ภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ กำลังเป็นฮอตสปอตของเศรษฐกิจบนมือถือแซงหน้าจีน โดยบรรดาผู้บริโภคชาวไทย-อินโดฯ-สิงคโปร์ แห่ทำกิจกรรมต่างๆบนอุปกรณ์เคลื่อนที่
ทั้งการทำธุรกรรมทางการเงินทางออนไลน์ ซื้อสินค้า และบริการ และเรียกใช้บริการรถรับจ้างผ่านแอพพลิเคชั่น
จีน อาจจะเป็นบ้านของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซโลกอย่างอาลีบาบา แต่อินโดนีเซีย ก็เป็นประเทศที่มีอัตราการเข้าถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซบนมือถือสูงที่สุดในโลก ส่วนไทย เป็นประเทศชั้นนำในการทำ ธุรกรรมทางการเงินบนมือถือ และสิงคโปร์ มีความโดดเด่นในฐานะเป็นศูนย์กลาง ด้านการใช้แอพพลิเคชั่นเรียกรถรับจ้าง นี่จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า เพราะ เหตุใดเม็ดเงินลงทุนจึงหลั่งไหลเข้าไป ยังบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพอาเซียน ซึ่ง จะช่วยหนุนให้ภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ทรงพลังที่สุด ในช่วงที่เศรษฐกิจจีนออกอาการซวนเซจากภาวะการชะลอตัว
รายงานประจำปีของโกลบอล ดิจิทัล รีพอร์ท ปี 2562 จัดทำโดย ฮูทสวีทแพลตฟอร์มบริหารจัดการสื่อโซเชียลและวี อาร์ โซเชียล บริษัทด้านการตลาดดิจิทัล ระบุว่า ในกลุ่ม ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของไทยนั้น มีสัดส่วน 74% ที่เข้าถึงการบริการธนาคารผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ทำให้ไทยเป็นหนึ่ง ในจุดหมายปลายทางที่บรรดา นักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาท่องเที่ยว มากที่สุดของภูมิภาคเอเชียแซงหน้า อัตราของทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 41% และสูงกว่าในจีนซึ่งอยู่ที่ 61%
รายงานชิ้นนี้ ระบุว่า การโอนเงิน ผ่านระบบธนาคารแบบออนไลน์ที่ทำบน มือถือยังคงเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยม มากที่สุดในหมู่ผู้บริโภคชาวไทยที่ประชากรส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงบัตรเครดิต หรือ สมุดเช็ค ซึ่งเปิดโอกาสให้การทำธุรกรรมทางการเงินบนมือถือขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ของไทย ก็ปรับตัวรับกระแสการมาถึงของเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน โดยเมื่อเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว ธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งของไทย คือ กรุงเทพ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และกรุงไทย ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตและบนมือถือสำหรับผู้เปิดบัญชีกับธนาคาร จากนั้น ไม่นาน ธนาคารขนาดเล็กรายอื่นๆก็ดำเนินนโยบายในลักษณะคล้ายๆ กัน เพื่อรับมือกับการแข่งขันอย่างดุเดือดของอุตสาหกรรมให้บริการทางการเงิน เพราะมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆเข้ามาแข่งขันด้วย อาทิ ไลน์ เพย์
แนวโน้มการบริการในรูปแบบดังกล่าว ของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของไทย สอดคล้องกับแผนการของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นสังคมไร้เงินสด และรัฐบาลเองคาดหวังว่าจะได้ประโยชน์มหาศาลจากเศรษฐกิจการจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการทางดิจิทัล ขณะที่กระแสความนิยมทำธุรกรรมทางการเงินบนมือถือที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ เปิดโอกาสให้บริษัทขนาดกลางและเล็ก(เอสเอ็มอี)ยื่นเอกสารสมัครเพื่อขอสินเชื่อ และทำให้ยากต่อการที่จะติดสินบนหรือฉ้อฉล รวมทั้งทำให้การค้ามนุษย์หรือการลักลอบค้ายาเสพติดกระทำได้ยากด้วยเช่นกัน
ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของโทโกพีเดีย และบูกาลาพัก ยูนิคอร์นในธุรกิจอีคอมเมิร์ซในฐานะที่มีผู้เข้าใช้บริการในอันดับต้นๆของโลก โดยในช่วงเดือน ที่ผ่านมา 76% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซื้อสินค้าผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ทิ้งห่างส่วนอื่นของโลกแบบไม่เห็นฝุ่นซึ่งมีสัดส่วน 55% รวมทั้งจีนที่มีสัดส่วน 74%
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในแง่ประชากรศาสตร์ของอินโดนีเซียแล้ว จะพบว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซบนมือถือเติบโตอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง โดยประมาณ 60% ของประชากรในอินโดนีเซีย 260 ล้านคน มีอายุต่ำกว่า 40 ปี สัดส่วนการเข้าถึงอุปกรณ์เคลื่อนที่อยู่ที่ 70% และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนเป็นเรื่องปกติของประชากรในประเทศนี้
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซบนมือถือเป็น กิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากในเมือง ต่างๆ เนื่องจากการซื้อสินค้าและบริการ ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้คน ไม่ต้องออกไปเสียเวลาบนท้องถนน เพราะการจราจรที่ไม่ค่อยมีความคล่องตัว และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจของโก-เจ็ก เติบโตอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมถึง ธุรกิจส่งอาหารตามบ้านในเครือของ บริษัทที่ชื่อโก-ฟู้ดด้วย ซึ่งบริษัทระบุว่า มูลค่าการโอนเงินเพื่อเป็นค่าบริการ ส่งอาหารจากลูกค้าในแต่ละปีอยู่ที่ 2,000 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นธุรกิจให้บริการส่งอาหารรายใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่ธุรกิจเรียกรถบริการผ่าน แอพพลิเคชั่นที่โดดเด่นที่สุดของภูมิภาค คือในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทแกร็บ ที่ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่สุดในธุรกิจให้บริการเรียกรถรับจ้างผ่านแอพพลิเคชั่น โดยใน กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของสิงคโปร์ มีสัดส่วนการใช้แอพฯเรียกรถรับจ้างอย่างน้อยเดือนละครั้งมากที่สุดคือ 52% อินโดนีเซีย ตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ 51% และอันดับ3 คือ มาเลเซียที่ 48% ส่วนสัดส่วนของทั่วโลกอยู่ที่ 30% และในจีน 35%
ด้วยความที่สิงคโปร์ เป็นประเทศขนาดเล็ก เป็นประเทศที่ดำเนินเศรษฐกิจรูปแบบดิจิทัลมานานหลายปีแล้ว ทั้งยังมีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการเข้าลงทุนของ บริษัทด้านเทคโนโลยี ทำให้ธุรกิจอย่างแกร็บ และอูเบอร์ เทคโนโลยี ได้แจ้งเกิดเมื่อปี 2556 และเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งแกร็บเข้าครอบครองกิจการของอูเบอร์ในตลาดอาเซียน
โกลบอล ดิจิทัล รีพอร์ท ยังระบุว่า ผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้เวลามากกว่าผู้คนในภูมิภาคอื่น ของโลกในการท่องเน็ตบนมือถือ หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ โดยคนไทย ใช้เวลามากที่สุด วันละประมาณ5 ชั่วโมง 13 นาที ตามมาด้วยชาวฟิลิปปินส์ ที่ใช้เวลาทางออนไลน์ 4 ชั่วโมง 58 นาที ส่วนอินโดนีเซีย ใช้เวลาท่องเน็ต 4 ชั่วโมง 35 นาที
เมื่อ5ปีก่อน อัตราผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 25% แต่ปัจจุบันตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 63% ส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยรวมทั้งภูมิภาคอยู่ที่ 415 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 380 ล้านคนเมื่อปีก่อน แต่ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสหรัฐและยุโรปที่มีอัตรา ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 90%
Source: กรุงเทพธุรกิจ