5g

กสทช.-ดีอี-นักวิชาการชี้สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ไม่มีผลกระทบต่อ 5G ในประเทศ ไทย เผยเป็นประเทศเสรีทางด้านการค้า

สงครามการค้าระหว่างประเทศจีน และ สหรัฐอเมริกา ยกระดับความร้อนแรงตั้งแต่สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากนั้นประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" สั่งแบนสินค้า "หัวเว่ย" ถัดจากนั้นเพียงไม่กี่วัน "กูเกิล" แบนมือถือ "หัวเว่ย" เมื่อมีปฏิกิริยาตอบโต้จากทางจีน อย่างร้อนแรง สหรัฐฯยอมถอยและมีคำสั่งยกเลิกชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน

หลายคนคงตั้งคำถาม? แล้วประเทศไทยจะมีผลกระทบต่อสงครามการค้านี้หรือไม่ เพราะประเทศไทยอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ 5G โดยใช้อุปกรณ์จาก "หัวเว่ย" โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ทดสอบ 5G Testbed ณ ห้องศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5G มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ร่วมกับ เอไอเอส และทรูมูฟ เอช ทดสอบ "5G AI/IoT Innovation Center" ณ ชั้น 9 อาคารวิศวะ 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมไปถึงแผนประมูลคลื่น 700 ของ กสทช. ในวันที่ 19 มิถุนายนอีกด้วย

นายสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ช่วงทดสอบระบบ 5G เชื่อว่าไม่มีผลกระทบเพราะเป็นเรื่องของการวิจัยและพัฒนา เนื่องจากประเทศไทยยึดหลักบริหารเสรีและเป็นธรรม ดังนั้นไม่น่าจะมีผลกระทบในเรื่องนี้

ขณะที่แหล่งข่าวจาก กสทช. ให้ความคิดเห็นในทำนองเดียวกันว่าไม่น่ามีผลกระทบแต่อย่างใด เพราะประเทศไทยนั้นเปิดกว้างสำหรับการค้าขาย ส่วนการประมูลคลื่น 700 ในเงื่อนไขก็ไม่ได้ระบุให้โอเปอเรเตอร์ต้องติดตั้งอุปกรณ์ระบบ 5G ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นแบรนด์ของค่ายใด

"เชื่อว่าประเทศไทยคงยังไม่ถึงขั้นที่จะเลือกข้างเพียงแต่ถ้าเลือกอุปกรณ์ติดตั้งแล้วต้องมีความปลอดภัยขั้นสูง และ ตอนนี้ก็ไม่ได้สัญญาณอะไรจากภาครัฐบาล มีแต่ให้เดินหน้าประมูลคลื่น 5 จี ซึ่งตอนนี้ กสทช.อยู่ ระหว่างการนำข้อมูลจากการประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมมาพิจารณาเพราะโอเปอเรเตอร์ต้องการให้ลดราคาประมูลขั้นต่ำลงมาอีกจากราคา17,584 ล้านบาท เพราะราคายังสูงเกินไป" แหล่งข่าวกล่าว

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม และ ผู้บริหารโครงการฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ความเป็นจริงแล้วกระแสการกดดันโดยสหรัฐอเมริกาต่อประเทศในแถบอาเซียนนี้น่าจะมีความเคลื่อนไหวอยู่โดยประเทศมหาอำนาจ แต่ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ยังวางตัวเป็นกลางและพยายามไม่เข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งในกรณีดังกล่าว

ทั้งนี้ ในระหว่างนี้ทุกประเทศจะคล้ายๆ กัน คือ เปิดรับเทคโนโลยีจากทุกค่าย ทั้งอเมริกา ยุโรป จีน อยู่ โดยเฉพาะประเด็นเทคโนโลยี 5G ที่ทุกค่ายเองก็พยายามใช้คอนเนกชัน เพื่อปักหมุดเทคโนโลยีตัวเองให้ได้ในภูมิภาคนี้แต่โดยระดับนโยบายของทุกประเทศแถบนี้ ตอนนี้ยังไม่มีประเทศไหนแทรกแซงเรื่องการใช้อุปกรณ์โทรคมนาคม ณ ตอนนี้เพราะไม่แน่ใจว่าแต่ละประเทศจะทนกระแสกดดัน หรือสร้างอำนาจต่อรองมาคานอำนาจได้แค่ไหน

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประ เทศไทย)ฯ สำหรับประเทศไทยคาดว่า 5G จะสร้างรายได้มากกว่า 56,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 2 ล้านล้านบาทภายในปี 2035 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า โดยจะส่งผลถึง 4.56% ของ GDP ไทย อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง คือ ภาคการผลิต รองลงมาคือการเกษตร และค้าปลีก

Source: ฐานเศรษฐกิจ

0 Share