ถึงคราวที่ "ทองคำ" จะกลับมา คัมแบ็กอีกครั้ง ท่ามกลางความเสี่ยง ที่กำลังรุมเร้า ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งอาจฉุดให้ทั่วโลกเข้าสู่ภาวะซึมเซายาวไปตลอดทั้งปี
แม้ก่อนหน้านี้ มีคาดการณ์กันว่าทองน่าจะกลับมาฟื้นคืนชีพในปีนี้ แต่ก็ไม่น่าจะเปรี้ยงปร้างนักเหมือนช่วงต้นทศวรรษปี 2000 เนื่องจากปัจจัยหนุนราคาทองขึ้นยังมีอยู่จำกัด ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ระดับต่ำ
อย่างไรก็ดี ทองยังคงมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เพราะกำลังได้แรงหนุนจากความเสี่ยงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งอาจดันให้ราคาทองปรับขึ้นไปแตะ 1,425 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ภายในช่วง 12 เดือนนี้ ตามคาดการณ์ของโกลด์แมน แซคส์ จากระดับปัจจุบันที่ 1,313.43 ดอลลาร์/ออนซ์ ระหว่างการซื้อขายวันที่ 13 ก.พ.
สำหรับในระยะสั้นนั้น "ค่าเงินดอลลาร์" กำลังส่งผลต่อทิศทาง ราคาทองในขณะนี้ ทิศทางค่าเงินดอลลาร์กำลังอยู่ในช่วงผันผวน โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์ เทียบ 6 ตะกร้าสกุลเงินหลัก ปรับลง 0.35% อยู่ที่ 96.65 จุด ระหว่างการซื้อขายวานนี้ จากความคาดหวังของตลาดว่าจีนและสหรัฐอาจมีความคืบหน้าในการยุติศึกการค้า ซึ่งทิศทางอ่อนค่าของดอลลาร์จะยังคงเป็นปัจจัยหนุนราคาทองต่อไป
นอกจากปัจจัยเรื่องดอลลาร์แล้ว ทองยังอาจได้อานิสงส์จากสัญญาณแตะเบรกขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยปกติแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และทำให้ราคาทองปรับตัวลง
สถานการณ์ดังกล่าวจึงมีแนวโน้มว่าเงินลงทุนอาจไหลเข้าไปสู่ทองคำมากขึ้น แทนที่จะเข้าไปสู่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างในตลาดหุ้น ซึ่งไม่ใช่ตัวเลือกการลงทุนที่ดีนักในตอนนี้
ล่าสุดนั้น ธนาคาร เครดิตสวิส เพิ่งหั่นมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นโลกจาก Overweight (เพิ่มน้ำหนักการลงทุน) สู่ Neural (คงน้ำหนักการลงทุน) โดยระบุว่า ตลาดหุ้นเสี่ยงเผชิญความผันผวนระยะสั้น จากทั้งศึกการค้าจีน-สหรัฐ และความตึงเครียดทางการเมืองในยุโรป
สำหรับปัจจัยระยะกลาง-ระยะยาว ที่อาจหนุนให้ราคาทองปรับตัวขึ้น แต่อาจขึ้นไม่มากนัก ประกอบด้วย 4 อย่างด้วยกัน
อย่างแรกคือความไม่แน่นอนเรื่องการเมืองสหรัฐ แม้ล่าสุดนั้น ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า ภาวะชัตดาวน์รอบ 2 ไม่น่าจะเกิดขึ้น หลังพรรครีพับลิกันและพรรค เดโมแครต บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณด้านความมั่นคง ที่เป็นส่วนหนึ่งของร่างงบประมาณระยะสั้น ท่ามกลางความคาดหวังว่าจะช่วยให้สหรัฐไม่ต้องเผชิญ ภาวะชัตดาวน์ ขณะที่งบประมาณชั่วคราวจะหมดลงในวันที่ 15 ก.พ.
ถึงทรัมป์คาดว่าจะลงนามในร่าง ดังกล่าว แต่ร่างที่ว่ายังคงไม่มี "งบสร้างกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐ-เม็กซิโก" วงเงิน 5,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.78 แสนล้านบาท) ตามที่ทรัมป์เรียกร้อง แต่มีเพียงงบสร้างรั้วบริเวณแนวพรมแดนตอนใต้กว่า 1,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.3 หมื่นล้านบาท) เท่านั้น
ปัจจัยต่อมาที่ต้องจับตาต่อคือ สงครามการค้าจีน-สหรัฐ โดยทรัมป์เพิ่งส่งสัญญาณว่า "อาจ" เลื่อนกำหนดการปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ จาก 10% เป็น 25% ขณะที่เส้นตายข้อตกลงพักรบศึกการค้าชั่วคราว 90 วัน ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้วในวันที่ 1 มี.ค. หากสหรัฐและจีนมีแนวโน้มบรรลุข้อตกลงสงบศึกการค้ากันได้
ล่าสุดนั้น โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ และสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กำลังอยู่ระหว่าง พูดคุยกับจีนวันที่ 14-15 ก.พ.นี้ โดยมนูชินเปิดเผยว่า การเจรจาครั้งนี้น่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้นและความเสี่ยงอันยิ่งใหญ่ที่จะมองข้ามไปไม่ได้คือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยความอ่อนแรงเริ่มปรากฏให้เห็นแล้วใน "จีน" และ "ยุโรป"
ในฝั่งจีนนั้น จีดีพีปี 2018 โตต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปี และมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อ สะท้อนออกมาจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ดูไม่สดใสนัก อย่างล่าสุดคือยอดค้าปลีกช่วงตรุษจีนระหว่างวันที่ 4-10 ก.พ. อยู่ที่ 1.005 ล้านล้านหยวน (ราว 4.67 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 8.5% เมื่อเทียบกับ ปีก่อน นับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลมาในปี 2005
ด้านยุโรปนั้น คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) เพิ่งประกาศหั่นเป้าจีดีพีเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน โดยมองว่าจะขยายตัวเพียง 1.3% ในปี 2019 ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 1.9% และยังลดฮวบจากการขยายตัวปีก่อนหน้านี้ที่ 1.9%
ความเสี่ยงสุดท้ายย่อมหนีไม่พ้นกรณี เบร็กซิต หรือการที่สหราชอาณาจักรจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ที่กำหนดไว้ในวันที่ 29 มี.ค.นี้ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังคงไม่มีความชัดเจน และสถานการณ์ ยิ่งโกลาหลขึ้นเรื่อยๆ เพราะความวุ่นวายของการเมืองอังกฤษที่ยังไม่สามารถตกลงกันเรื่องร่างเบร็กซิตได้ ทำให้อังกฤษอาจต้องออกจากอียูไปแบบไร้ข้อตกลง (โนดีล) ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ
ด้วยเหตุนี้ ความต้องการ ถือครองทองคำ สินทรัพย์ปลอดภัยเอาไว้เพื่อความอุ่นใจ จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และจะหนุนให้ราคาปรับตัวขึ้นต่อ ท่ามกลางสถานการณ์โลก ที่ไม่สามารถเอาแน่เอานอนได้ ในระยะนี้
โดย นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์
Source :Posttoday
ความคืบหน้า
- Spot Gold Price Gains With No Change in US Consumer Prices
https://goldprice.org/…/spot-gold-price-gains-no-change-in-…