หนุนธปท.ออกมาตรการสกัดดีมานด์เทียมแบงก์ขยับเข้มสินเชื่อบ้าน : แบงก์พาณิชย์รวมตัว ถกสมาคมที่อยู่อาศัย หาทางรับมือหนี้เสียสินเชื่อบ้าน หนุนแบงก์ชาติออกมาตรการสกัดดีมานด์เทียม
กรุงศรีฯเผยธนาคารระวังปล่อยกู้มากขึ้น หลังแบงก์ชาติ ส่งสัญญาณรอบใหม่ "ซีไอเอ็มบี" ยันไร้ปัญหาหลังปรับกลยุทธ์จับตลาดลูกค้ารายได้ 3 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไป ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2561 เป็นห่วงสินเชื่อที่อยู่อาศัยแข่งสูงขึ้น ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะออกมาตรการดูแลการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในเร็วๆนี้
นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า การส่งสัญญาณ ของธปท.เพื่อให้แบงก์มีการลดการแข่งขันในสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้น สิ่งเหล่านี้แบงก์มีความเห็นสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากยอมรับว่า การแข่งขันการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันกันจริง ทั้งด้านราคา ดอกเบี้ย รวมไปถึงการลดการคัดกรองลูกค้าที่จะเข้ามาในพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วย ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นในการเกิดเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นในระบบ โดยสัญญาณเหล่านี้ แบงก์พาณิชย์รับรู้มาตลอด ทำให้ ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารที่เป็นสมาชิกในสมาคมที่อยู่อาศัยร่วมกันหารือถึงประเด็นดังกล่าวต่อเนื่อง
การหารือร่วมกันถึงสาเหตุของ ความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่ออสังหาฯ รวมไปถึงการช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันการเข้าไปปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะการร่วมกันหาแนวทางในการสกัดดีมานด์เทียม ที่เป็นตัวทำให้เกิดหนี้เสียในระบบเพิ่มขึ้น และอนาคตอาจมีต่อยอดไปสู่การออกนโยบายออกแนวทาง
แนวปฏิบัติร่วมกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ที่เป็นแนวปฏิบัติกลาง เพื่อนำใช้ในการปล่อยสินเชื่อหรือป้องกันการเกิดหนี้เสีย "เราคุยกันตลอดและคุยกันมานาน 2-3 เดือนแล้ว หลังจากธปท.เริ่มห่วง สินเชื่อที่อยู่อาศัยว่ามีอะไรบ้างที่แบงก์เห็น และเป็นสัญญาณอันตราย เหล่านี้ก็เพื่อมาแชร์ร่วมกันให้แบงก์อื่นๆเอาสิ่งต่างๆไปใช้ระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่มีศักยภาพและกลุ่มที่มาจากดีมานด์เทียม"
อย่างไรก็ตามแม้ธนาคารพาณิชย์จะมีการเฝ้าระวังการปล่อยสินเชื่อ และ คัดกรองลูกค้ามากขึ้น แต่ธนาคารต่างๆยังต้องการคนกลาง หรือนโยบายกลาง เพื่อให้แบงก์นำแนวทางดังกล่าวไปปฏิบัติ เหมือนอดีตที่ผ่านมาที่ธปท.ออกมาตรการกำกับดูแล (Macro-Prudential) คือการออกมาคุมสัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าต่อหลักประกัน(LTV) เป็นต้น
"วันนี้แบงก์เฝ้าระวัง และกังวล ในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้แบงก์ต้องตั้งการ์ดการคัดกรองลูกค้าเข้มขึ้น ถ้ามีมาตรการกลาง แบงก์ก็จะได้คุมถูกจุด ป้องกันระวังได้ง่าย ดีกว่าเฝ้าระวังไปเอง ทุกด้านแบบทุกวันนี้"
อย่างไรก็ตาม สาเหตุหนึ่งที่เป็นตัวทำให้เกิดหนี้เสียในระบบคือการออกมาเชิญชวนในโซเชียล การจัดสัมมนาของผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ต่างๆที่มีการการันตีกับลูกค้า ว่าหากซื้อบ้านและเปิดให้เช่าแล้วจะได้ผลตอบแทนสูงเหล่านี้คือการสร้างดีมานด์เทียม
นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า การป้องกันของธนาคาร ในการเข้าไปปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อลดโอกาสการเกิดหนี้เสีย คือการคัดกรองกลุ่มลูกค้า โดยเน้นกลุ่มที่มีรายได้เกิน 30,000 บาทขึ้นไปเท่านั้น สัดส่วนเพิ่มเป็น 90% ทำให้เอ็นพีแอลลดลงต่อเนื่องโดยอยู่เพียงระดับ 3% และเชื่อว่าสิ้นปีมีโอกาสต่ำกว่า 3%
Source: กรุงเทพธุรกิจ
ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้