ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.พ.ถือได้ว่าเปิดสัปดาห์มาด้วยข่าวดีอย่าง "สัญญาณสู่การสงบศึกการค้าระหว่างสหรัฐและจีน" ที่หนุนให้ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างทะยานขึ้นถ้วนหน้า
นำโดยดัชนีเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต ตลาดหุ้นจีน พุ่งขึ้นมาเกือบ 6% วานนี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นภายในหนึ่งวันที่สูงสุดในรอบกว่า 3 ปี ความหวังปิดฉากสงครามการค้า ที่ยืดเยื้อมา 7 เดือนนั้น มาจากการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีสินค้าจีน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.2 แสนล้านบาท) จาก 10% เป็น 25% ออกไปจากกำหนดเดิมวันที่ 1 มี.ค.
ทรัมป์ กล่าวว่า การตัดสินใจเลื่อนภาษีเกิดขึ้นหลังทั้งสองชาติมีความก้าวหน้าอย่างมากในการถกประเด็นแก้ข้อพิพาทหลักๆ ไม่เพียงเท่านั้น ทรัมป์ยังแย้มว่าต้องการจัดการพบปะรอบ 2 กับประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน ภายในเดือน มี.ค. เพื่อหารือการทำข้อตกลงการค้าขั้นสุดท้ายแบบครอบคลุมกับจีนด้วยเช่นกัน แม้การเลื่อนขึ้นภาษีเป็นสัญญาณสำคัญบ่งบอกว่าความ ขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐกำลังคลี่คลายลง แต่ก็เป็นเพียง "ก้าวแรก" สู่ปลายทางการปิดฉากสงครามเท่านั้น ตราบใดที่จีนและสหรัฐยังไม่สามารถวางแนวทางชัดเจนเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ 6 ประเด็นพิพาทหลัก คือ การบีบบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (ไอพี) ค่าเงินหยวน ภาคบริการ ดุลการค้า และอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ก็ยังมีโอกาสที่สหรัฐจะงัดกำแพงภาษีขึ้นมาบีบจีนอีกในอนาคต เช่นเดียวกับที่กำลังใช้ภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนรถนำเข้ามาบีบสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น
ในตอนนี้ความพยายามแก้ปัญหาเรื่อง "ดุลการค้า" ดูจะเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด โดยซีเอ็นบีซีรายงาน อ้างแหล่งข่าวเกี่ยวข้องว่า จีนให้คำมั่นจะซื้อสินค้าสหรัฐมากถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 37 ล้านล้านบาท) แต่ปัญหาอยู่ที่จีนจะสามารถเพิ่มการ นำเข้าสินค้าจากสหรัฐได้ตามที่ให้คำมั่นไว้หรือไม่ สินค้าเกษตรถือเป็นกลุ่มที่จะกลับมาได้อานิสงส์มากที่สุดในขณะนี้ หลังเจ็บหนักไม่น้อยจากภาษีตอบโต้ของจีนที่ 25% โดย ซอนนี่ เพอร์ดู รัฐมนตรี กระทรวงเกษตรสหรัฐ เปิดเผยว่า จีนตกลงซื้อถั่วเหลืองสหรัฐเพิ่มอีก 10 ล้านตัน ซึ่งการสั่งซื้อรอบใหม่ล่าสุด เกิดขึ้นหลังจีนซื้อถั่วเหลืองสหรัฐไปแล้ว 2 ล็อต หลังทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงสงบศึก 90 วันช่วงก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกัน บลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวเกี่ยวข้องว่า จีนเสนอซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐเพิ่มอีก 3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 9.38 แสนล้านบาท) ซึ่งรวมถึงถั่วเหลือง ข้าวสาลี และฝ้าย แม้การเกินดุลกับสหรัฐของจีนลดลงมาอยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 8.44 แสนล้านบาท) ในเดือน ม.ค. จาก 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 9.07 แสนล้านบาท) แต่การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐลดลงมาถึง 41% จากปีก่อนหน้า
เมื่อลองมาดูที่สินค้าเกษตร ซึ่งจีนให้คำมั่นชัดเจนว่าจะนำเข้ามากขึ้น แต่การนำเข้าเพิ่มดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเมื่อปี 2017 สหรัฐส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 6.25 แสนล้านบาท) การที่จีนบอกว่าจะนำเข้าเพิ่มอีก 3 หมื่นล้านดอลลาร์ จึงเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานไม่น้อย เว้นเสียแต่ว่าจีนจะนำเข้าทั้งหมดเพิ่มรวมเป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์ "ค่าเงิน" เป็นอีกประเด็นถัดมาที่สหรัฐต้องการตั้งเงื่อนไขให้จีนทำตาม
ล่าสุดนั้น สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เปิดเผยว่า สหรัฐและจีนเห็นพ้องกันเกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องค่าเงิน แต่ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม หลังตลอดช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทางสหรัฐออกมาเตือนจีนไม่ให้ลดค่าเงินหยวนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า โดยได้เรียกร้องขอ "ค่าเงินหยวนที่มีเสถียรภาพ"
ทั้งนี้ จีนเผชิญภาวะค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นตลอดช่วงหลายเดือนมานี้ โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2019 ค่าเงินหยวนปรับตัวขึ้นมาแล้ว 2.24% และล่าสุดแข็งค่าแตะระดับสูงสุด 7 เดือนวานนี้ ไปอยู่ที่ 6.6737 หยวน/ดอลลาร์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สหรัฐจะกังวลว่าประเทศส่งออกอย่างจีน อาจจะต้องหันมาลดค่าเงินในที่สุด
อย่างไรก็ดี การเห็นพ้องกันเรื่องเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าเงินดูท้าทายไม่ใช่น้อย โดย มาร์ก โซเบล ประธานฝ่ายสหรัฐจากสถาบันคลังสมองด้านเศรษฐกิจและการเงิน Official Monetary and Financial Institutions Forum (OMFIF) เปิดเผยว่า การนิยามคำว่า "เสถียรภาพ" ของทั้งสองฝ่ายอาจไม่ตรงกันเสียทีเดียว เพราะที่ผ่านมา จีนพยายามทำให้ทั่วโลกเห็นว่า ค่าเงินหยวนมีเสถียรภาพเมื่อเทียบตะกร้าสกุลเงินหลัก แต่ค่าเงินหยวนอาจมีความผันผวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เนื่องจากแนวทางด้านนโยบายการเงินที่แตกต่างกันของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี)
สำหรับประเด็นสุดท้ายคือ "การบีบถ่ายโอนเทคโนโลยี" ซึ่งเป็นผลพวงหนึ่งจากการประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ "เมดอินไชน่า 2025" ของจีน แม้ก่อนหน้านี้ จีนประกาศยอมถอยแผน เมดอินไชน่า 2025 แต่การ กระทำดังกล่างอาจเป็นเพียงท่าทีเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือ หัวใจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจจีนอย่างจำเป็นเร่งด่วน ท่ามกลางความท้าทายนานัปการที่รายล้อมจีนอยู่ในขณะนี้ นอกจากแผน เมดอินไชน่า 2025 แล้ว การแก้ปัญหาละเมิดไอพีก็ยังไม่ได้เป็นรูปธรรมชัดเจน
ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีจีนกำลังพิจารณาทบทวนกฎหมายการลงทุน ต่างชาติ โดยภายใต้ข้อเสนอการปรับแก้กฎหมาย ได้เพิ่มมาตรการห้ามการบีบบังคับให้เอกชนต่างชาติถ่ายโอนเทคโนโลยีให้หน่วยงานรัฐบาล หรือบริษัทในท้องถิ่น แต่ร่างดังกล่าวกลับไม่ได้ระบุมาตรการลงโทษชัดเจน โดยระบุเพียงแต่ว่าความร่วมมือด้านเทคโนโลยีควรผ่านการตัดสินใจจากทุกฝ่าย และควรเป็นไปอย่าง "สมัครใจ" ซึ่งนิกเกอิระบุว่า ความร่วมมือโดยสมัครใจ ดังกล่าว ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับ "การบีบบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี" อยู่ดี
ล่าสุดนั้น การสู้รบในสมรภูมิเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐ กำลังตั้งเค้าขึ้นในงาน "โมบายล์ เวิลด์ คองเกรส (MWC)" ที่เมืองบาร์เซโลนา ของสเปน งานแสดงสินค้าสมาร์ทโฟนที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งเริ่มเปิดงานอย่างเป็นทางการวานนี้ โดยรัฐบาลสหรัฐคาดว่าจะวิ่งเต้นให้ผู้ให้บริการคมนาคมทั่วโลกหยุดใช้อุปกรณ์ของ หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ บริษัทโทรคมนาคมสัญชาติจีน ในการสร้างเครือข่าย 5จี ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและการสอดแนมของรัฐบาลจีน
การประกาศเลื่อนขึ้นภาษี สินค้าจีนของทรัมป์จึงเป็นเพียงก้าวแรกในการสงบสงครามการค้า หากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถถอนรากปัญหาเศรษฐกิจออกไป ความขัดแย้งก็มีแนวโน้มกลับมาปะทุขึ้นอีกในอนาคต
โดน นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์
Source: Posttoday
เพิ่มเติม
- As the US and China tangle over Beijing's treatment of foreign firms, many companies say there's one area of progress:https://www.cnbc.com/…/amid-us-china-trade-dispute-companie…