ในยุคดิจิทัล ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลให้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ ได้ยากขึ้น ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงิน จึงต้องแสวงหาแหล่งข้อมูลใหม่ๆ ที่ช่วยให้ ประเมินภาพเศรษฐกิจได้อย่างทันกาล
ควบคู่ไปกับการติดตามภาวะเศรษฐกิจ จากแหล่งข้อมูลแบบดั้งเดิมที่มีอยู่ ข้อมูล ธุรกรรมการชำระเงินก็เป็นหนึ่งในข้อมูล ระดับจุลภาคและเป็นข้อมูลเร็วที่ได้รับความ สนใจในการศึกษาพัฒนาเครื่องชี้สำหรับ ติดตามและประเมินภาพเศรษฐกิจ
ข้อมูลการชำระเงินที่นำมาศึกษาครั้งนี้ คือ ข้อมูลธุรกรรมการโอนเงินรายย่อย ครั้งละหลายรายการ (Bulk Payment) จากลูกค้าของสถาบันการเงินหนึ่งโอนไปยัง ลูกค้าของอีกสถาบันการเงินหนึ่ง (เช่น การโอนเงินเดือน เงินปันผลฯ) หรือการเรียก เก็บเงินของลูกค้าสถาบันการเงินหนึ่งจาก ลูกค้าของอีกสถาบันการเงินหนึ่งที่ได้ยินยอม ให้หักบัญชีแล้ว (เช่น การหักค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าฯ) ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับข้อมูลชุดนี้จาก บริษัท เนชั่นแนล ไอที เอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) มีความถี่เป็นรายวัน และได้รับทุกวันต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี โดยข้อมูลที่ใช้ศึกษามีการปกปิดตัวตนทั้งหมด ทั้งหมายเลขบัญชีและชื่อธนาคารที่ให้บริการ ข้อมูลชุดนี้มีการจำแนกวัตถุประสงค์ การโอนเงินไว้ถึง 10 หมวด ที่สำคัญ ได้แก่ การชำระค่าสินค้าและบริการ การจ่ายเงินเดือน การจ่ายสวัสดิการภาครัฐ การจ่ายเงินปันผล เป็นต้น วัตถุประสงค์ที่สนใจนำมาศึกษา เพื่อติดตามภาวะรายได้ของภาคแรงงาน คือ การโอนจ่ายเงินเดือน ซึ่งเป็นบริการ การโอนเงินที่นายจ้างนิยมใช้เพื่อจ่ายเงินเดือน ให้แก่ลูกจ้างบริษัทตนเอง เนื่องจากสามารถ กำหนดวัน เวลา และจำนวนเงินที่จะโอน ล่วงหน้าได้ โดยมีจำนวนธุรกรรมการโอนเงิน ในหมวดนี้มากกว่า 5 แสนรายการต่อเดือน
แม้จะยังมีข้อจำกัดที่มีเพียงข้อมูล การโอนเงินเดือนระหว่างธนาคาร ซึ่งมีสัดส่วน เพียง 6.5% ของมูลค่าการโอนเงินเดือนผ่าน Bulk Payment ทั้งหมด (รวมการโอนเงิน ทั้งภายในธนาคารเดียวกันและระหว่างธนาคาร) แต่ผลการศึกษาก็พบข้อเท็จจริงหลายประการ ที่ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลนี้สามารถสะท้อน รายได้แรงงานในระบบของบริษัทต่างชาติ และบริษัทไทยขนาดใหญ่ได้ อาทิ ข้อมูล บัญชีผู้โอนเงิน (หรือ "บัญชีนายจ้าง") และ บัญชีผู้รับโอน (หรือ "บัญชีลูกจ้าง") กระจุกตัว ในเขตกรุงเทพฯ เขตอุตสาหกรรมตะวันออก และตามจังหวัดหัวเมือง ซึ่งสอดคล้องกับ การกระจุกตัวของสถานที่ตั้งบริษัทหรือโรงงาน ขนาดใหญ่ของไทย จำนวนบัญชีลูกจ้าง กว่า 84% รับโอนเงินเดือนจากบัญชีนายจ้าง รายใหญ่ (บัญชีนายจ้างที่มีการโอนให้บัญชี ลูกจ้างเกิน 200 ราย) จำนวนบัญชีลูกจ้าง ที่รับโอนจากบัญชีนายจ้างที่อยู่กับธนาคาร ต่างชาติมีสัดส่วน 30-50%
จากข้อเท็จจริงที่พบ จึงได้นำข้อมูล การโอนเงินเดือนมาจัดทำเครื่องชี้สะท้อน รายได้การจ้างงาน หรือ Employment Revenue Index (ERI) ซึ่งประยุกต์วิธีการ คำนวณจากงานศึกษาของธนาคารกลาง ประเทศอินเดีย และปรับให้เข้ากับบริบท ของไทย โดยกำหนดให้จำนวนผู้รับโอน เงินเดือนแทนจำนวนแรงงาน และค่า มัธยฐานของมูลค่าการโอนแทนเงินเดือน ที่ได้รับ พบว่าสามารถนำมาใช้ติดตามภาวะ รายได้จากการจ้างงานได้ โดยบ่งชี้ถึงจำนวน แรงงานและรายได้ของแรงงานเหล่านั้น ในช่วงเวลาหนึ่งเทียบกับช่วง 12 เดือน ที่ผ่านมา
การเคลื่อนไหวของดัชนี ERI รายเดือน จะผันผวนตามฤดูกาลการจ่ายโบนัส โดยดัชนี ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงเดือนธ.ค.ของทุกปี และปรับตัวเมื่อมีปัจจัยภายนอกมากระทบ ต่อการปรับเงินเดือน เช่น ในช่วงปี 2555 ที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้มีการปรับฐาน เงินเดือนวุฒิปริญญาตรีขั้นต่ำเป็น 15,000 บาท ทำให้ดัชนีเพิ่มขึ้นมากในช่วง เวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ ดัชนี ERI ยังช่วยสะท้อน ให้เห็นถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนจากการจ้างงาน ในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีเงินเดือนสูง ไปสู่การจ้างงาน ในกลุ่มวัยเริ่มทำงานที่มีเงินเดือนต่ำกว่าได้โดยบัญชีกลุ่มผู้เริ่มทำงานที่ยังมีเงินเดือนต่ำ จะเข้ามาแทนที่บัญชีของกลุ่มรายได้สูง ที่ถูกขจัดออกไปเมื่อเกษียณอายุและไม่ได้ รับเงินเดือนแล้ว การศึกษาต่อยอดไปถึงการทดลองนำ ดัชนี ERI ไปใช้คาดการณ์การอุปโภค บริโภคภาคเอกชน (Real Private Consumption Expenditure: RPCE) เนื่องจากเชื่อว่า เมื่อแรงงานมีรายได้ เพิ่มขึ้น ก็น่าจะนำไปจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ผลการทดสอบทางสถิติ ชี้ให้เห็นว่า ดัชนี ERI สามารถชี้นำการบริโภคได้ 6 เดือนหรือ 2 ไตรมาส โดยการนำไปใช้งาน ยังอยู่ระหว่างการติดตามผล
อย่างไรก็ดี นอกจากปัจจัยด้าน รายได้แล้ว การบริโภคภาคเอกชน ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น รายได้ จากแหล่งอื่น (เงินปันผล ดอกเบี้ย เงินช่วยเหลือจากภาครัฐฯ) การเข้าถึง สินเชื่อ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เป็นต้น
โดยสรุป ข้อมูลการโอนเงินเดือน สามารถนำไปใช้ติดตามภาวะรายได้ แรงงานได้ แต่ยังคงมีข้อจำกัดเรื่อง ความครอบคลุมที่มีเฉพาะธุรกรรมการ โอนเงินระหว่างธนาคาร อย่างไรก็ดี ดัชนี ERI น่าจะเป็นประโยชน์ในแง่ของ การเป็นเครื่องชี้ทางเลือกเพื่อประกอบ การวิเคราะห์
ทั้งนี้ หากในอนาคตสามารถขยาย ขอบเขตความครอบคลุมข้อมูลถึง การโอนเงินภายในธนาคารเดียวกันได้ ก็จะทำให้การศึกษามีความครบถ้วนสมบูรณ์ และใช้ติดตามภาวะภาคแรงงานได้แม่นยำ ยิ่งขึ้น
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้ เป็นความเห็นของผู้วิจัย ซึ่งไม่จำเป็น ต้องสอดคล้องกับความเห็นของ ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย: โดย นายเกียรติคุณ สัมฤทธิ์เปี่ยม และ น.ส.จารุพรรณ วานิชธนันกูล สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
Source: กรุงเทพธุรกิจ