หวั่นศึกจีน-สหรัฐลาม จ่อเฟส 2 สงครามค่าเงิน: หลังจากที่รอดพ้นจากการถูกขึ้นบัญชีดำประเทศปั่นค่าเงินมาแล้ว 3 ครั้ง นับตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อต้นปี 2017
ล่าสุด "จีน" กำลังต้องมาลุ้นอีกครั้งว่าจะติดโผดังกล่าวหรือไม่ เมื่อกระทรวงการคลังสหรัฐกำลังจะเปิดเผยรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้ารายใหญ่กับสหรัฐในสัปดาห์หน้า
ที่ผ่านมา ทรัมป์ขู่จะขึ้นบัญชีดำประเทศปั่นค่าเงินกับจีนมาตลอดตั้งแต่ช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยซ้ำ แต่จนแล้วจนรอดจีนก็ไม่เคยถูกลงดาบสักครั้ง และที่จริงแล้วตลอด 24 ปีมานี้ สหรัฐก็ไม่เคยขึ้นบัญชีดำกับใครเลยแม้แต่รายเดียว นับตั้งแต่ครั้งล่าสุดที่ลงโทษจีนไปเมื่อปี 1994
ทว่าในครั้งนี้ทุกฝ่ายต้องลุ้นระทึกกันอีกครั้ง เมื่อสหรัฐส่งสัญญาณเตือนมาเป็นระลอกๆ ว่า กังวลกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีน ที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงหนักในระยะหลังมานี้ อีกทั้งสถานการณ์ที่สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอีกในปีนี้ แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะประกาศใช้มาตรการกำแพงภาษีระหว่างกันไปแล้วถึงแสนล้านดอลลาร์สหรัฐก็ตาม
การจะถูกขึ้นบัญชีดำนั้นต้องเข้าข่ายครบเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ คือ 1.มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า 3% 2.เกินดุลการค้ากับสหรัฐเป็นจำนวนมาก หรือเกิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์/ปี และ 3.แทรกแซงค่าเงินฝ่ายเดียวเกินกว่า 2% ของจีดีพี
ที่จริงแล้วสถานการณ์ของหลายประเทศที่เคยสุ่มเสี่ยง ทั้งที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเฝ้าจับตามอง (Monitoring List) เพราะเข้าเงื่อน 2 ใน 3 ข้อ และทั้งที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์ เริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 แล้ว เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาก ทำให้ค่าเงินของประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่อ่อนค่าลงโดยปริยาย โดยที่ธนาคารกลางไม่จำเป็นต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินกันอย่างหนักหน่วงเหมือนเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของ จีนนั้นกลับต่างออกไป และยังสุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองว่าจงใจอ่อนค่าเงินหยวน ได้อยู่
จากข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนของรอยเตอร์ส ระบุว่า ตลอดทั้งปี 2018 ค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่าไปแล้วประมาณ 5.89% หรืออ่อนค่าลงมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย (ไม่รวมประเทศที่เผชิญวิกฤตค่าเงิน) และหากนับเฉพาะ 6 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าอ่อนค่าไปแล้วกว่า 9% เมื่อเทียบกับ
ดอลลาร์ แต่การอ่อนค่าลงของหยวนนั้นไม่ได้เป็นปัจจัยจากดอลลาร์เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นเพราะจีนยัง ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี ควบคู่ไปด้วย
ศึกพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนนั้นเริ่มส่งสัญญาณไม่ดีมาตั้งแต่ต้นปี กับภาษีเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์เซลล์ และทวีความคุกรุ่นมาอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น ส่งผลให้ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ประกาศลดอัตราส่วนการกันสำรองความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ในเดือน เม.ย. และตามมาอีกในเดือน มิ.ย. กับ ต.ค. ซึ่งหากรวมกับที่มีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค. (ผลต่อเนื่องจากที่ประกาศไว้ในปีที่แล้ว) ก็จะเท่ากับว่าจีนลด RRR ไปถึง 4 ครั้งแล้วในปีนี้
นอกจากลดการกันสำรองของแบงก์พาณิชย์แล้ว แบงก์ชาติจีนเองก็ยังอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบผ่านกลไกกู้ยืมระยะสั้นและระยะกลางมาอย่างต่อเนื่องหลายครั้งด้วย ส่งผลให้มีซัพพลายเงินหยวนปริมาณมากถูกอัดเข้าระบบในแต่ละครั้ง และกดดันให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงไปอีกโดยปริยายด้วย
กรณีครั้งล่าสุดก็คือเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพีบีโอซีลด RRR อีก 1% ส่งผลให้มีสภาพคล่องเพิ่มโดยอัตโนมัติ 7.5 แสนล้านหยวน และพีบีโอซียังอัดฉีดเพิ่มอีก 4.5 แสนล้านหยวน ผ่านกลไกกู้ยืมระยะกลาง (MLF) ส่งผลให้มีการเพิ่มสภาพคล่องในระบบรวมกันประมาณ 1.2 ล้าน ล้านหยวน
และเมื่อยิ่งรวมกับความกังวลว่าจีนจะต้องกระตุ้นเพิ่ม/อ่อนค่าเงินเพิ่ม เพื่อรับมือกับสงครามการค้า ก็ยิ่งทำให้มีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดบอนด์เพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะผ่านตลาดฮ่องกง จนกดดันค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลงถึง 0.78% มาอยู่ที่ 6.926 หยวน/ดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างการซื้อขายเมื่อวันที่ 8 ต.ค. โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 เดือน ที่หยวนร่วงต่ำกว่า 6.9 หยวน/ดอลลาร์
จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีสัญญาณเตือนมาจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงการคลังสหรัฐ ระหว่างร่วมการประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่บาหลีในสัปดาห์นี้ว่า สหรัฐยังคงกังวลกับสถานการณ์ค่าเงิน
หยวนที่อ่อนค่าลงเมื่อเร็วๆ นี้ โดยกลัวว่าจีนจะยิ่งห่างไกลออกไปจากนโยบายระบบตลาดเสรี และหันไปใช้กลไกนอกตลาดแทน ซึ่งสหรัฐเองจะยังคงเฝ้าจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
นอกจากเรื่องค่าเงินแล้ว ในอีกฟากเรื่องปริมาณการค้านั้นยังพบด้วยว่า ปัญหาการเกินดุลการค้าของจีนยังขยายวงมากขึ้น แม้ทั้งสองฝ่ายจะตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้ว 1 แสนล้านดอลลาร์ก็ตาม โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ จีนเกินดุลการค้ากับสหรัฐเพิ่มขึ้น เป็นเกือบ 15%
สถานการณ์เช่นนี้จึงอาจยิ่งกระตุ้นให้สหรัฐอาจหันมาขึ้นบัญชีดำกับจีนได้ โดยเฉพาะเมื่อการเลือกตั้งกลางเทอมกำลังใกล้เข้ามาในเดือนหน้า และสหรัฐอาจมองว่าเป็นการถือไพ่เหนือกว่า เพราะการขึ้นบัญชีดำปั่นค่าเงินนั้นไม่จำเป็นต้องเริ่มดำเนินบทลงโทษทางการค้าตามมาทันที แต่ยังมีเวลาให้เจรจาต่อรองกันได้ถึง 12 เดือน แม้ว่าที่สุดแล้ว การขึ้นบัญชีดำอาจยิ่งฉุดให้สถานการณ์เลวร้ายลง และอาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากันตึงเครียดมากกว่า เดิมก็ตาม
โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ
Source: Posttoday
—————————————— ———————————————
ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้