ในที่สุดกฎหมาย "อีเพย์เมนท์" ที่หลายคนโดยเฉพาะกลุ่ม "ผู้ค้าออนไลน์" กังวลเป็นอย่างมากว่า กรมสรรพากรจะใช้เครื่องมือนี้เป็นช่องทางในการ "รีดภาษี" มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางแล้วเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่ กรมสรรพากรออกมาระบุว่า กฎหมายนี้ ไม่ได้บังคับใช้เฉพาะกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ แต่ใช้ในทุกรายที่มีธุรกรรมการเงินตามที่กฎหมายกำหนด
โดยกฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงินทุกประเภทและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยการชำระเงินต้องส่งข้อมูล ลูกค้าที่ทำธุรกรรมการเงินตามที่กำหนด (กฎหมายอีเพย์เมนท์) ซึ่งสถาบันการเงินและ ผู้ให้บริการเงินดังกล่าวจะต้องส่งข้อมูล ทุกบัญชีรวมกันให้กรมสรรพากรปีละ 1 ครั้ง ในที่นี้ กฎหมายกำหนดให้เป็นวันที่ 31 มี.ค. ของทุกปี โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ข้อมูลที่จะถูกจัดส่ง ประกอบด้วย เลขบัตรประชาชน ชื่อ นามสกุล และ ธุรกรรมการเงิน โดยธุรกรรมการเงินที่จะถูกจัดส่ง ข้อมูล ตามกฎหมายเรียกว่า "ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ" หมายถึง ธุรกรรมที่มีจำนวนครั้งเฉพาะการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันในหนึ่งธนาคารภายใต้ 2 เงื่อนไข คือ 1.ยอดรวมธุรกรรมตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไปต่อปี 2.ยอดธุรกรรมตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไป ต่อปี และ มียอดรวมจำนวนเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป โดยต้องเข้าทั้งสองเงื่อนไข จะเงื่อนไขใด เงื่อนไขหนึ่งไม่ได้
อธิบดีกรมสรรพากร เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ บอกว่า วัตถุประสงค์ของกฎหมาย เพื่อให้กรมฯมีข้อมูลที่เรียกว่า Data Analysis ใช้เป็นเครื่องมือบริหาร ความเสี่ยงการจัดเก็บภาษี ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่า จะใช้ข้อมูลไปเก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ แต่เป็นข้อมูลที่จะใช้วิเคราะห์การเก็บภาษีของผู้มีเงินได้ทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีธุรกรรมการเงินลักษณะพิเศษ หรือ กลุ่มที่เข้าข่ายการเลี่ยงภาษี
"แม้ว่า กรมฯ จะไม่ได้ออกกฎหมายฉบับดังกล่าว แต่กรมฯมีอำนาจเต็มในการ เรียกดูข้อมูลของผู้มีเงินได้จากสถาบันการเงิน ในรายที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเลี่ยงภาษีหรือมีธุรกิจที่ผิดกฎหมายเป็นต้น เมื่อเราได้ข้อมูลมา ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเข้าไปตรวจสอบ ทุกรายที่ถูกส่งข้อมูลมา และไม่ได้นำข้อมูลนี้ ไปใช้จัดเก็บภาษีทันที แต่จะต้องมาประเมินร่วมกับหลักฐานเอกสารอื่นๆ ด้วย"
ภายใต้กฎหมายนี้ ยังมีอีก 2 ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับการนำส่งข้อมูลทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ คือ
1.การนำส่งข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า withholding tax ซึ่งในกฎหมายจะกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการการเงินดังกล่าว ทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนที่ผู้จ่ายผู้รับจะใช้ระบบเอกสาร ซึ่งตรงนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
"ภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามกฎหมายปัจจุบันนั้น เวลาเราจ่ายเงินให้ใคร สมมติ จ้างคนทำงาน เราก็ต้องหัก ภาษี ณ ที่จ่าย ก็ต้องกรอกแบบฟอร์มในกระดาษและยื่นแก่คนรับจ้าง พอสิ้นปีคนรับจ้างก็นำเอกสารมาคำนวณรายได้ ทำให้เกิดขั้นตอนมากมาย แต่ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เวลาโอนเงิน ให้ธนาคารจัดการหมด จะจ่ายใคร จ้างเป็นร้อยเป็นพันคน เราก็สั่งให้แบงก์จ่ายให้ นายเอ นายบี และนายซี แบงก์ก็จะหัก ณ ที่จ่ายให้เลย ฉะนั้น เราไม่ต้องยุ่ง และ แบงก์ก็จะเป็นคนส่งสรรพากรให้เลย ฉะนั้น แบงก์ก็จะทำหน้าที่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หัก ณ ที่จ่ายได้ภายใต้กฎหมายนี้"
2.การรับส่งใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า tax invoice ซึ่งกฎหมายจะกำหนดให้เรา สามารถรับและส่ง tax invoice ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ยกตัวอย่าง เวลาเราซื้อของ เราเก็บใบเสร็จรับเงินเป็นกระดาษ เช่น โครงการช้อปช่วยชาติ ต้องเก็บกระดาษมาส่ง กรมสรรพากร แต่ตอนนี้ ใบเสร็จจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ถูกตามกฎหมายได้ โดย ส่งข้อมูลผ่าน e-filing ฉะนั้น ใบเสร็จรับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ก็จะทำได้ตามกฎหมาย
"ในกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้มีแค่เรื่องการส่งข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินเพียงอย่างเดียวอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ แต่ยังมีเรื่องของการส่งข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่าย และ ข้อมูลใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในกฎหมายฉบับนี้ด้วย ดังนั้น จึงเป็นกฎหมายที่จะส่งเสริมธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะช่วยแยกผู้เสียภาษีกลุ่มดีและกลุ่มเสี่ยงและสร้างความเป็นธรรมแก่ระบบได้"
อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ แต่ขั้นตอนหลังจากนี้ ทางกรมฯจะต้อง ออกฎหมายลูกที่เป็นรายละเอียดการปฏิบัติงานการรับส่งข้อมูลทั้งหมดตามกฎหมายซึ่งที่ผ่านมา กรมฯก็ได้ประสานกับสถาบัน การเงินบ้างแล้ว โดยในส่วนการวางระบบไอที ที่จะเชื่อมโยงข้อมูลจากสถาบันการเงิน มายังกรมฯก็ได้ดำเนินการแล้ว
ฉะนั้น ด้วยระบบการนำส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว จะช่วยให้กรมฯ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีกฎหมายที่สำคัญที่จะสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการในประเทศ แต่เสนอไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ คือ พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกิจ อิเล็กทรอนิกส์ (e-business) ที่อยู่ในต่างประเทศและขายบริการให้กับบุคคลธรรมดาในประเทศ
โดย สุพรรณี พุฒิพิสุทธิ์
Source: กรุงเทพธุรกิจ