"แบงก์ชาติ" ปรับวงเงินขายบอนด์ระยะสั้น 3 เดือนและ 6 เดือน สู่ระดับปกติที่ 4 หมื่นล้าน หลังคลายกังวลต่างชาตินำเงินเข้ามาพักในบอนด์ระยะสั้น สอดคล้องกับความต้องการตลาด ประเมินแนวโน้มปี 62 ค่าเงินยังผันผวนหนัก
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วย ผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.เริ่มผ่อนคลายความกังวล จากกรณีที่ต่างชาตินำเงินร้อน หรือฮอตมันนี่ เข้ามาลงทุน และพักเงินในพันธบัตรระยะสั้น เนื่องจากระยะนี้ ไม่เห็นสัญญาณการเข้ามา เก็งกำไรในลักษณะดังกล่าว ธปท.จึงเห็นว่า เป็นจังหวะเหมาะสม ที่ธปท.จะยกเลิกมาตรการ การป้องกันเงินไหลเข้าของต่างชาติ โดยการกลับมาออกบอนด์ในวงเงินปกติ สำหรับบอนด์ระยะสั้น 3 เดือนและ 6 เดือน ในวงเงิน 40,000 ล้านบาทต่อสัปดาห์เหมือนอดีต
จากก่อนหน้านี้ ที่ธปท.มีการประกาศมาตรการคุมเงินไหลเข้าของต่างชาติ โดยเริ่มมีการลดการขายบอนด์ระยะสั้น 3 เดือน และ 6 เดือน ตั้งแต่ เม.ย.2560 ที่วงเงิน 10,000 ล้านบาท ทำให้เหลือ บอนด์ที่นำออกมาประมูลขายเพียง สัปดาห์ละ 30,000 บาทในแต่ละช่วงเวลา จนกระทั่งเมื่อพ.ค.2561 ธปท.ได้กลับมา ผ่อนคลายมาตรการ โดยคำนึงถึงสภาพตลาด และความต้องการของนักลงทุน จึงเพิ่มการขายบอนด์อีก 5,000 ล้านบาท ทำให้ มีวงเงินการขยายบอนด์ขณะนั้น 35,000 ล้านบาทต่อสัปดาห์
"จุดประสงค์เรา เราไม่ได้กังวลเรื่องเงินไหลเข้าแล้ว ความกังวลนี้ลดลงไปเยอะ ผลกระทบมีไม่ได้มาก หากเทียบกับ ช่วงแรกที่เราต้องออกมาตรการ ที่เห็น ฝรั่งเข้ามาในบอนด์ระยะสั้นมาก ที่เข้ามาพักเงินในบอนด์ระยะสั้น ทำให้ค่าเงินเราแข็งค่า แต่ช่วงหลังๆ มานี้ เราเห็นมาเงินของฝรั่งที่เข้ามาไม่ได้มากมายอะไร และ คิดว่าธปท.น่าจะสามารถบริหารจัดการ เงินไหลเข้าไหลออกได้เป็นอย่างดี จึงกลับมา ขายบอนด์สู่ภาวะปกติที่ 40,000 ล้านบาท ต่อสัปดาห์เหมือนเดิมสำหรับบอนด์ ระยะสั้น" นางจันทวรรณ กล่าว
ด้านนางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วย ผู้ว่าการ สายตลาดเงิน ธปท.กล่าวว่า การกลับมาขายบอนด์สู่ภาวะปกตินั้น ธปท.ได้ดำเนินการมา 1-2 เดือนที่ผ่านมาแล้ว เพราะเชื่อว่า ธปท.จะสามารถบริหารจัดการเงินที่ไหลเข้ามาได้ ส่วนในอนาคตธปท.จะกลับมาใช้มาตรการดังกล่าวอีกหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากต้องรอดูทิศทางเงินไหลเข้าของต่างชาติ แต่เครื่องมือเหล่านี้ควรมีไว้ และเป็นเครื่องมือ ที่สามารถนำออกมาใช้ได้ เพื่อแก้ไขปัญหา ต่างๆ เพราะเครื่องมือเหล่านี้ ถือเป็น เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ที่ยืดหยุ่น สามารถปรับขึ้นปรับลดได้
"เราไม่อยากบอกว่า เราจะไม่นำเครื่องนี้ ออกมาใช้อีก ไม่ควรมั่นใจขนาดนั้น แต่เครื่องมือนี้ก็ต้องมีไว้ เหมือนเครื่องมืออื่นๆ ที่ธปท.มีไว้ และถือว่าเป็นเครื่องมือ ที่ยืดหยุ่น ปรับขึ้นปรับลงได้ เอามาใช้ช่วงที่ มีเงินเข้ามาพักเยอะ และทำให้มีต้นทุน ความเสียหายเยอะ เครื่องนี้ก็ถือเป็น เครื่องมือที่มีเสถียรภาพ แต่เราก็มีการ มอนิเตอร์อยู่ตลอด ไม่ได้เลิกห่วง ของอย่างนี้มันปรับทิศเร็ว ดังนั้นก็ต้อง มีเครื่องมือเหล่านี้ให้พร้อม"
ขณะเดียวกัน คาดว่า ภายใต้ความผันผวน ที่มีมากในปัจจุบัน และในระยะข้างหน้า อาจส่งผลให้ความต้องการในบอนด์กลับมา เป็นที่ต้องการของนักลงทุนมากขึ้นในระยะข้างหน้า เพราะนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากกว่าหุ้น หรือการลงทุนในตลาดอื่นๆ ทั้งนี้หากดูการถือครองบอนด์ของต่างชาติ พบว่าปัจจุบัน ก็ทรงๆ โดยอยู่ที่ราว 9-10% หากเทียบกับมูลค่าบอนด์ทั้งหมด ซึ่งถือว่า ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะนี้ และหากดูพฤติกรรมการเข้ามาซื้อบอนด์ พบว่ามีทั้งบอนด์ระยะสั้น และบอนด์ระยะยาว ซึ่งไม่ได้เหมือนอดีตที่ขณะนั้น ต่างชาติมีการนำเงินเข้ามาลงทุนในบอนด์ระยะสั้นมากกว่า
อย่างไรก็ตาม หากดูภาพค่าเงินบาท ปี2562 เชื่อว่า ค่าเงินบาท มีแนวโน้มผันผวน ต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัย ภายนอก และ ปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะปัจจัย ต่างประเทศที่จะมีผลทำให้ค่าเงินบาท และค่าเงินในภูมิภาคมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะเรื่องสงครามการค้า ดังนั้น บางช่วง อาจจะเห็นเงินไหลออกได้ ขณะที่ บางช่วงก็อาจเห็นเงินไหลเข้าได้ โดยเฉพาะ จากปัจจัยในประเทศ เช่น ประเด็นการเลือกตั้ง หากมีความชัดเจน และเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นต่อเนื่อง อาจหนุนให้ค่าเงินบาท กลับมาแข็งค่าได้ และเห็นค่าเงินบาท ไม่ได้อ่อนค่าเหมือนบางประเทศในภูมิภาคได้
ภายใต้ความผันผวนดังกล่าว จะทำให้ค่าความผันผวนของค่าเงินบาท ปี 2562 น่าจะมีมากขึ้น หากเทียบกับปี 2561 ที่ค่าเงินบาทผันผวนสูงที่ราว 4% หาก เทียบกับปี 2560 ที่ค่าเงินผันผวนเพียงระดับ3% เท่านั้น ซึ่งหลักๆ มาจาก ประเด็นสงครามทางการค้า และการดำเนินนโยบายการเงินของทั่วโลก ที่เริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติมากขึ้น ดังนั้นหน้าที่ของธปท.คือ พยายามดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวน จนเกินไปจนกระทบต่อระบบโดยรวม แต่หากประชาชนเริ่มมีการรับมือได้ ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
Source: กรุงเทพธุรกิจ