1 ปีสงครามการค้า: Make America Great Again จริงหรือ?ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 นายโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศชัดเจนว่าต้องการ Make America Great Again

ผ่านนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่มีลักษณะปกป้องการค้ามากขึ้น โดยกล่าวอ้างว่าช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา นโยบายการค้าเสรีได้ทำลายภาคอุตสาหกรรมและการจ้างงานภายในประเทศ รวมทั้งทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าในระดับสูง และในโอกาสใกล้ครบรอบ 1 ปีของสงครามการค้า บทความนี้อยากประเมินดูว่านโยบายของทรัมป์จะช่วย Make America Great Again ได้ตามที่หวังไว้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านมุมมองด้านการค้าและการลงทุน แม้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะประเมินว่าผลกระทบทางตรงจะมีไม่มากนัก แต่ผลข้างเคียง (Spillover Effect) ที่เกิดขึ้นอาจมีนัยต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะถัดไปได้

สงครามการค้าเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการหลังสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการ Safeguards กับเครื่องซักผ้าและโซลาร์เซลล์ในเดือน ม.ค. และต่อมาในเดือน มี.ค. สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้ากับเหล็กและอลูมิเนียมภายใต้มาตรา 232 ที่อ้างเรื่องความมั่นคงของประเทศ โดยมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศ ซึ่งหลังจากที่มาตรการทั้ง 2 ถูกนำมาใช้ หลายประเทศเริ่มเข้ามาเจรจากับสหรัฐฯ และได้รับการยกเว้นการเก็บภาษี แต่จีนที่เป็นเป้าหมายหลักของสหรัฐฯ ยังไม่มีทีท่าที่จะรอมชอมอย่างที่คาดหวังไว้ ทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเข้มข้นขึ้น และแม้สงครามดังกล่าวถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการจัดการกับปัญหาการขาดดุลการค้าที่อยู่ในระดับสูง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกมการค้าของสหรัฐฯ ในครั้งนี้อาจมีนัยเพื่อยับยั้งจีนจากการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศให้เป็น High-tech Industries ตามแผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ซึ่งอาจทำให้บริษัทของชาติตะวันตกที่เป็นผู้เล่นหลักในปัจจุบันเสียประโยชน์ ความขัดแย้งด้านการค้าระหว่าง 2 ประเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้ในเดือน มี.ค. สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 50 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งจีนตอบโต้กลับด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในมูลค่าใกล้เคียงกันและบังคับใช้ในเดือน ก.ค.-ส.ค. เช่นเดียวกัน การกระทำของจีน ทำให้สหรัฐฯ ที่มีไพ่เหนือกว่า เพราะการนำเข้าจากจีนสูงกว่าการส่งออกของสหรัฐฯ ไปจีน รุกเกมหนักขึ้นด้วยการประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าอีก 200 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในเดือน มิ.ย. ซึ่งจีนโต้กลับด้วยการเก็บภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่าอีก 60 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และล่าสุดมีกระแสข่าวว่าสหรัฐฯ จะพิจารณาจัดเก็บภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีนอีก 267 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

ถามว่า...สงครามการค้า Make America Great Again จริงหรือ? สงครามการค้าในช่วงที่ผ่านมายังไม่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าลดลงและการขาดดุลกับจีนยังไม่ปรับดีขึ้น แม้การนำเข้าเครื่องซักผ้าและโซลาร์เซลล์หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มี.ค. แต่สัดส่วนการนำเข้าสินค้าใน 2 หมวดนี้คิดเป็นเพียง 0.5% ของการนำเข้ารวม ทำให้ผลต่อการนำเข้าโดยรวมมีน้อย และการผลิตภายในประเทศที่ไม่เพียงพอ ทำให้การนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมยังไม่เห็นการปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าจากจีนที่เข้าข่ายการขึ้นภาษี อาทิ เครื่องจักรและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงขยายตัวแม้มีทิศทางปรับลดลงในช่วงหลัง

สำหรับการส่งออกสินค้าไปจีน ถั่วเหลืองที่มีสัดส่วนสูงในกลุ่มสินค้าที่โดนจีนเก็บภาษีในขนาดเท่ากันนั้น มีแนวโน้มปรับลดลง แต่ก็เห็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการกระจายและหาตลาดใหม่ ซึ่งในระยะสั้นอาจยังไม่สามารถชดเชยความต้องการจากจีนที่เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ได้ทั้งหมด ทำให้การส่งออกสินค้าโดยรวมยังมีทิศทางชะลอลงและการแก้ไขปัญหาดุลการค้าต้องอาศัยเวลา

ในด้านการลงทุน บางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า อาทิ ธุรกิจเหล็กและอลูมิเนียม มีแผนลงทุนเปิดโรงงานใหม่ในสหรัฐฯ และบางส่วนเพิ่มการผลิตภายในประเทศ แต่หากมองไปข้างหน้า ภาคธุรกิจอาจต้องชั่งน้ำหนักระหว่างแรงจูงใจในการลงทุนที่เกิดจากการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ (Deregulation) รวมทั้งการลดภาษีนิติบุคคลในช่วงก่อนหน้าและความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ซึ่งสะท้อนจากความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินและรายงานภาวะเศรษฐกิจรายภูมิภาคของ Fed ฉบับเดือน ก.ย. ที่ระบุว่าธุรกิจในบางภูมิภาคมีการชะลอหรือเลื่อนการลงทุนออกไปบ้างแล้วจากความกังวลในเรื่องดังกล่าว

ต้นทุนและเงินเฟ้อ...ของแถมที่ไม่ต้องการ

ต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่สูงขึ้นนับเป็นของแถมจากสงครามการค้า ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเร็วและมีธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นกว่าในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี การส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจมายังอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมายังมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจาก

(1) กำไรของภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงช่วยให้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่จำเป็นต้องผลักภาระไปยังผู้บริโภค

(2) สินค้าที่ถูกเก็บภาษีส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลาง ซึ่งไม่กระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง และแม้สินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ เครื่องซักผ้า ที่ถูกเก็บภาษีและราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก แต่น้ำหนักในตะกร้าเงินเฟ้อมีน้อย และ

(3) ต้นทุนของภาคธุรกิจในภาพรวมยังไม่เร่งตัวแรงสะท้อนจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เฉลี่ยในช่วง ม.ค. - ก.ย. ที่ปรับเพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งไม่ต่างจากการปรับเพิ่มขึ้นในปี 2017 มากนัก อย่างไรก็ดี PPI ของเหล็กและอลูมิเนียมปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13% และ 10% ในช่วงเดือนเม.ย. - ก.ย. ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบเหล่านี้บ้าง อาทิ บริษัทน้ำอัดลมรายหนึ่งของสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นราคาสินค้าหลังต้นทุนการนำเข้าอลูมิเนียมที่นำมาผลิตกระป๋องปรับเพิ่มขึ้น และมองไปข้างหน้า หากกำไรภาคธุรกิจร่อยหรอลงและมาตรการภาษีครอบคลุมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้นก็อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะถัดไปได้

โดยสรุป 1 ปีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังไม่เห็นสัญญาณที่จะ Make America Great Again อย่างชัดเจน ซ้ำทรัมป์อาจต้องฟังเสียงของพรรคเดโมแครตที่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรกลับคืนมาในการเลือกตั้งกลางปีที่ผ่านมามากขึ้น อย่างไรก็ดี จากท่าทีของ 2 ประเทศที่คาดว่าจะยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ในเร็ววันนี้ ทำให้สงครามครั้งนี้คงเป็นละครเรื่องยาว และในฐานะผู้ชมละครเรื่องนี้ เราควรติดตามและเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดต่อไป มองอีกมุมอาจเป็น short-term pain, long-term gain ของสหรัฐฯ ก็เป็นได้

โดย ภัทรภรณ์ หิรัญวงศ์
ธนาคารแห่งประเทศไทย

Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645939


ติดตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้



 

0 Share