ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเป็นเรื่องเป็นราว เริ่มจากจีน ที่สงครามการค้ายืดเยื้อกับสหรัฐเริ่มส่งผล ประกอบกับเศรษฐกิจ สหรัฐที่มีการชะลอตัวให้เห็นบ้างแล้วตั้งแต่ปลายปีนี้ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่อาเซียนจะไม่ได้รับผลพวง มาดูกันว่า เศรษฐกิจอาเซียนปีหน้าไปในทิศทางใด
รายงานสำรวจ จัดทำโดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและนิกเคอิ ซึ่งทำการสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ตลอดจนนักวิเคราะห์ประมาณ 40 คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)โดยเฉพาะในกลุ่มชาติเศรษฐกิจใหญ่สุด 5 ประเทศคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย กับอินเดียอีก 1 ประเทศ พบว่า ภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ยังหาทางออกร่วมกันไม่ได้ รวมทั้ง ประเด็นการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่หลายประเทศขับเคี่ยวกันอย่างจริงจัง ด้วยความหวังว่าจะไม่ตกเทรนด์และได้ประโยชน์จากการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และการเลือกตั้งทั่วไปในหลายประเทศของอาเซียน ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ฉุดให้แนวโน้มเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคอ่อนแอลง
ทั้งนี้ การส่งเสริมความชำนาญด้านดิจิทัลและการสร้างฐานบุคลากรดิจิทัล ของอาเซียน ต้องเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของเสาหลักใหม่อาเซียน ภาคเอสเอ็มอี สนับสนุนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของทั้งอาเซียนได้กว่า 50% และ คิดเป็น 99% ของบริษัททั้งภูมิภาค แต่ 45% ของบริษัทเหล่านี้ ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล การมีทักษะ ดิจิทัลที่จำเป็นจะเพิ่มผลการดำเนินงานของเอสเอ็มอี และสร้างโอกาสที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคได้ในระดับสูงสุด
ศูนย์วิจัยแห่งนี้ คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนในปี2562 ที่เคยขยายตัวอย่างแข็งแกร่งจะปรับตัวลงประมาณ 0.1% เป็น 4.7% ถือเป็นการปรับตัว ลงติดต่อกันสองไตรมาสเมื่อเทียบกับการคาดการณ์เมื่อเดือนกันยายน พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งขยายตัว อย่างต่อเนื่องในช่วง 6-8 % ติดต่อกันมาหลายปี จะเริ่มชะลอตัวลงในช่วงปี 2561-2562 และช่วงปี 2562-2563 โดยบรรดา นักเศรษฐศาสตร์เริ่มมองเห็นผลกระทบจากสงครามการค้าว่าจะเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศนี้
รายงานชิ้นนี้ ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ การเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2561 ให้อยู่ที่ 4.8% ลดลงประมาณ 0.1% จากที่เคยสำรวจเมื่อเดือนกันยายน และต่ำกว่าตัวเลขปี 2560 ประมาณ 0.2% พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าการขยายตัว ของเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2562 จะอยู่ที่ 4.7% ลดลงประมาณ 0.1% และลดลงจากตัวเลขประมาณการปี 2561 ซึ่ง การส่งออกที่อ่อนแอลงเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ฉุดให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนชะลอตัวลง
นักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่า มาตรการจัดเก็บภาษีของสหรัฐ จะส่งผลกระทบ ต่อจีนอย่างหนักในปี 2562 เนื่องจาก เศรษฐกิจจีนต้องเผชิญกับปัจจัยภายในประเทศมากขึ้นมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมา มาตรการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลสหรัฐ ส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกทางจิตวิทยา แต่เมื่อเข้าสู่ปีหน้า ก็จะเปลี่ยนแปลงไปและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน
เมื่อวันพุธ (26ธ.ค.)ที่ผ่านมา รัฐบาลจีน ประกาศว่า รัฐบาลเตรียมยกระดับการสนับสนุน ภาคเอกชนในปี 2562 โดยคณะรัฐมนตรีจีน ประกาศมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือบริษัทเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รวมถึงปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
แถลงการณ์จากการประชุมคณะรัฐมนตรีจีน ระบุว่า ธนาคารกลางจีน จะปรับปรุงนโยบายต่างๆ ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตรากันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (อาร์อาร์อาร์) แบบมีเป้าหมาย และการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุม เพื่อช่วยหนุนบริษัทเอกชน
ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของเวียดนาม ขยายตัว รวดเร็วขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 เนื่องจากได้แรงหนุนจากภาคการผลิตที่เติบโตแข็งแกร่ง โดยรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวม ภายในประเทศ (จีดีพี) ของเวียดนาม ขยายตัว 7.3% ในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นจากระดับ 6.82% ในไตรมาสก่อนหน้า และตลอดทั้งปี 2561 เศรษฐกิจของเวียดนามขยายตัวที่อัตรา 7.1% เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ที่ระดับ 6.9% ขณะที่ตัวเลขการผลิตในเดือนม.ค-ธ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 13% จากปีที่แล้ว
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและนิกเคอิ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยและมาเลเซีย ที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักจะปรับตัวลงทั้งปี2561 และปี 2562 ขณะที่การบริโภคของภาคเอกชนที่ยังคงแข็งแกร่งจะช่วยชดเชยภาวะการชะลอตัวของการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐได้
"แรงกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยจากภายนอกเริ่มแผ่วลง แต่จะได้การบริโภคของภาคเอกชนที่ยังคงคึกคักเข้ามาช่วยชดเชยภาวะการชะลอตัวของการส่งออกและการลงทุนของภาครัฐ"นักวิเคราะห์จากวาณิชธนกิจในมาเลเซีย ให้ความเห็น
พร้อมกันนี้ ยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะขยายตัวกว่า 5% ไปจนถึงปี 2563 แต่คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปีหน้าจะลดลง เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนในประเทศลดความร้อนแรงลง
ส่วนฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวกว่า 6%ไปจนถึงปี 2563 เนื่องจากความต้องการในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2561 จะชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นยังคงเป็นปัจจัยลบกดดันการบริโภคในประเทศและการใช้จ่ายด้านการลงทุน
ขณะที่เศรษฐกิจอินเดีย คาดว่าจะขยายตัว ในสัดส่วนกว่า 7% ในปี2561 ปี 2562 และต่อเนื่องไปอีกหลายปี โดยบรรดา นักเศรษฐศาสตร์เห็นสัญญาณการบริโภคที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในอินเดีย บวกกับ การลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแดนภารตะให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
Source: กรุงเทพธุรกิจ