด
ด้านนายสุธีร์ โล้วโสภณกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ธนาคารยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ทั้งฝั่งเงินฝากและเงินกู้ ส่วนระยะข้างหน้าจะขึ้นหรือไม่ คงต้องตามทิศทางตลาดทั้งระบบ แต่หากแบงก์ทั้งระบบไม่มีการปรับดอกเบี้ยตามดอกเบี้ยนโยบาย เชื่อว่า ก็อาจมีความได้เปรียบ หรือได้ประโยชน์ จากการนำเงินสภาพคล่องส่วนเกินไปฝากธปท. ซึ่งได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคงเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เพราะการปรับดอกเบี้ยถือว่าเป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจ
Source: กรุงเทพธุรกิจ
ติดตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้
สนใจเรียนรู้การเป็นTrader กับกูรู คลิ๊ก