ส่งออกปีหน้าระทม สงครามการค้ายืดเยื้อ : รัฐบาลประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าจะอยู่นานไม่จบง่ายๆ อาจลากยาวถึง 3 ปี
ซึ่งจะมีผลกระทบในวงกว้าง เตรียมประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยครั้งใหม่อาจไม่สดใสตามที่คิดไว้เดิมว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ปี 2562 จะสดใส ลุ้นขยายตัวได้ 5% เป็นประวัติการณ์คงเป็นเรื่องยาก หากสงครามการค้ายืดเยื้อ
เช่นเดียวกับเป้าหมายการส่งออกในปี 2562 ที่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประเมินเบื้องต้นว่าจะเติบโตประมาณ 5% ซึ่งขยายตัวชะลอลงกว่าปี 2561 ที่คาดว่าเติบโตประมาณ 9%
ด้าน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ สั่งให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเรียกผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ 56 สำนักงานทั่วโลก เดินทางกลับมาไทยประชุมที่ไทย ซึ่งจะมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นประธานในวันที่ 18 ต.ค.นี้ เพื่อมาประเมินการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2561 และแนวโน้มการส่งออกของปี 2562
โดยจะนำปัจจัยทั้งหมด ได้แก่ ผลกระทบจากสงครามการค้า มาตรการกีดกันทางการค้า แนวโน้มราคาน้ำมัน และแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยน มาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแผนผลักดันการส่งออกปีหน้า แม้จะประเมินแล้วว่าการผลักดันให้การส่งออกให้เติบโตเหมือนปีนี้ คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ต้องมีแผนทำงานและทำให้ดีที่สุด
ล่าสุด สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งปรับแผนรับมือสงครามการค้ามีผลต่อเศรษฐกิจโลกปี 2562 เตรียมหาทางดันจีดีพีโตต่อโดยที่ไม่หวังพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก กลับมาใช้ยุทธศาสตร์การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายใน ซึ่งเชื่อว่าในปีหน้ารัฐบาลยังต้องเร่งการลงทุนภาครัฐ และการใช้นโยบายกึ่งการคลัง ในการ กระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยลดข้อจำกัดในการใช้งบประมาณแผ่นดิน
สอดรับกับรายงานภาพรวมเศรษฐกิจโลกประจำไตรมาส 4 ของปี 2561 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ประเมินว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2561-2562 ทั้งสองปีให้อยู่ที่ 3.7% ลดลงจากที่เคยประเมินไว้ที่ 3.9% ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังคาดว่า ในปี 2562 เศรษฐกิจจีนจะเติบโต 6.2% ลดลงจาก 6.4% ที่เคย
คาดไว้ครั้งก่อน เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการตั้งกำแพงภาษี และมีความเป็นไปได้ว่าจีดีพีอาจต่ำกว่า 5% หากสงครามการค้ายังมีการตอบโต้ที่รุนแรงกว่าเดิม ผลกระทบจากสงครามการค้าไม่ได้เกิดแค่กับจีน แต่กับสหรัฐเอง ทางไอเอ็มเอฟยังคาดการณ์ว่าจีดีพีจะลดลงจาก 2.9% ในปี 2561 เหลือ 2.5% ในปี 2562 และ 1.8% ในปี 2563 นอกจากนี้ ยังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้ง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ลงหมด เนื่องจากหลายปัจจัยเรื่องค่าเงินที่อ่อนตัว เงินเฟ้อ และภัยธรรมชาติ ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.6% เพิ่มขึ้นจาก 3.9% ในปีก่อน แต่ในปี 2562 จะโตลดลงเหลือ 3.9% เท่ากับปี 2560
เมื่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกหดตัวลงทุกภาคส่วน ย่อมต้องกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในปีหน้า และคงเป็นโจทย์ใหม่ที่รัฐบาลต้องรับมือ จากเดิมที่เชื่อมั่นว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างแกร่ง เพราะรัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อัดเงินเข้าระบบ และเตรียมการเรื่องการเลือกตั้งใหม่เรียกความเชื่อมั่นให้นักลงทุนกลับคืนมาแล้ว
แต่สงครามการค้าที่คาดว่าจะ ไม่จบง่ายๆ และน่าจะขยายวงกว้าง และยังเป็นปัจจัยเสี่ยง เนื่องจาก ไม่สามารถคาดเดามาตรการตอบโต้ระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งเป็น 2 ประเทศมหาอำนาจ ว่าจะออกมาในรูปแบบใดได้
แม้จะมีการมองว่าสงครามการค้ามีทั้งด้านดีและไม่ดีที่ยังต้องจับตา ในด้านดีอาจจะมองว่าการปรับขึ้นภาษีในรายการสินค้าที่ส่งผลดีต่อสินค้าไทย ทำให้สามารถส่งออกไปแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐ เช่น สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป อีกทั้งไทยได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิต นักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
แต่ในมุมกลับกันด้านที่ไม่ดี ผลจากสงครามการค้า ทำให้เศรษฐกิจทั้งจีน สหรัฐชะลอตัว ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกก็ชะลอตัว ประเทศคู่ค้าของไทยต่างได้รับ ผลกระทบไม่มากก็น้อย ย่อมส่งผล ต่อกำลังซื้อของประชาชนในประเทศนั้นๆ ได้
กลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปในตลาดสหรัฐและจีน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องเตรียมหาตลาดส่งออกไปตลาดใหม่ๆ เพื่อชดเชยหากสหรัฐไม่ผ่อนปรนให้จีน และสงครามการค้าที่คาดว่าจะยังยืดเยื้อยาวนานไปอีก 2-3 ปี
นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณเกี่ยวกับการส่งออกที่น่าสนใจเมื่อธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ออกมาระบุว่า เริ่มเห็นอัตราการผิดนัดชำระหนี้ของ ผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว อย่าง สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้า อัญมณีและเครื่องประดับ
กระเบื้องโมเสกและเหล็ก ซึ่ง เอ็กซิมแบงก์มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนรวม 8 ราย เป็นเงิน 66.4 ล้านบาท สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า และผู้ซื้อล้มละลาย
แม้วงเงินค่าสินไหมที่จ่ายไปจะไม่มากแต่เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า การทำการค้ากับประเทศที่เจริญแล้วใช่ว่าจะปลอดภัย การเข้าสู่การค้ายุคใหม่ใครที่ปรับตัวไม่ได้ ก็ย่อมต้องตกขบวนไป และความเสี่ยงมีอยู่ทุกที่ไม่ใช่แค่ที่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า หรือประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ แต่ความเสี่ยงทางการค้ายุคใหม่ เกิดขึ้นได้ทุกที่นับจากนี้
ยิ่งมีปัจจัยจากราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ราคาต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานกำลังติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด และต้องตัดสินใจเรื่องการรักษาเสถียรภาพราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ว่าจะทำได้ต่อไปหรือไม่ อย่างไร
ขณะเดียวกัน ภาวะอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ที่เกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น สงครามการค้าสหรัฐและจีน และความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนต่อไป
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ส่งออกไทยจะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในปีหน้า ดังนั้น ผู้ส่งออกควรหาทางป้องกันความเสี่ยงด้วยตัวเอง ด้วยการซื้อประกันการส่งออกที่เหมาะสมกับการค้า ขณะที่แผนการผลักดันการส่งออกในปีหน้า รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์จะต้องหาตลาดส่งออกใหม่ และสร้างนักรบส่งออกที่เข้มแข็ง ผลักดันผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ผู้ประกอบการท้องถิ่น เกษตรกรรุ่นใหม่ การผลักดันการค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ อาจจะมีกำลังไม่พอที่จะดันตัวเลขการส่งออกในปีหน้าให้โตได้มากกว่าเดิม จึงถือเป็นงานยากทั้งของตัวผู้ส่งออกและรัฐบาล ที่ต้องรับมือสารพัดปัจจัยที่มารุมเร้าการส่งออกไทยในปี 2562 ที่กำลังจะมาถึงนี้
โดย กนกวรรณ บุญประเสริฐ
Source: Posttoday
—————————————— ———————————————
ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้