ในระหว่างที่สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอยู่ในช่วงหยุดยิงชั่วคราวตั้งแต่ ธ.ค.ปีที่แล้ว จนถึงวันที่ 1 มี.ค.นี้ เพื่อให้รัฐบาลปักกิ่งและวอชิงตันเจรจาหาทางออกอยู่นั้น บรรดาผู้เกี่ยวข้องทั้งแบรนด์สินค้าและโรงงานในจีน

รวมถึงผู้นำเข้าในธุรกิจของเล่นซึ่งจีนเป็นฐานผลิตใหญ่ครองส่วนแบ่ง 80% ของโลก และมีสหรัฐเป็นลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีกำแพงภาษีเลย ต่างไม่รอลุ้นผลการเจรจา แต่เริ่มเคลื่อนไหวเตรียมพร้อมรับสถานการณ์เลวร้ายสุดเอาไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นหาลู่ทางย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศเพื่อตัดปัญหา ลดปริมาณ ออร์เดอร์รวมถึงหั่นเวลาส่งสินค้าให้สั้นลงเพื่อลดความเสี่ยง

โดยสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า โรงงานผลิตของเล่นหลายรายแห่ยื่นของตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม สะท้อนจากตัวเลขของสมาคมธุรกิจจีนในเวียดนามที่ระบุว่า จำนวนคำขอเช่าโรงงานในเวียดนามเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจาก 11 ราย ในปี 2560 เป็น 27 ราย ในปี 2561 ที่ผ่านมา และในจำนวนนี้กลุ่มผู้ผลิตของเล่นแสดงความต้องการเร่งด่วนมากที่สุด หลายรายเสนอจ่ายค่าเช่าเป็นเงินสดล่วงหน้าเต็มจำนวน แม้โรงงานนั้น ๆ จะยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง

ขณะเดียวกัน ส่งผลให้ราคาค่าเช่าพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย โดยช่วง 1-2 เดือน ล่าสุดค่าเช่าโรงงานในจังหวัดล็องอานทางตะวันตกเฉียงใต้ของโฮจิมินห์เพิ่มขึ้นอีก 20% เป็น 2.6 เหรียญสหรัฐต่อตารางเมตร

"สแตนลี โล" เอ็มดีของเสิ่นเจิ้น โควิน อินเทลิเจนต์ ดีเวลอปเมนต์ บริษัทผลิตของเล่นเทคโนโลยีในเสิ่นเจิ้น อธิบายว่า แม้ที่ผ่านมามาตรการกำแพงภาษียังไม่ครอบคลุมมาถึงของเล่นโดยตรง แต่อาจต้องย้ายฐานตามซัพพลายเออร์ ด้านชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงและมีแนวโน้ม จะย้ายฐานออกไปนอกประเทศ ทำให้ ผู้ผลิตสินค้าอื่น รวมถึงของเล่นต้องย้ายตามออกไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีความกดดันจากผู้นำเข้ารายใหญ่ในสหรัฐที่เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นจากทั้งปัจจัยภาษีและการล้มละลายของช่องทางขายหลักอย่างทอยส์อาร์อัส โดยลดจำนวนสินค้าต่อรอบการสั่งซื้อลง รวมถึงลดเวลาส่งสินค้าจาก 60 วัน เหลือ 30 วัน ส่วนบางราย เช่น วอลมาร์ต ระงับการสั่งสินค้าโดยสิ้นเชิง และอีกหลายรายที่เรียกร้องให้ผู้ผลิตย้ายฐานออกจากจีน ทำให้ผู้ผลิตบางราย เช่น "กวางตุ้ง ฉีจี เทคโนโลยี" ผู้ผลิตโดรนประกาศลดกำลังผลิตปีนี้ลง 30% และปรับเป้ายอดขายในสหรัฐเหลือ 3 แสนเครื่องจากเดิม 7.5 แสนเครื่อง ระหว่างที่รอความชัดเจนในการย้ายฐาน

สอดคล้องกับความเห็นของผู้ผลิตรายอื่น ๆ ที่มองว่า สงครามการค้านี้เหมือนตะปูตอกฝาโลงสำหรับบรรดาผู้ผลิต หลังต้องเผชิญความท้าทายอื่นทั้งค่าแรง การขาดแคลนแรงงานและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น จนบางราย ทยอยย้ายฐานตั้งแต่ 2-3 ปีก่อน ในขณะที่ อีกส่วนตัดสินใจเด็ดขาดในปีที่แล้ว และปีนี้

อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถหนีภัยสงครามการค้าได้ แต่ยังมีความท้าทายอื่นรออยู่เช่นกัน อาทิ ค่าแรงในเวียดนามที่เริ่มสูงขึ้น และความพร้อมของซัพพลายเชน ที่ด้อยกว่าในจีน

"โดมินิก ทัม" ประธานกิตติมศักดิ์ของสมาคมผู้ผลิตของเล่นฮ่องกง อธิบายว่า คลื่นการย้ายฐานนี้จะทำให้ความได้เปรียบด้านค่าแรงและค่าเช่าในเวียดนามลดลงอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าอีกไม่ถึง 5 ปี บรรดาผู้ผลิตจะเผชิญปัญหาแบบเดียวกับในจีนอีกครั้ง เพราะจำนวนแรงงานในเวียดนามต่ำกว่าจีนมาก ขณะเดียวกัน 95% ของชิ้นส่วนต่าง ๆ ยังมาจาก ผู้ผลิตในจีน และโรงงานในอาเซียนยังไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนตามมาตรฐานยุโรป และสหรัฐได้

จากนี้ต้องจับตาดูว่าบรรดาผู้ผลิตของเล่นจะแก้โจทย์ความท้าทายทั้งในและนอกประเทศครั้งนี้อย่างไร รวมถึงผลการเจรจาระหว่างจีน-สหรัฐจะออกมาในทิศทางไหนและจะส่งผลกับอุตสาหกรรมของเล่นโดยรวม อย่างไร

Source: ประชาชาติธุรกิจ

เพิ่มเติม
- Chinese toymakers shift overseas as trade war bites:https://asia.nikkei.com/…/Chinese-toymakers-shift-overseas-…

0 Share