ถึงเวลาโลกตั้งรับ หุ่นยนต์พลิกอนาคตงาน - วาทกรรม "หุ่นยนต์แย่งงานมนุษย์" นั้นเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันมาเป็นวงกว้างตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเด็นที่มักถูกโฟกัสถึงโดยตลอดก็คือ

งานประเภทใดบ้างที่สุ่มเสี่ยงและจะมีคนต้องตกงานเพราะถูกบรรดาเทคโนโลยียุคใหม่ ตั้งแต่หุ่นยนต์ (Robot) ระบบอัตโนมัติ (Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) เข้ามาแย่งงานกันมากเท่าใด

ทว่าในรายงานล่าสุดเรื่อง อนาคตของงาน 2018 จากเวทีเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ซึ่งศึกษาเรื่องงานในอนาคตยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 กำลังให้ภาพรวมที่ "ใหญ่" มากกว่านั้นมาก เพราะไม่ได้เน้นแค่เรื่องหุ่นยนต์แย่งงานมนุษย์

ผลการศึกษาใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่าภายในปี 2022 หรืออีกแค่ 4 ปีข้างหน้านั้น แม้เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้มีตำแหน่งงานในปัจจุบันต้องหายไปราว 75 ล้านอัตรา แต่ก็จะมีการสร้างงานตำแหน่งใหม่ขึ้นมาทดแทนถึงราว 133 ล้านอัตรา ซึ่งเท่ากับว่าเทคโนโลยีจะเข้ามา "ช่วยสร้างงาน" มากกว่า "ทำลายล้าง" ถึง 58 ล้านอัตราทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวไม่ถือเป็น "ข่าวดี" ไปเสียทีเดียว และสารัตถะสำคัญก็ไม่ได้อยู่ที่เพียงจำนวนหรือปริมาณงานที่จะเกิดขึ้นใหม่ หรือถูกแย่งไปอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ระดับสั่นสะเทือนโลก หรือ Seismic Shift ในแทบจะทุกมิติของตลาดการจ้างงานโลกในอีกแค่ไม่กี่ปีที่จะถึงนี้

ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ตำแหน่งงานที่เข้ามาเพิ่มแทนส่วนที่ถูกทำลายนั้น อาจไม่ใช่งานประเภทเดียวกันหรืออยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น แรงงานไร้ฝีมือในภาคการเกษตรนับล้านคนอาจเสี่ยงตกงานเพราะถูกเครื่องจักร เอไอ หรือหุ่นยนต์เข้ามาควบคุมกระบวนการผลิตแทนที่แรงงานคน แต่ตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นกลับเป็นงานส่วนวิศวกรกรซอฟต์แวร์ การวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า หรืองานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งไม่อาจช่วยทดแทนแรงงานเกษตรนับล้านได้

นั่นหมายถึง "ความเหลื่อมล้ำ" และปัญหาความไม่สมดุลที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ บางอุตสาหกรรมอาจเจอปัญหาว่างงานครั้งใหญ่พร้อมๆ กัน เพราะหุ่นยนต์หรือซอฟต์แวร์เอไอเข้ามาทำแทนได้ เช่น แรงงานไร้ฝีมือในภาคการผลิตไปจนถึงนักบัญชี พนักงานคีย์ข้อมูล และพนักงานทั่วไปที่ไม่มีความเชี่ยวชาญอะไรเป็นพิเศษ แต่บางอุตสาหกรรม เช่น ซอฟต์แวร์และ บิ๊ก ดาต้าอาจกลับไม่สามารถหาคนเข้ามาทำงานได้ในปริมาณมากพอ

หรือมีฝีมือมากพอที่จะขับเคลื่อนในระดับอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคตของประเทศได้

ที่จริงแล้วการจะยกตัวอย่างแรงงานไร้ฝีมือในภาคการเกษตร หรือในภาคการผลิตตามโรงงานอุตสาหกรรม อาจดูเป็นเรื่องธรรมดาไปสักหน่อย เพราะเป็นสิ่งที่เกิดมานานแล้ว โดยเริ่มจากประเทศที่มี ข้อจำกัดด้านประชากรศาสตร์ (Demography) อย่างเช่น "ญี่ปุ่น" ที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ก่อนใครเพื่อแก้ปัญหาการขาดคนทำงาน หลังจากการย้ายฐานไปจีนเจอปัญหาต้นทุนแพงขึ้นและการเมืองระหว่างประเทศที่ไม่นิ่ง ทำให้ญี่ปุ่นต้องพยายามพัฒนาเทคโนโลยีในบ้านตัวเองมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้อย่างเต็มที่ และทำให้ญี่ปุ่นยังจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างชาติอยู่ก็ตาม แต่ก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้

สิ่งที่ WEF ระบุในรายงานนี้ก็คือ ภายในไม่ถึง 10 ปีข้างหน้านี้การทดแทนของเทคโนโลยีจะลามไปถึงทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงในวันนี้ ซึ่งตัวแปรไม่ใช่แค่การเข้ามาของหุ่นยนต์หรือเอไอ แต่เป็นการที่เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาไปใน "สปีด" ที่เร็วขึ้นมาก และภาคธุรกิจก็ตอบรับการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้นด้วย

ตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมาก็เช่น 1.อินเทอร์เน็ตไฮสปีดเคลื่อนที่ 2.เอไอ 3.เทคโนโลยีคลาวด์ และ 4.การใช้ระบบวิเคราะห์บิ๊กดาต้ากันมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเทรนด์หลักในฐานะตัวแปรที่มีผลขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจในปัจจุบันไปจนถึงปี 2022

รายงานจึงคาดการณ์ว่าภายในอีก 7 ปีข้างหน้านี้ หรือภายในปี 2025 หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนที่งานของมนุษย์ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็น 52% จากสัดส่วนปัจจุบันที่ 29%

ด้วยเหตุนี้งานออฟฟิศหรืองานของชนชั้นกลางทั่วไปจึงยิ่งสุ่มเสี่ยงที่จะถูกแทนที่เร็วกว่าเดิม โดยกลุ่มงานประเภทที่เสี่ยงว่าจะถูกหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ ได้แก่ บัญชี การจัดการลูกค้า อุตสาหกรรม ไปรษณีย์ และเลขานุการ ส่วนงานที่ปลอดภัยขึ้นมาหน่อยก็คือ งานที่ยังต้องใช้ทักษะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์อยู่ เช่น งานมาร์เก็ตติ้ง เซลส์ บริการลูกค้า อี-คอมเมิร์ซ โซเชียลมีเดีย ไปจนถึงงานในกลุ่มการเดินทาง ท่องเที่ยว และการบิน

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งในอนาคต ข้างหน้านี้ก็คือ รูปแบบการว่าจ้างงานที่จะเปลี่ยนไป แม้เทคโนโลยีจะทำให้มีตำแหน่งงานเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น แต่งานในอนาคตก็อาจจะไม่มั่นคงเหมือนในปัจจุบัน เพราะภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะจ้างงานในลักษณะฟรีแลนซ์และสัญญาจ้างกันมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็อาจมีช่องว่างสำคัญเกิดขึ้นระหว่างทักษะฝีมือที่ใช้ในงานปัจจุบันกับทักษะฝีมือใหม่ที่จำเป็นต้องมีในอนาคต ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่บริษัทและพนักงานในปัจจุบันจำเป็นต้องทำก็คือ การเรียนรู้ทักษะใหม่ ปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ และปรับใช้กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นให้เป็น "โอกาส" มากกว่า "ความเสี่ยง" ที่จะเข้ามาคุกคามในเร็วๆ นี้


โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ

Source: Posttoday


ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


 

0 Share