1. สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน
รั้งอยู่ในอันดับที่ 1 ใน 100 อันดับบุคคลทรงอิทธิพลจัดทำโดยนิตยสารฟอร์บส์ "สี จิ้นผิง" ประธานาธิบดีจีน เวลานี้กลายเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกอย่างไม่ต้องสงสัย หลังจากเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
สภาประชาชาชนแห่งชาติของจีน มี มติแก้ไขกฎหมายโดยยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบจีนลง ส่งผลให้ สี จิ้นผิง ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีจีนตลอดชีวิต ไปโดยปริยาย
สี จิ้นผิง ประกาศการก้าวเข้าสู่ "ยุคใหม่" ของจีนไปสู่การเป็นศูนย์กลางของเวทีระดับโลกแทนที่สหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้นำทาง การค้า รวมไปถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังจากสหรัฐภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสไปก่อนหน้านี้
สี จิ้นผิง ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำจีนไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลภายใต้สโลแกน "ความฝันจีน" ซึ่งถือว่าเป็นการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ ส่งผลให้จีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากสหรัฐ ขณะที่เทคโนโลยีก็เติบโตแบบก้าวกระโดดกลายเป็นชาติที่สร้างความท้าทายให้กับสหรัฐอเมริกามากที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดชีวิตของสี จิ้นผิง ในอีกทางหนึ่งก็สร้างความห่วงกังวลกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในจีนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์ ในมณฑลซินเจียง พื้นที่ทางตะวันตกของประเทศ รวมไปถึงกระแสข่าวการสร้าง "ศูนย์ปรับทัศนคติ" ที่มีขึ้นเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากอิสลามสุดโต่ง
นอกจากนี้ ยังมีความห่วงกังวลถึงการขยายอิทธิพลในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นกรณีพิพาทน่านน้ำในทะเลจีนใต้ รวมถึงการจัดการกับผู้เห็นต่างและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทั้งในฮ่องกง และไต้หวัน ด้วยเช่นกัน
2. โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ
ผู้นำสหรัฐอยู่ในอันดับที่ 3 ของการจัดอันดับ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกประจำปี 2018 ของนิตยสารฟอร์บส์ และอยู่ในอันดับที่ 2 บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์
แน่นอนว่าการเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐแบบเหนือความคาดหมาย รวมถึงนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" ส่งผล กระทบใหญ่หลวงกับวงการการเมืองในสหรัฐเอง รวมถึงการเมืองในประชาคมโลก
แม้ทรัมป์จะกล่าวอ้างเอาการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ เป็นหนึ่งในผลงานของตน แต่นโยบายที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหนึ่งในนั้นคือการดำเนินนโยบายเข้มงวดกับกลุ่มผู้อพยพ โดยเฉพาะนโยบาย "ความอดทนเป็นศูนย์" หนึ่งในนั้นคือการแยกเด็กจากครอบครัว ที่สร้างความเดือดร้อนกับผู้อพยพจากภูมิภาคอเมริกากลางจำนวนมาก
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายทางการค้าระหว่างประเทศด้วยการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าโดยเฉพาะจากประเทศจีนให้อยู่ในระดับสูงเพื่อกดดันให้จีนทำตามข้อเรียกร้องทางการค้าของสหรัฐ ก็นำไปเชื่อไฟอันคุกรุ่นของสงครามการค้า แม้สองชาติจะมีข้อตกลงยุติการเผชิญหน้าลงเป็นการชั่วคราวเพื่อให้มีการเจรจากันเป็นเวลา 90 วันก็ตาม
ไม่เพียงเท่านั้นทรัมป์ยังนำสหรัฐอเมริกาโดดเดี่ยวออกจากประชาคมโลกอีกครั้งด้วยการถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ที่ทรัมป์ระบุว่าเป็นการทำข้อตกลงเพียงฝ่ายเดียวซึ่งอ่อนแอและไม่สามารถทำให้อิหร่านยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้
ทรัมป์หันมาวางมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านอย่างเข้มข้นอีกครั้ง และนำไปสู่การจับกุมนางเมิ่ง หวั่นโจว ผู้บริหารหัวเว่ย ในข้อหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตร ที่อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนที่อ่อนไหวอยู่แล้วตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก
แม้จะมีนโยบายที่สร้างความประหลาดใจกับประชาคมโลกได้ตลอด ทว่าทรัมป์ก็สร้างประวัติศาสตร์ร่วมหารือระดับผู้นำสูงสุดระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือ ที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกที่สิงคโปร์ในเดือนมิถุนายน ช่วยลดความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีได้มาก ขณะที่ทรัมป์เองระบุว่าเตรียมที่จะจัดการหารือกันอีกครั้งในต้นปี 2019 นี้
3. มุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้
"ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การรวมตัวทางเศรษฐกิจ และสุดท้ายการรวมตัวกันใหม่" เป็นนโยบายหลักของ "มุน แจ อิน" ในช่วงหาเสียงก่อนคว้าชัยนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในช่วงเดือนเมษายนปี 2017 ที่ผ่านมา
ในฐานะนักเจรจาที่เคยทำให้เกิดการหารือระดับสุดยอดผู้นำระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มาแล้วเมื่อปี 2007 ในปี 2018 นี้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ก้าวไปไกลกว่านั้นด้วยการเป็นตัวกลางทำให้สองชาติปฏิปักษ์อย่าง "สหรัฐอเมริกา" และ "เกาหลีเหนือ" นั่งโต๊ะเจรจากันได้สำเร็จ
โอกาสในการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างโลกคอมมิวนิสต์และโลกประชาธิปไตย ที่ถูกแยกตัวออกไปในยุคสงครามเย็น เริ่มตั้นขึ้นในช่วงต้นปี 2018 เมื่อประธานาธิบดีเกาหลีใต้ใช้การเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ตอบรับข้อเสนอของเกาหลีเหนือในการส่งตัวแทนนักกีฬาร่วมกันภายใต้ธงผืนเดียวกัน
และในที่สุดกีฬาก็นำไปสู่การหารือระดับผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้อีกครั้งในวันที่ 27 เมษายน เหตุการณ์ซึ่ง "คิม จอง อึน" กลายเป็นผู้นำเกาหลีเหนือคนแรกที่เดินข้ามเส้นแบ่งเขตแดนในเขตปลอดทหารปันมุนจอมสู่แผ่นดินเกาหลีใต้ นำไปสู่การเจรจาเพื่อสิ้นสุดสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ และการปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์
นอกจากนี้ มุน แจ อิน ยังเป็นสื่อกลางในการจัดให้มีการหารือระดับสูงระหว่างผู้นำสหรัฐและเกาหลีเหนือ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา
ผลงานของมุน แจ อิน เป็นที่ประจักษ์ในการลดอุณหภูมิที่ร้อนแรงในคาบสมุทรเกาหลีลง หลังสงครามน้ำลายระหว่างทรัมป์ และคิม ก่อนหน้านั้นทำให้โลกกังวลว่าอาจทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นได้
ผลงานของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ทำให้ทรัมป์ ผู้ที่เรียก คิมว่า "มนุษย์จรวด" ก่อนหน้านี้ เปลี่ยนคำนิยามผู้นำเกาหลีเหนือเป็น "ชายผู้มีความสามารถเป็นเลิศ"
4. อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
ในปี 2018 ที่ผ่านมา ภูมิภาคยุโรปคงจะไม่มีใครโดดเด่นในหน้าสื่อเท่ากับแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ผู้ที่นำประเทศเยอรมนีมีเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น สวนทางกับวิกฤตเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเฉพาะการลดอัตราการว่างงานนับจากปีที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2005 ที่ 12 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือ 3.3 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้
นอกจากผลงานในประเทศแล้วผลงานในระดับภูมิภาคในฐานะที่เยอรมนีเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป (อียู) ก็มีมากมายไม่แพ้กันไม่ว่าจะเป็นการเป็นศูนย์กลางรวมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอียูเข้าไว้ด้วยกัน ในการเจรจาเพื่อการถอนตัวของอังกฤษออกจากอียู หรือเบร็กซิท การผลักดันแผนปฏิรูปอียู รวมไปถึงนโยบายที่ไม่เป็นที่พอใจกับชาติสมาชิกอียูและการเมืองฝั่งปีกขวามากนักอย่างการเปิดรับผู้ลี้ภัย แต่ก็ได้รับเสียงชื่นชมไปทั่วโลก ท่าทีซึ่งตรงกันข้ามกับโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีนโยบายปิดรับผู้อพยพ
บทบาทอันโดดเด่นของผู้นำหญิงแห่งเยอรมนีส่งผลให้แมร์เคิลได้รับเลือกให้เป็น ผู้หญิงทรงอิทธิพลอันดับ 1 ของการจัดอันดับผู้หญิงทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก 100 คน ของนิตยสารฟอร์บส์ประจำปี 2018 เป็นการครองตำแหน่งติดต่อกันถึง 8 ปีซ้อน นอกจากนี้ ในการจัดอันดับบุคคลทรงอิทธิพล 100 คน ของนิตยสารฟอร์บส์ ในปีนี้ แมร์เคิลยังเป็นผู้หญิงที่ครองอันดับ 4 ของการจัดอันดับรองจากสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ
ล่าสุด แมร์เคิล ประกาศที่จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2021 เปิดช่องให้แนวคิดขวาจัดที่เริ่มก่อตัวขึ้นในเยอรมนีกลับมามีความหวัง และเป็นสิ่งที่น่าคิดเช่นกันว่าเยอรมนี รวมไปถึงอียู ในเวลานั้นจะมีทิศทางต่อไปอย่างไรโดยปราศจากผู้นำหญิงรายนี้
5. จามาล คาช็อกกี คอลัมนิสต์วอชิงตันโพสต์
กลายเป็นคดีที่สร้างความตกตะลึงให้กับคนทั้งโลกเมื่อ "จามาล คาช็อกกี" คอลัมนิสต์ชาวซาอุดีอาระเบีย ของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ในสหรัฐอเมริกา ถูกฆาตกรรมภายในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากนายคาช็อกกีเข้าไปขอเอกสารเพื่อใช้ในการแต่งงานกับคู่หมั้นแต่แล้วก็ไม่ได้กลับออกมาอีกเลย
คาช็อกกี เป็นนักข่าวชาวซาอุดีอาระเบียที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา เดินทางออกจากซาอุดีอาระเบียเมื่อปี 2017 หลังถูกห้ามใช้งานบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว หลังจากนั้นคาช็อกกีได้เริ่มเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย วิจารณ์มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน และกษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ ยังแสดงออกถึงการต่อต้านนโยบายการแทรกแซงทางทหารของซาอุดีอาระเบียในเยเมนด้วย
การเสียชีวิตของนายคาช็อกกี เป็นอีกครั้งที่สะท้อนพฤติกรรมสมคบคิดอันดำมืดของประเทศเศรษฐีน้ำมัน การกำจัดผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง สวนทางกับนโยบายปฏิรูปประเทศในทิศทางทุนนิยมเสรีมากขึ้นภายใต้การนำของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบียผู้ครองตำแหน่งบุคคลทรงอิทธิพลลำดับที่ 8 จาก 100 อันดับผู้ทรงอิทธิพลของของนิตยสารฟอร์บส์
แน่นอนว่า คาซ็อกกี ได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์เป็นบุคคลแห่งปี 2018 รวมกับ "ผู้สื่อข่าวที่ถูกฆ่าและถูกขัง" ทั่วโลกเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ในฐานะ "ผู้พิทักษ์ความจริง" เป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้เห็นว่าโลกยุคปัจจุบันความเสี่ยงของผู้ทำงานข่าวนั้นมีเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในปี 2018 ที่ผ่านมามีผู้สื่อข่าวถูกฆ่าไปแล้วมากกว่า 50 คน
Source: มติชน
ภาพจาก https://www.smh.com.au/…/angela-merkel-eyes-chinese-influen…