กาแฟไทยฮิต ขึ้นเบอร์หนึ่ง ตลาดกัมพูชา: 10 แบรนด์ดังร้านกาแฟไทยระเบิดศึกแบรนด์ข้ามชาติ-โลคัลแบรนด์ในกัมพูชา
รุกขยายแฟรนไชส์-ขายวัตถุดิบ ชิงตลาดคนรุ่นใหม่-นักท่องเที่ยว ชี้ไทยแถวหน้าครองส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชา 45% เตือนศึกษาตลาด-คู่แข่งขันไม่ดีพอมีสิทธิ์เดี้ยง
จากคนรุ่นใหม่ในกัมพูชานิยมดื่มกาแฟมากขึ้นตามกระแสนิยมเช่นเดียวกับในเมืองไทย รวมถึงลูกค้านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้าไปในกัมพูชาเพิ่มมากขึ้นในทุกปี ขณะที่ลูกค้าอีกกลุ่มใหญ่คือคนวัยทำงานในพื้นที่และชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในกัมพูชาก็นิยมดื่มกาแฟมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจร้านกาแฟแบรนด์ดังจากต่างประเทศรวมถึงจากประเทศไทยได้หลั่งไหลเข้าไปขยายธุรกิจกันอย่างคึกคักนายสุชาติ ระมาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก บริษัท ปตท.น้ำมันและค้าปลีก จำกัด(มหาชน) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทอยู่ระหว่างขยายสาขาร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน (Caf'e Amazon)อย่างต่อเนื่องในกัมพูชาหลังจากเพิ่งฉลองครบ 100 สาขาไปเมื่อเร็วๆ นี้(ปัจจุบันมี 104 สาขา) โดยสัดส่วน 80% เป็นแฟรนไชส์ ทั้งนี้คาเฟ่ อเมซอนเป็นแบรนด์ของคนไทยที่ไปต่อสู้กับต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการขยายสาขาทั้งในกัมพูชา สปป.ลาว ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย
สำหรับการทำตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านนั้นถือว่ามีความได้เปรียบ เพราะเพื่อนบ้านมีความคุ้นเคยกับแบรนด์ไทยอยู่แล้ว และมีความชื่นชอบด้านรสชาติที่คล้ายคลึงกัน โดยบริษัทวางเป้าหมายช่วง 5-10 ปีนับจากนี้จะปั้นร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอนสู่ความเป็นโกลบัลแบรนด์(แบรนด์ระดับโลก) เป้าหมาย 2 หมื่นแห่งทั่วโลก หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนร้านกาแฟแบรนด์ดังอย่างสตาร์บัคส์ที่ปัจจุบันมีประมาณ 2 หมื่นแห่งทั่วโลก จากปัจจุบันคาเฟ่ อเมซอนมีสาขาทั้งในและต่างประเทศ 2,300-2,400 สาขา"
ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท บางจากรีเทล จำกัด เผยว่า มูลค่าตลาดธุรกิจกาแฟยังไม่ชัดเจน ในส่วนของบริษัทได้ร่วมกับหุ้นส่วนคือบริษัทอาร์ซีจี รีเทล(กัมพูชา)ในการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ร้านกาแฟอินทนิล(Inthanin) ในกัมพูชา เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้เปิดร้านต้นแบบไปแล้ว 2 แห่งที่กรุงพนมเปญ และเสียมเรียบล่าสุด (1 ต.ค.61)ได้เปิดสาขาที่ 3 ที่กรุงพนมเปญ โดยเป้าหมายในปีนี้จะพัฒนาและเปิดร้านต้นแบบให้ได้ 5 สาขา และเป้าหมาย 5 ปีนับจากนี้จะขยายให้ได้ 50 สาขา
"รูปแบบร้านกาแฟอินทนิลในกัมพูชาจะมีขายอาหารเป็นส่วนประกอบ ช่วงนี้เราอยู่ระหว่างพัฒนาร้านต้นแบบเพื่อให้เหมาะสมกับรสนิยมของชาวกัมพูชา เบื้องต้นจะเน้นที่พนมเปญและที่เสียมเรียบเป็นหลัก เพราะเป็นตลาดกำลังซื้อสูง และคนนิยมดื่มกาแฟจำนวนมาก"
จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์ไทย) ณ กรุงพนมเปญ ระบุ ร้านกาแฟในกัมพูชากำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยนักลงทุนหลายรายลงทุนซื้อธุรกิจแฟรนไชส์จากต่างประเทศ หรือสร้างแบรนด์ร้านกาแฟตัวเองขึ้นมาใหม่ส่งผลให้จำนวนร้าน กาแฟในกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีร้านกาแฟทั่วกัมพูชาประมาณ 500 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ในกรุงพนมเปญมากกว่า 300 แห่ง
สำหรับร้านกาแฟของไทยนั้นได้รับความนิยมในกัมพูชาไม่แพ้ร้านกาแฟสัญชาติอื่น ปัจจุบันมีร้านกาแฟไทยไปดำเนินธุรกิจในกัมพูชาแล้วกว่า 10 แบรนด์ อาทิ Amazon, Coffee Today, Inthanin, ชาพะยอม, Arabitia, ชาตรามือเป็นต้น (ดูกราฟิกประกอบ) โดยแต่ละแบรนด์มีกลยุทธ์ในการทำตลาดที่ต่างกันออกไป เช่นการขายแฟรนไชส์เต็มรูปแบบ หรือขายวัตถุดิบ เป็นต้น
พนมเปญ โพสต์ รายงานว่า ปัจจุบันร้านกาแฟแบรนด์ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้านกาแฟในกัมพูชาเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 45% ของจำนวนร้านกาแฟทั้งหมดในกัมพูชา ส่วนแบรนด์ร้านกาแฟข้ามชาติในกัมพูชา Amazon ยังคงเป็นที่นิยมมากที่สุด ขยายสาขาได้แล้ว 104 สาขา โดยตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ 12 สาขา (ข้อมูล ณ ส.ค.61)และภายใน 5 ปี มีแผนจะขยายเพิ่มอีก 20 สาขา ขณะที่ Costa Coffee ร้านกาแฟสัญชาติอังกฤษได้ขยายสาขาอย่างรวดเร็วเป็น 7 สาขาในกรุงพนมเปญในปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากจำนวนคู่แข่งธุรกิจร้านกาแฟที่เพิ่มขึ้น และศึกษาด้านการตลาดในกัมพูชาที่ยังไม่ดีพอ จึงปรับลดเหลือเพียง4 สาขาในปัจุบัน
เว็บไซต์คัมโบพีเดียดอตคอม (www.cambopedia.com) รายงานว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ได้มีการจัดการประชุมด้านกาแฟและเบเกอรี่ระดับนานาชาติครั้งแรกขึ้นที่กัมพูชา ภายใต้ชื่องาน "คาเฟ่ คัมโบเดีย" มีบริษัทนานาชาติเข้าร่วมงานมากกว่า 75 บริษัท จาก 18 ประเทศ สะท้อนการเติบโตของธุรกิจร้านกาแฟที่ขยายตัวตามการเติบโตของชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ รวมทั้งคนหนุ่มสาวที่เป็นกำลังขับเคลื่อนอุปสงค์ภายในประเทศของกัมพูชา
Source: ฐานเศรษฐกิจ
—————————————— ———————————————
ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้