เงินบาทส่อแข็งค่ายาวถึงปีหน้า: ค่าเงินบาทของไทยยังปรับตัวแข็งค่าขึ้นอยู่ในระดับขึ้นลง 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อยู่พักใหญ่

แม้กระแสการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอีก 2 ครั้งในปีนี้ ในการประชุมรอบเดือน ก.ย.และเดือน ธ.ค. จะแรงมาก โดยตลาดคาดว่าจะขึ้นอีกครั้งละ 0.25% ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศห่างกันมาก ยิ่งขึ้น หรือห่างกว่า 0.75%

นอกจากนี้ ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของตลาดเกิดใหม่ ก็ส่งผลให้นักลงทุนถอนเงินกลับเพื่อไปลงทุนในแหล่งอื่นที่ปลอดภัยกว่า ทำให้เกิดเงินไหลออกในกลุ่มตลาดเกิดใหม่จำนวนมาก กดให้ค่าเงินของกลุ่มตลาดเกิดใหม่อ่อนตัวลงมากเช่นกัน

แม้จะเผชิญกับ 2 ปัจจัยหลักที่เสี่ยงต่อเงินไหลออก ก็ไม่ได้ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างน่าเป็นห่วง ถึงจะอ่อนค่าลงแต่หากเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่มเอเชีย เงินบาทก็ยังแข็งค่ากว่า เป็นรองเฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น

ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ค่าเงินเยนณ วันที่ 18 ก.ย. 2561 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าที่ 0.7% เงินบาทอ่อนค่า 0.2% มาเลเซียริงกิตอ่อนค่า 2.5% สิงคโปร์ดอลลาร์อ่อนค่า 2.7% เงินหยวนอ่อนค่า 5.6% เปโซฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 8.3% รูเปียห์อินโดนีเซีย อ่อนค่า 9.9%

เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ความเกี่ยวเนื่องของการขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินแข็งค่า และเศรษฐกิจ (จีดีพี) ชะลอตัว ในขณะนี้มีความสัมพันธ์กันมาก เงินไหลออกไม่ใช่ประเด็น แต่กลายเป็นปัญหาเงินไหลเข้า นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา รวมกับความชัดเจนในเรื่องการเลือกตั้งของไทย ส่งผลให้เงินไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรไทยเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

จากตัวเลขของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย รายงานตัวเลขเงินทุนไหลเข้าของต่างชาติในตลาดตราสารหนี้เดือน ม.ค. 2561 มีเงินไหลเข้าสุทธิ 63,370 ล้านบาท หลังจากนั้นก็ติดลบต่อเนื่องจนถึงเดือน ส.ค. ที่มีเงินไหลกลับเข้ามาอีกครั้งจำนวน 56,993 ล้านบาท เมื่อกฎหมายเลือกตั้งมีความชัดเจน ในขณะที่เงินไหลเข้าในตลาดหุ้นยังคงติดลบต่อเนื่อง

เชาว์ กล่าวว่า ดัชนีหุ้นขึ้นลงหรือต่างชาติซื้อขายหุ้นไม่สามารถวัดได้ถึงเงินทุนไหลเข้าอย่างชัดเจนเพราะเป็นฮอตมันนี่ และพร้อมที่จะเคลื่อนย้ายรวดเร็ว แต่การที่เงินไหลเข้าในตลาดพันธบัตรนั้นจะนับเป็นเงินทุนไหลเข้าเพราะอยู่ยาวกว่า

"ขณะนี้ดอกเบี้ยพันธบัตรไทยปรับตัวสูงขึ้นตามพันธบัตรสหรัฐ โดยพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐดอกเบี้ยขึ้นไปเป็น 3% ของเราก็ปรับตาม และเมื่อตลาดคาดว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต ยิ่งทำให้เงินบาทแข็งค่า ในขณะที่เงินเฟ้อยิ่งต่ำลงจากสินค้านำเข้าราคาถูกลง" เชาว์ กล่าว

ในขณะที่ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพราะมีความผันผวนสูงและแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการเก็งกำไรค่าเงินบาท

ผู้ว่าการ ธปท. มองว่า ปัจจัยที่มีผลเคลื่อนย้ายเงินทุนนั้น ตลาดเงินให้ความสำคัญกับความเสี่ยงภาพใหญ่มากกว่าเรื่องเล็กน้อย แม้ไทยเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ แต่ฐานะ ต่างประเทศเข้มแข็งกว่าประเทศอื่น บางช่วงเวลาทำให้เงินไหลเข้ามา โดยไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง โดยปีนี้คาดว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นรายได้ต่างประเทศมากกว่ารายจ่าย

นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยหลายอย่างที่เกิดขึ้นนอกประเทศอาจเป็นปัจจัยที่ตลาดไม่คาดคิดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะออกมาเพิ่มเติม แม้กระทั่งปัญหาเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่บางประเทศ ไทยมีปัจจัยในประเทศที่น่าสนใจ เช่น การฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ชัดเจน ทิศทางการเมืองในประเทศที่ชัดเจน เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบการเคลื่อนย้ายเงินทุนมาที่ประเทศไทย แต่ดอกเบี้ยที่ห่างกันอาจกระทบธุรกิจที่กู้เงินตราต่างประเทศ ต้องระมัดระวัง

อย่างไรก็ดี มีความชัดเจนว่า ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็ไม่ได้มองเพียงแค่เสถียรภาพเศรษฐกิจเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเสริมด้วยเพื่อความรอบคอบ แต่หากพิจารณาจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยทั้งในปีนี้หรือแม้แต่ปีหน้า ที่เริ่มมีการลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยลง ก็ยังไม่ทำให้พื้นฐานเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง และเงินบาทก็ยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่ากว่าประเทศในตลาดเกิดใหม่อื่น

ปรากฏการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าคู่แข่งการค้าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เพราะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากและทุนสำรองระหว่างประเทศสูง โดยทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยก็สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2561 อยู่ที่ 2.043 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6.741 ล้านล้านบาท แม้ทุนสำรองจะขึ้นๆ ลงๆ ตามการค้าขาย การท่องเที่ยว และการนำเข้าต่ำ แต่ก็ถือว่าไทยเป็นประเทศที่มีทุนสำรองสูงมาก แค่ 2 ปัจจัยนี้ก็นับว่าฐานะการเงินของประเทศแข็งแกร่ง จึงเป็นแหล่งที่น่าลงทุนมากแห่งหนึ่งของโลก

ฉะนั้น เรื่องการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองระหว่างประเทศสูง ก็ยังคงจะถูกนักลงทุนใช้เป็นเหตุผลหลักในการอธิบายปรากฏการณ์เงินไหลเข้า ทั้งๆ ที่พื้นฐานเศรษฐกิจยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การบริโภคในประเทศยังอ่อนแอ แม้การส่งออกจะเติบโตดี แต่เมื่อทอนกลับมาเป็นเงินบาทก็ไม่ได้เพิ่มมากนัก สถาบันจัดอันดับเครดิตอย่างเอสแอนด์พี โกลบอล มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และฟิทช์ เรทติ้งส์ เองก็ยังเห็นว่าอันดับเครดิตประเทศไทยยังไม่ขยับแม้จีดีพีจะโตสูงขึ้นก็ตาม


โดย ชลลดา อิงศรีสว่าง

Source: Posttoday


ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


 

0 Share