อุ้มราคาน้ำมัน ประคองเศรษฐกิจ : ในปี 2561 ถือว่าเป็นปีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนอย่างมาก ทำให้ทั้ง นักลงทุนและผู้บริโภคงงกับทิศทางราคา

เพราะเมื่อต้นปี โดยเฉพาะในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือที่พุ่งไปทำสถิติใหม่ในรอบ 4 ปี แตะ 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในตลาดไนเมกซ์ทำสถิติใหม่ในรอบเกือบ 3 ปี ที่ 74.15 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อปลายเดือน มิ.ย.

หลังจากนั้นผ่านไปไม่ถึง 2 เดือน ราคาน้ำมันโลกกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมแล้วมากถึงราว 11% แล้วก็ตีกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในเดือน ต.ค.นี้

ตลาดคาดการณ์ว่าการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ เพราะใกล้ถึงเวลาที่สหรัฐจะพิจารณาคว่ำบาตรอิหร่านในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งอาจจะทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของอิหร่าน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่รายหนึ่งของโลกหายไปจากตลาด

รอบนี้ตลาดมองว่าราคาน้ำมันอาจจะดีดตัวไปจนถึง 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ก็เป็นได้ ซึ่งแน่นอนว่าแนวโน้มราคาน้ำมันผันผวนไปในทางขาขึ้นนี้ จะเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้การค้าและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งย่ำแย่อยู่แล้วจากปัญหาสงครามการค้าที่สหรัฐกับจีนกำลังประกาศมาตรการตอบโต้กันอย่างดุเดือด

สิ่งที่จะตามมาจากการที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นนี้ ทำให้ต้องจับตาดูอัตราเงินเฟ้อว่าจะปรับตัวสูงขึ้นมากน้อยอย่างไร เพราะทุกสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจจะต้องปรับตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันใหม่เพื่อให้ทันสถานการณ์

จาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบาย การเงิน (กนง.) กล่าวว่า ได้ปรับประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบขึ้นจาก 69.2 ดอลลาร์/บาร์เรล เป็น 70.3 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากราคาน้ำมันปรับขึ้นต่อเนื่อง เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากราคาน้ำมันสูงขึ้นจนแตะระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล จะเริ่มน่าเป็นห่วงผลกระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ดี ในมุมมองของ ธปท.เห็นว่ายังมีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะไม่พุ่งสูงขึ้นไปจนกู่ไม่กลับ หากมองในมุมกลับว่าแม้สถานการณ์น้ำมันมีความเสี่ยงที่ราคาจะปรับขึ้นอีกจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐต่ออิหร่านและปัญหาเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา แต่อีกด้าน มีแรงฉุดจากการผลิตเชลออยล์และนโยบายกีดกันทางการค้าที่กระทบการเติบโตเศรษฐกิจโลกทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงได้ อีกทั้งค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้ราคานำเข้าน้ำมันไม่สูง

พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เงินเฟ้อได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 1.90% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้นมาจากหมวดพลังงานที่ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 โดยราคาน้ำมัน เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 11.98% หมวดยาสูบ

และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 3.86% ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก เพิ่มขึ้น 0.67% ค่าโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้น 0.69%

นอกจากนี้ คาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 4 ว่าจะขยายตัว 1.57% ส่งผลให้ทั้งปี 2561 เงินเฟ้อ น่าจะขยายตัวอยู่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นการปรับประมาณการจากค่ากลางเดิมที่สำนักงานฯ มองว่าเงินเฟ้อจะขยายตัว 1.20% แต่ยังอยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ คือเงินเฟ้อขยายตัว 0.80-1.60%

ทั้งนี้ ได้ปรับประมาณการราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบมาอยู่ที่ 68-73 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดิมคาดการณ์ว่าอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรล

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อในปีนี้ อาจจะไม่ได้พุ่งสูงไปตามราคาน้ำมันจนกดดันให้ ธปท.ต้องขึ้นดอกเบี้ย ในมุมมองของ ธปท. เห็นว่าราคาน้ำมันสูงขึ้นในรอบนี้ไม่ได้ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรไทยสูงขึ้นตามแต่อย่างใดอาจมีสินค้าบางตัว เช่น ข้าว และมันสำปะหลัง ที่เห็นราคาขยับขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้เชื่อมโยงกันมาก

โดยราคาสินค้าเกษตรและราคาอาหารสดจะเคลื่อนไหวผูกโยงกับสภาพภูมิอากาศและผลผลิตมากกว่า

นอกจากนั้น ยังมีกันชนที่รัฐบาลได้นำออกมาใช้ดูแลราคาพลังงาน ด้วย การนำเอากองทุนน้ำมันออกมาใช้อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล โดยประกาศตรึงไว้ที่ราคาลิตรละ 30 บาท ตั้งเป้าจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันอุดหนุน 7,000 ล้านบาท ส่วนราคาก๊าซหุงต้มก็ตรึงไว้ที่ 363 บาท/ถัง ขนาดบรรจุ 15 กิโลกรัม จะใช้เงินอุดหนุน 6,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่อาจจะใช้เงินอุดหนุนมากกว่านี้ หากเกิดกรณีเลวร้ายที่ราคาน้ำมัน ปรับขึ้นไปอีก

การใช้กองทุนน้ำมันช่วยพยุงราคาพลังงานจะทำให้ระดับราคาสินค้าทรงตัว เอกชนไม่สามารถนำเรื่องราคาน้ำมันมาอ้างขอปรับราคาสินค้าได้เรื่องการใช้กองทุนน้ำมันของรัฐบาลถือว่าเป็นโชคดีที่รัฐบาลไม่ได้ตัดสินใจยุบกองทุนน้ำมันทิ้ง ตามที่ มีการเสนอเมื่อช่วงที่รัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศใหม่ๆ เพื่อ ให้ราคาน้ำมันลดลง เพราะไม่ต้อง ส่งเงินเข้ากองทุนและลดการเก็บภาษี สรรพสามิตน้ำมัน

แม้ราคาน้ำมันที่กำลังปรับสูงขึ้นจะมีทั้งแรงส่งและแรงต้านต่อเศรษฐกิจ แต่ต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น ขณะนี้เศรษฐกิจมหภาค (Macro Economic) จะดูดีขึ้นเรื่อยๆ จนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสูงที่สุดในรอบ 10 ปี แต่ ทางด้านเศรษฐกิจรายสาขาและเศรษฐกิจระดับครัวเรือน (Micro Economic) ยังอยู่ในภาวะลุ่มๆ ดอนๆ การบริโภคในประเทศก็ทรงตัว ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งหลายฝ่ายชี้ว่าเป็นปัญหามาจากหนี้ครัวเรือน ที่สูง ทำให้กำลังบริโภคของประชาชนไม่ขยายตัว และปัจจัยราคาน้ำมัน ก็จะเป็นตัวซ้ำเติมกำลังซื้อให้ ชะลอลง ซึ่งรัฐบาลจะหาทางแก้ไข ในเรื่องนี้อย่างไรต้องติดตามดูกัน ต่อไป


โดย ชลลดา อิงศรีสว่าง 

Source: Posttoday

——————————————                                                                            ———————————————

ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


 

 
0 Share