"อินโดนีเซีย" มีประชากรมากที่สุดในอาเซียนกว่า 264 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก พฤติกรรมช็อปปิ้งออนไลน์ก็มีการเติบโตรวดเร็ว ทำให้อินโดนีเซียกำลังเป็นสมรภูมิรบขนาดใหญ่ของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซข้ามชาติ
"แมคคินซี แอนด์ คอมพานี" ที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำของโลกระบุว่า ปีที่ผ่านมาตลาดอีคอมเมิร์ซของอินโดนีเซียมีมูลค่าถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเข้าถึงนักช็อปทั่วประเทศราว 30 ล้านคน และคาดว่า ภายในปี 2022 ตลาดจะเพิ่มถึง 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเส้นทางการเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาดอีคอมเมิร์ซคล้ายกับประเทศจีนในช่วงปี 2010-2015 ที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์ของแมคคินซี่ฯกล่าวว่า การที่ธุรกิจต่างชาติเข้ามาโลดแล่นในตลาดอีคอมเมิร์ซของอินโดนีเซีย ได้สร้างความกังวลและไม่เป็นธรรมด้านการแข่งขันต่อธุรกิจค้าปลีกมานาน หลายปี ขณะที่เดือน เม.ย.นี้อินโดนีเซีย จะมีการเลือกตั้งผู้นำครั้งใหม่ ดังนั้น อีกหนึ่งฐานคะแนนเสียงที่สำคัญจากกลุ่มผู้ค้าปลีกดั้งเดิมและสมัยใหม่ ที่ครองตลาดในประเทศเกือบ 80% ถูกคาดหมายว่าจะช่วยสนับสนุนให้ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด จะสามารถเอาชนะคู่แข่งในสมัยที่ 2 ได้ ซึ่งการหยิบประเด็นการเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซขึ้นมา ถือว่าเป็นการปิดเกมการเมืองที่ชาญฉลาด
"จาการ์ตาโพสต์" รายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซียจะจัดเก็บ "ภาษีอีคอมเมิร์ซ" ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้เป็นต้นไป โดยจะบังคับให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ ต้องจัดเก็บข้อมูล ยอดขายทั้งหมดในสินค้าทุกประเภท แล้วแจ้งต่อกรมสรรพากรของอินโดนีเซีย เพื่อจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง
ภายใต้กฎระเบียบใหม่ของกระทรวงการคลัง ที่เรียกว่า "NPWPs" คือธุรกิจ อีคอมเมิร์ซทุกรายจะต้องมีหมายเลข ผู้เสียภาษี โดยกฎระเบียบดังกล่าวจะมีผลต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซทุกขนาดทั้งเล็กและใหญ่ รวมทั้งลาซาด้า และโตโกพีเดีย (Tokopedia) ในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป และบูกาลาปัก (Bukalapak) ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากแอนท์ ไฟแนนเชียล ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงจากเหล่านักช็อปชาวอินโดนีเซีย และเคยถูกกลุ่มค้าปลีกท้องถิ่นบางรายร้องเรียนว่า แข่งขันในตลาดอย่างไม่เป็นธรรม
ทางการจาการ์ตาได้กำหนดว่า ผู้ขายสินค้าในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีรายได้อย่างน้อย 4,800 ล้านรูเปียห์ (ราว 339,943 ดอลลาร์สหรัฐ) จะต้อง เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้า และจ่าย ให้กับทางการอินโดนีเซีย โดยผู้ขาย สินค้าออนไลน์ที่มีธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะต้องเสียภาษี 0.5% ของรายได้ สำหรับผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่จะต้องเสียภาษีนิติบุคคลที่ 25% ซึ่งเป็นข้อกำหนดเดียวกับธุรกิจค้าปลีกในประเทศ
Sri Mulyani Indrawati รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดฯกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามสร้างบรรยากาศที่เป็นธรรมทางการค้าขายในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาระหว่างร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมและค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนตลาดค้าปลีกดั้งเดิมลดลง 8% ต่อปี ขณะที่ค้าปลีกสมัยใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 31.4% ต่อปี ขณะที่โลกยุคดิจิทัลกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมการช็อปปิ้ง ของอินโดนีเซีย ความสะดวกสบายที่เข้ามาบริการชีวิตประจำวันทำให้ร้านค้าปลีกท้องถิ่นมีปัญหา ซึ่งการเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซจะช่วยสร้างความ เท่าเทียมในการแข่งขันให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม Ignatius Untung ประธานสมาคมอีคอมเมิร์ซของอินโดนีเซีย วิพากษ์ถึงกฎหมายใหม่ว่า อาจทำให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์เปลี่ยนสนามการค้าใหม่ แล้วหันไปขายสินค้า ผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น เพื่อเป็น การเลี่ยงภาษีอีคอมเมิร์ซ นั่นจะหมายความว่า นอกจากที่รัฐบาลจะไม่สามารถปกป้องธุรกิจค้าปลีกได้ รายได้ ของภาครัฐที่มาจากการเก็บภาษีก็อาจจะต่ำกว่าเป้าหมาย
อีกทั้งยังกังวลว่า ภาษีอีคอมเมิร์ซจะทำให้ผู้เล่นจากต่างประเทศลดความสำคัญของตลาดอินโดนีเซียลง โดยจะอ้างว่าเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า ขณะที่อินโดนีเซียยังขาดแคลนระบบโลจิสติกส์ที่ดีเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม ที่ช็อปปิ้งออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็วแห่งหนึ่ง
Source: ประชาชาติธุรกกิจ
- Indonesia cracks down on e-commerce to raise tax collection:https://www.reuters.com/…/indonesia-cracks-down-on-e-commer…