การกลับลำของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นการเปลี่ยนทิศทางครั้งใหญ่ของแบงก์ชาติทรงอิทธิพลเบอร์ 1 ของโลก

ที่กำลังทำให้นโยบายการเงินทั่วโลกในปีนี้เปลี่ยนทิศทางตามไปด้วย

ตลอดทั้งปี 2018 ที่ผ่านมา เฟดยืนยันมาตลอดว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง จนนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 4 ครั้งในปีเดียว พร้อมทิ้งท้ายในการประชุมสิ้นปีเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อ

แต่ผ่านไปเพียง 1 เดือน เฟดกลับส่งสัญญาณใหม่ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาว่า จะใจเย็นอดทนรอต่อ "การปรับ ดอกเบี้ย" ครั้งต่อไป โดยไม่ได้พูดถึง "การทยอยขึ้นดอกเบี้ย" เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากเหตุผลที่อัตราเงินเฟ้อไม่ขยับและโลกยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนกับยุโรปที่ชะลอตัว ซึ่งนอกจากสัญญาณใหม่เรื่องดอกเบี้ยแล้ว เฟดยังเพิ่มความยืดหยุ่นเรื่องการลดขนาดงบดุล ทำให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองตรงกันว่า นี่อาจเป็นสัญญาณของการยุติวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นที่ดำเนินมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา กับการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 9 ครั้ง

และสัญญาณจากเฟดครั้งนี้เองยังเป็นการปลดล็อกความตึงเครียดของภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลกให้สามารถผ่อนเกียร์ลงมาได้ในปี 2019 นี้ ที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจจีน ยุโรป เบร็กซิต สงครามการค้าที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงแบบไหน รวมไปถึงค่าเงินที่กำลังแข็งค่าหนักเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐจนกระทบการส่งออกด้วย

ที่จริงแล้ว ก่อนหน้าที่เฟดจะปรับท่าทีครั้งล่าสุด นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเคยให้ความเห็นมาบ้างแล้วว่า แม้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้ แต่บรรดาแบงก์ชาติส่วนใหญ่โดยเฉพาะในเอเชียอาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยตาม เพราะผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน จะเริ่มส่งผลกระทบแบบเห็นได้ชัดหนักขึ้นในปีนี้ และยังต้องรับมือกับจีน รวมถึง เบร็กซิต ทำให้แบงก์ชาติในบางประเทศเลือกที่จะขึ้นดอกเบี้ยกันไปในปี 2018 เพื่อลดระยะห่างของดอกเบี้ยตนเองกับเฟดในจังหวะที่ภาวะเศรษฐกิจยังดีอยู่ และคงนโยบายดอกเบี้ยไปยาวๆ ในปีนี้จนกว่าจะถึงช่วงปลายปี หรือพ้นครึ่งปีหลังไปมากกว่า เช่น เกาหลีใต้และไทย

อย่างไรก็ดี เมื่อมีตัวแปรใหม่อย่างเฟดเข้ามา ทิศทางการคงดอกเบี้ยจึงยิ่งยืดหยุ่นได้มากขึ้นกว่าเดิมจนถึงขั้นมองกันใหม่ว่า อาจจะสามารถไปถึงขั้น "ลดดอกเบี้ย" ลงได้ด้วย หากภาวะเศรษฐกิจปีนี้แย่กว่าที่คาดไว้

ธนาคารกลางของ "ออสเตรเลีย" คือแบงก์ชาติรายแรกที่เริ่มส่งสัญญาณดังกล่าวออกมาแล้วในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา โดย ฟิลิป โลว์ ผู้ว่าการแบงก์ชาติออสเตรเลียกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยหลังจากนี้สามารถออกมาในทิศทาง "ขึ้น" หรือ "ลง" ได้ทั้งสองแบบ โดยขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อและความแข็งแกร่งของตลาดการจ้างงานในประเทศ เป็นปัจจัยหลัก

มิญ จาง นักค้าเงินอาวุโสจากธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ แบงก์ ให้มุมมองกับรอยเตอร์สว่า การเปิดช่องลดดอกเบี้ยส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียที่อ่อนค่าลงทันที 1.48% เพราะสัญญาณแบงก์ชาติครั้งนี้เป็นสายพิราบ หรือผ่อนคลายมากกว่าที่คาดกันเอาไว้ และเปลี่ยนไปจากในช่วงประมาณ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา ที่มีแต่คนคุยกันเรื่องดอกเบี้ยขาขึ้น หรือนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น แต่ตอนนี้สัญญาณกำลังเปลี่ยนไปแล้ว แม้จะยังไม่ถึงขั้นการเงินผ่อนปรนง่ายๆ แต่ที่แน่ๆ คือจะไม่ตึงตัวอย่างที่เคยคาดกันไว้ก่อนหน้านี้

แต่ที่เซอร์ไพรส์กว่าอย่างเหนือความคาดหมายก็คือ "อินเดีย" เพราะธนาคารกลางอินเดียเป็นแบงก์ชาติรายแรกที่ประกาศ "ลดอัตรดอกเบี้ย" หลังการเปลี่ยนทิศทางของเฟด และเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2017 โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินลงมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 2 เสียง ให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 6.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมให้ทิศทางดอกเบี้ยต่อไปเป็นระดับปานกลาง คือสามารถขึ้นหรือลดดอกเบี้ยครั้งหน้าได้ โดยขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์กันว่าแบงก์ชาติอินเดียภายใต้ผู้ว่าการคนใหม่ ชักติกันตา ดาส จะส่งสัญญาณผ่อนคลายทิศทางดอกเบี้ยก่อนเป็นสเต็ปแรกในการประชุมครั้งนี้ เพื่อเปิดช่องให้ลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปหรือภายในปีนี้ ขณะที่อินเดียกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้

แบงก์ชาติอินเดียให้เหตุผลเอาไว้ว่า แม้การลงทุนจะยังฟื้นตัวดี แต่โดยหลักแล้วมาจากการใช้งบประมาณลงทุนของรัฐ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นการลงทุนและบริโภคจากภาคเอกชน หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจอินเดียในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว โตน้อยกว่าที่คาดอยู่ที่ 7.1% เพราะการอ่อนแรงลงในภาคการบริโภคและภาคเกษตร

แม้การลดดอกเบี้ยของอินเดียอาจจะมีปัจจัยทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งเข้ามามีอิทธิพลด้วย แต่ทิศทางที่เริ่มเปลี่ยนไปของแบงก์ชาติ 2 แห่งดังกล่าวก็อาจจะพอส่งสัญญาณได้ว่า เมื่อเฟดแบะท่า แบงก์ชาติทั่วโลกก็พร้อมที่จะพากันยืดหยุ่นนโยบายการเงิน และอาจทำให้วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลกในปีนี้ต้องชะงักงันหรือจบลงอย่างแท้จริง

โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ

Source: Posttoday

0 Share