ต้องยอมรับว่าในโลกเทคโนโลยีปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาที่เคยเป็นผู้นำในด้านนี้ กำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับจีนในบางด้าน ที่กล่าวถึงกันมากก็คือสหรัฐตามไม่ทันจีนในแง่ของเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายรุ่นที่ 5 (5G)

ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะมาทดแทน 4G อันจะช่วยให้การสื่อสารไร้สายรวดเร็วกว่าเดิมไม่ต่ำกว่า 100 เท่า
รัฐบาลทั่วโลกส่วนใหญ่กำลังปรับปรุงโครงข่ายโทรศัพท์มือถือหรือสื่อสารไร้สาย เพื่อให้รองรับเทคโนโลยี 5G แต่ประเด็นนี้ก่อให้เกิดความตึงเครียดในระดับโลก เมื่อสหรัฐอเมริกาออกมากดดันไม่ให้ชาติพันธมิตรใช้อุปกรณ์ของบริษัทหัวเว่ยซึ่งเป็นบริษัทมือถือยักษ์ใหญ่ของจีนในการวางโครงข่าย 5G โดยกล่าวหาว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยไม่ปลอดภัย เนื่องจากเป็นมือไม้ให้กับรัฐบาลจีนเพื่อจารกรรมหรือสอดแนมความลับของสหรัฐ

มีหลายประเทศยอมตามแรงกดดันของอเมริกาไปแล้ว เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ส่วนซีกยุโรปนั้นเสียงแตก มีบางประเทศ เช่น อังกฤษ เยอรมนี ไม่ยอมทำตามคำร้องขอของสหรัฐ

ความรุดหน้า 5G ของหัวเว่ยเหนือบริษัทจากสหรัฐ ประกอบกับราคาอุปกรณ์ที่ต่ำ เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้หลายประเทศทั่วโลกใช้อุปกรณ์ 5G ของหัวเว่ยไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของสหรัฐยอมรับว่าในอนาคตมีแนวโน้มที่หัวเว่ยจะมีส่วนแบ่งตลาด 5G มากที่สุดในโลก ด้วยเหตุนั้นจึงกำลังเร่งวางแผนรับมือสถานการณ์ดังกล่าว เพราะในเมื่อหลายประเทศใช้อุปกรณ์หัวเว่ยไปแล้ว ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความเสี่ยงเมื่อสหรัฐต้องเชื่อมต่อกับโครงข่ายของประเทศเหล่านั้น

สำหรับหนทางป้องกันการจารกรรมและการโจมตีทางไซเบอร์นั้น บรรดาเจ้าหน้าที่สหรัฐกำลังหารือกัน ทั้งการใช้วิธีเข้ารหัส การใช้ส่วนประกอบ (components) ของเครือข่ายแบบแยกเซ็กเมนต์ ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นเพื่อปกป้องระบบหลัก บริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่ 4 แห่งของสหรัฐ ได้แก่ AT&T, Verizon Wireless, Sprint และ T-Mobile รับปากกับรัฐบาลสหรัฐว่าพวกเขาจะไม่ให้บริษัทจีน คือ หัวเว่ย และ ZTE มีส่วนร่วมในการวางเครือข่าย 5G แต่ถึงอย่างไรพวกตนก็จำต้องเชื่อมต่อกับเครือข่ายของต่างประเทศ หากเครือข่าย 5G ของประเทศเหล่านั้นใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยอยู่แล้ว ในที่สุดวงจรสื่อสารของอเมริกันก็ต้องผ่านกล่องจราจรสื่อสารที่หัวเว่ยเป็นผู้ควบคุมอยู่ดี

ประเด็นนี้สร้างความกังวลให้กับ “ไมก์ ปอมเปโอ” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งระบุ หากชาติพันธมิตรใช้อุปกรณ์หัวเว่ยก็คงสร้างความลำบากให้กับสหรัฐที่จะร่วมมือกับประเทศเหล่านั้น

โทมัส โดนาฮิว อดีตนักวิเคราะห์ของซีไอเอ และอดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวซึ่งคลุกคลีกับเทคโนโลยีและงานความมั่นคงมา 30 ปี ชี้ว่าบริการ 5G จะเกิดขึ้นในอีก 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่การสร้างโครงข่ายให้เสร็จสมบูรณ์เต็มรูปแบบจะใช้เวลาประมาณ 10-20 ปี

ดังนั้นหากเริ่มลงมือเดี๋ยวนี้ รัฐบาลสหรัฐยังมีเวลาพอที่จะลงมือทางยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรม 5G เพื่อดึงดูดให้มีผู้เล่นในตลาดมากขึ้นแข่งกับหัวเว่ย ทั้งนี้ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทั้งรัฐบาลและเอกชนจับมือกัน

ปัจจุบันหัวเว่ยเข้าครองตลาด 4G ทั้งในแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรปใต้ และบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเรียบร้อยแล้ว และขั้นต่อไปมีความปรารถนาจะเป็นเจ้าตลาด 5G ซึ่งในทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าไม่มีทางที่จะกีดกันหัวเว่ยออกไปจากตลาด

สิ่งที่บรรดาบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมขนาดใหญ่ของสหรัฐกลัวก็คือ ถ้าหากหัวเว่ยยึดตลาดได้ และไล่คู่แข่งจากยุโรปซึ่งมีเพียงไม่กี่รายออกไปจากตลาดสำเร็จ ประเทศอื่น ๆ ก็ไม่มีทางเลือก จำต้องใช้หัวเว่ย อย่างไรก็ตาม เสียงเตือนเรื่องความเสี่ยงการใช้อุปกรณ์หัวเว่ยในยุโรปต้องพบกับอุปสรรค เมื่อหัวเว่ยตัดราคาอย่างรุนแรง

เหริน เจิงเฟ่ย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย ยืนยันอีกครั้งว่า บริษัทไม่เคยส่งข้อมูลให้กับรัฐบาลจีน และไม่มีแผนที่จะทำเช่นนั้น โดยตลอด 30 ปีที่ผ่านมาไม่เคยทำอย่างนั้น และอีก 30 ปีข้างหน้าก็ไม่คิดจะทำ

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เพิ่มเติม
-UN says US fears over Huawei’s 5G are politically motivated:https://www.engadget.com/…/un-huawei-5g-network-security-a…/

0 Share